รัฐดัน “โคดำลำตะคอง” เนื้อคุณภาพสูง ซอฟต์พาวเวอร์ไทย

กลุ่มผู้เลี้ยงวัวเนื้อเฮ รัฐดัน “โคดำลำตะคอง” เนื้อคุณภาพสูง ซอฟต์พาวเวอร์ไทย เตรียมจัดงาน Thailand Beef Fest 2024 ถ่ายทอดความรู้ให้เกษตรกรทั่วประเทศ 1-4 ก.พ. นี้

หลังจากที่สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ได้เสนอรัฐบาลให้ผลักดันเนื้อวัว “โคดำลำตะคอง” กลายเป็นซอฟต์พาวเวอร์ของไทย โดยเตรียมที่จะร่วมมือกับ อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง (นครราชสีมา) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) จัดงาน Thailand Beef Fest 2024 ขึ้น ในวันที่ 1-4 กุมภาพันธ์ 2567 ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา

ซึ่งภายในงานจะมีกิจกรรมไฮไลต์ ได้แก่ นิทรรศการแสดงพันธุ์วัวไทย เทคโนโลยีการถ่ายทอดพันธุ์โคเนื้อคุณภาพสูง โรงเลี้ยงจำลอง จัดแสดงสายพันธุ์วัว นิทรรศการพันธุ์วัวเนื้อต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา บราซิล โชว์การทำอาหารจากเนื้อวัวเกรดพรีเมี่ยมโดยเชฟมืออาชีพ เป็นต้น

รศ.ดร.วิศิษฐิพร สุขสมบัติ (อาจารย์แป๊ะ) ประธานกลุ่มผู้เลี้ยงโคเนื้อคุณภาพ นครชัยบุรินทร์ และเป็นอดีตนักวิชาการประจำอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (นครราชสีมา) เปิดเผยถึงที่มาของโคดำลำตะคองว่า สำหรับการพัฒนาพันธุกรรม “โคดำลำตะคอง” นั้น ได้มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 60 จนถึงขณะนี้สายพันธุ์เริ่มนิ่งแล้ว แต่การจะพัฒนาโคเนื้อคุณภาพสูงนั้นไม่ใช่แค่การพัฒนาพันธุกรรมเพียงอย่างเดียว ต้องมีการควบคุมโภชนาการ หรืออาหารของโคเนื้อด้วย

สำหรับโคดำลำตะคองไม่ได้มองเพียงเรื่องโปรตีนหรือสารอาหารเท่านั้น แต่ลงลึกไปถึงไขมันที่แทรกอยู่ในเนื้อด้วย ซึ่งไขมันที่แทรกอยู่ในเนื้อโคดำลำตะคอง จะมีกรดไขมันโอเมก้า 9 อยู่จำนวนมาก ประมาณ 50% โดยกรดไขมันโอเมก้า 9 นี้ มีประโยชน์ในการช่วยลดความเสี่ยงเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมทั้งจะให้รสชาติที่อร่อยเพิ่มขึ้นด้วย

Advertisement

ดังนั้น การทำให้ในเนื้อวัวมีกรดไขมันโอเมก้า 9 จำนวนมาก จึงต้องเสริมด้วยอาหารที่มีคุณสมบัติเพิ่มไขมันโอเมก้า 9 ให้วัวได้กินด้วย ซึ่งตนเองได้ร่วมกับอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง (นครราชสีมา) นำผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ที่ได้ทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้ มาต่อยอดพัฒนาผ่านเทคโนโลยีโพรไบโอติกส์ (Prebiotics)

โดยทำสาโทจากข้าวโพด ข้าวหมาก ข้าวเหนียว รวมทั้งใช้จุลินทรีย์สังเคราะห์แสง ช่วยย่อยสลายใยอาหาร เพื่อที่จะได้ประโยชน์จากอาหารให้มากที่สุด เสริมอาหารเข้าไปในอาหารวัวด้วย ซึ่งจะทำให้เนื้อวัวมีรสชาติและกลิ่มหอมกว่าเนื้อวัวทั่วไป

