“ท่องเที่ยว” ระดมตัวช่วย ตอบโจทย์…กระจายรายได้สู่เมืองรอง

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. ได้จัดประชุมร่วมกับภาคเอกชนท่องเที่ยว เพื่อหามาตรการรวมถึงแนวทางกระตุ้นการใช้จ่ายด้านท่องเที่ยวสู่เมืองรองและเมืองเล็กมากขึ้น

โดย “ยุทธศักดิ์ สุภสร” ผู้ว่าการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) บอกว่า ได้เตรียมจัดทำโครงการ “เที่ยวทั่วไทย ไปถึงถิ่น” เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายในท้องถิ่นผ่านการเดินทางท่องเที่ยว โดยกลุ่มเป้าหมายจะครอบคลุมทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างประเทศ ตลอดช่วงไตรมาสที่ 4 นี้
โดยกำหนดแนวทางการทำงานไว้ 2 เรื่องหลัก เรื่องแรกคือ “มาตรการทางภาษี” โดยหมวดค่าใช้จ่ายที่เสนอให้ นำมาลดหย่อนได้ ซึ่งกำหนดโซนการเดินทางท่องเที่ยวเป็น 3 โซนหลัก สำหรับการนำมาลดหย่อนภาษีแบบขั้นบันไดแบ่งเป็น 1. การเดินทางท่องเที่ยวในโซน 1 เมืองท่องเที่ยวหลัก 14 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ นครราชสีมา กาญจนบุรี ชลบุรี เชียงใหม่ ระยอง เพชรบุรี พระนครศรีอยุธยา ขอนแก่น สงขลา ประจวบคีรีขันธ์ สระบุรี ภูเก็ต และนครปฐม กลุ่มนี้ลดหย่อนภาษีได้ 15,000 บาท

2. การเดินทางท่องเที่ยวในโซน 2 คือ 12 เมืองต้องห้ามพลาด จำนวน 12 จังหวัด ได้แก่ ลำปาง น่าน เพชรบูรณ์ เลย บุรีรัมย์ จันทบุรี ตราด สมุทรสงคราม ราชบุรี ชุมพร นครศรีธรรมราช และตรัง ลดหย่อนภาษีได้ 30,000 บาท

และ 3. การเดินทางท่องเที่ยวในโซน 3 จังหวัดท่องเที่ยวรองอื่นๆ จำนวน 51 จังหวัด ลดหย่อนภาษีได้ 50,000 บาท

นอกเหนือจากภาคประชาชนที่จะเดินทางท่องเที่ยวแล้ว ททท.มองว่าต้องเข้าไปดูในส่วนของภาคเอกชนท่องเที่ยวด้วย เช่น หากบริษัทนำเที่ยวนำนักท่องเที่ยวเดินทางไปยังเมืองรอง อาจจะให้อินเซนทีฟแก่บริษัทนำเที่ยวด้วย เป็นต้น

เรื่องที่สอง “มาตรการด้านการตลาด” จะมีการจัดโปรโมชั่นแพ็กเกจท่องเที่ยวร่วมกับสายการบิน บริษัทขนส่งในพื้นที่ พร้อมเข้าหารือกับกรมท่าอากาศยาน เพื่อขอความร่วมมือให้ส่วนลดแลนดิ้งฟี แก่สายการบิน เพื่อเปิดเส้นทางบินเข้าเมืองท่องเที่ยวในโซน 2 และ 3 รวมทั้งเตรียมเสนอกรมการขนส่งทางบกในการนำมาตรการผ่อนผัน กฎระเบียบ ข้อกำหนด เพื่อนำรถข้ามแดนเพื่อเดินทางท่องเที่ยว ตามข้อเสนอของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

นอกจากนี้ ยังเตรียมเสนอแนวทางการลดต้นทุนของผู้ประกอบการที่ให้การสนับสนุนโครงการนี้ด้วย นอกจากนี้ ยังมองว่าต้องให้น้ำหนักเรื่องการประชาสัมพันธ์มากเป็นพิเศษ เพราะเวลาในการโปรโมตค่อนข้างกระชั้นเกินไป ทำให้ไม่สามารถประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวทราบได้ทัน
ขณะที่ความเห็นในฟากเอกชนนั้น ต้องการให้ช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดกิจกรรมนำเที่ยว เช่น การให้สิทธิประโยชน์พิเศษแก่บริษัทนำเที่ยวที่นำนักท่องเที่ยวเดินทางไปยังเมืองรองในโซน 2 และ 3 ได้ตามเป้าหมายที่กำหนด โดยประเด็นนี้จะมีการหารือกับสมาคมท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องต่อไป

“ภาคเอกชนได้เสนอด้วยว่า ต้องการให้หาแนวทางแก้ไขปัญหาที่ร้านค้ารายย่อย หรือร้านค้าชุมชนต่าง ๆ ยังไม่มีใบกำกับภาษีออกให้นักท่องเที่ยวด้วย หากต้องการตอบโจทย์รัฐบาลเรื่องการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นจริง ๆ โดย ททท.จะนำเรื่องนี้หารือกับกระทรวงการคลังต่อไป”
สำหรับเป้าหมายรายได้ตลาดไทยเที่ยวไทย ปี 2560 นั้น ททท.ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 154 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ 9.5 แสนล้านบาท ขณะที่เป้าหมายปี 2561 ตั้งเป้านักท่องเที่ยวไทยที่ 162 ล้านคน-ครั้ง เพิ่มขึ้น 5% เมื่อเทียบกับเป้าหมายปีนี้

ฟาก “อิทธิฤทธิ์ กิ่งเล็ก” ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) ให้ความเห็นว่า นับเป็นเรื่องดีที่ ททท.มุ่งกระจายรายได้ท่องเที่ยวไปสู่เมืองรอง รวมถึงกระตุ้นเม็ดเงินสู่ชุมชน ด้วยการดึงพันธมิตรสายการบิน รถขนส่ง เข้ามาช่วยเสริมพลังให้ดำเนินไปในทิศทางเดียวกันมากขึ้น และเร่งกระตุ้นให้มีการจัดประชุมสัมมนาในประเทศ

ทั้งนี้ มองว่ามาตรการลดหย่อนภาษีที่สรุปออกมานั้นแม้จะเป็นมาตรการที่เคยมี และนำมาใช้บ่อยแล้ว แต่