Advertisement

จนปัจจุบันเนื้อ “โคดำลำตะคอง” เป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศ ในเรื่องรสชาติความอร่อย ประกอบกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) และอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง (นครราชสีมา) พยายามที่จะผลักดันให้ “โคดำลำตะคอง” เป็นซอฟต์พาวเวอร์ของไทย

นอกจากนี้ ทางหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา และหอการค้ากลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์ ซึ่งประกอบด้วย 4 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ จะส่งเสริมยกระดับการผลิตเนื้อโคคุณภาพให้กระจายไปทั่วทั้งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพราะที่ผ่านมาเราได้ทำการพัฒนาเนื้อโคคุณภาพในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา มานานแล้ว ตั้งแต่ปี 2560

ซึ่งได้รับผลตอบรับดีมาก จนผลิตเนื้อโคคุณภาพไม่ทันต่อความต้องการของตลาด ดังนั้น ตอนนี้ก็ถึงเวลาแล้วที่จะขยายพื้นที่การผลิตเนื้อโคคุณภาพเพิ่มขึ้นทั่วทั้งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พร้อมกันนี้ก็จะผลักดันไปสู่ระดับประเทศต่อไปในอนาคตด้วย

ด้าน นายอรรควัฒน์ วิริยะขจรเกียรติ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ผู้เลี้ยงโคเนื้อลำตะคอง จังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า ที่มาของ “โคดำลำตะคอง” นั้น เกิดจากแนวคิดที่จะพัฒนาคุณภาพเนื้อวัวที่มีคุณภาพสูง เพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อ โดยเริ่มต้นจากการหยิบเอางานวิจัยของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และการศึกษาเนื้อโคคุณภาพสูงทั่วโลก

ซึ่งพบว่าสายพันธุ์แองกัสและวากิว เป็นเนื้อโคที่มีคุณภาพสูง และมีรสชาติที่ดีที่สุดในโลก จึงได้นำมาพัฒนาต่อยอดผสมกับสายพันธุ์วัวพื้นเมืองโคราชของไทย จนได้โคลูกผสม 3 สายเลือด และให้เนื้อที่มีคุณภาพสูง โดยพัฒนาสายพันธุ์อยู่ใน เอ็น.วี.เค. ฟาร์ม อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งอยู่ใกล้กับเขื่อนลำตะคอง จึงตั้งชื่อว่า “โคดำลำตะคอง” ตามแหล่งที่มา

พอได้เนื้อคุณภาพสูงมาปรากฏว่าตอบโจท์คนชอบรับประทานเนื้อโคมาก คนที่ได้รับประทานเนื้อโคดำลำตะคองต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่ารสชาติหอมอร่อยกว่าเนื้อโคคุณภาพที่เคยรับประทานมาทั่วโลก ซึ่งตอนนี้เราได้พัฒนาสายพันธุ์โคดำลำตะคองมาเป็นเจนเนอเรชั่นที่ 4 แล้ว ทำให้ได้เนื้อที่มีคุณภาพนิ่ง ทั้งลายมันที่สวยงาม ได้กลิ่นและรสชาติเดียวกันหมด

หลังจากพัฒนาจนได้เนื้อโคคุณภาพสูง และเป็นที่ต้องการของตลาดจำนวนมาก ก็ทำให้เราไม่สามารถผลิตเนื้อได้ทันต่อความต้องการของตลาด จึงได้มีการร่วมมือกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีและความรู้ต่างๆ ให้เกษตรกรได้นำไปผลิตเพิ่ม

จนทุกวันนี้มีเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ร่วมทำฟาร์มโคดำลำตะคองแล้ว 8 วิสาหกิจชุมชน มีเกษตรกรเป็นสมาชิกอยู่ในวิสาหกิจชุมชนกว่า 300 ครัวเรือน ซึ่งสามารถช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อได้มาก จากเดิมที่เลี้ยงโคเนื้อทั่วไป จะขายได้กิโลกรัมละ 82-85 บาทไม่เกินนี้

แต่โคดำลำตะคอง จะขายได้ราคาขั้นต่ำไม่น้อยกว่า กิโลกรัมละ 105 บาท ไปจนถึงกิโลกรัมละ 165 บาท เฉลี่ยแล้วชาวบ้านจะมีรายได้เพิ่มขึ้น 28% เลยทีเดียว และที่สำคัญคือผลิตเท่าไหร่ก็ขายได้หมด เพราะตลาดเนื้อโคคุณภาพมีความต้องการสูงมาก

ส่วนกรณีที่รัฐบาลจะส่งเสริม “โคดำลำตะคอง” ให้เป็นซอฟต์พาวเวอร์ของไทยนั้น ตนเองมองว่ามีความเป็นไปได้สูงมาก เพราะว่าตลาดเนื้อโคคุณภาพสูงเป็นที่ต้องการมากในตลาดทั่วโลก เพียงแต่ว่าตอนนี้ปริมาณโคดำลำตะคองยังไม่สามารถผลิตได้ในปริมาณมากเพียงพอที่จะส่งขายไปทั่วโลก เฉพาะที่ผลิตอยู่ทุกวันนี้ขายแค่ในประเทศก็ไม่พอแล้ว เนื่องจากเกษตรกรยังรับรู้ได้ไม่ทั่วถึง

ดังนั้น ถ้าหากได้รับการผลักดันจากรัฐบาลอย่างจริงจัง ก็จะทำให้ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตโคเนื้อคุณภาพสูงป้อนสู่ตลาดโลกได้ไม่ยาก และยังสามารถช่วยลดการขาดดุลการค้าในการนำเข้าเนื้อโคจากต่างประเทศได้ด้วย เพราะปัจจุบันนี้ประเทศไทยขาดดุลการค้าในการนำเข้าเนื้อโคจากต่างประเทศประมาณปีละ 7,000 ล้านบาท

ซึ่งตนเองมั่นใจว่าเนื้อโคดำลำตะคองมีรสชาติอร่อยไม่แพ้เนื้อโคคุณภาพใดๆ ในโลกแน่นอน เพราะมีการพัฒนาสายพันธุ์และการเลี้ยงอย่างเป็นระบบทุกขั้นตอน ประกอบกับความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ของไทย ที่เหมาะกับการเลี้ยงโคเนื้อคุณภาพสูง จะเป็นต้นทุนในการเป็นแหล่งผลิตโคเนื้อคุณภาพสูงระดับโลกได้ ซึ่งตอนนี้เรายังไม่ได้จดสิทธิบัตรแต่ได้จดเครื่องหมายการค้าและจดทะเบียน GI ไว้แล้ว โดยในอนาคตก็จะจดสิทธิบัตรไว้แน่นอน

ขณะเดียวกัน กรณีที่รัฐบาลจะเข้ามาส่งเสริม “โคดำลำตะคอง” เพื่อให้ไปถึงจุดการเป็นซอฟต์พาวเวอร์ได้นั้น สิ่งที่อยากให้เข้ามาช่วยเหลือก็คือ การส่งเสริมให้เกษตรกรเข้าถึงองค์ความรู้ต่างๆ เพิ่มมากขึ้น

หลังจากนั้นก็ช่วยเหลือเรื่องกองทุนให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อ รวมถึงกองทุน FTA ด้วย ซื้อปัจจุบันนี้เกษตรกรเข้าถึงกองทุนเหล่านี้ได้น้อยมาก เพราะกองทุนเหล่านี้เป็นเรื่องจำเป็นสำหรับเกษตรกร ถ้าจะให้เกษตรกรใช้เงินทุนส่วนตัวมาทำฟาร์มโคเนื้อคุณภาพสูง เกษตรกรไม่มีทุนแน่นอน เพราะเกษตรกรส่วนใหญ่เป็นผู้มีเงินทุนน้อย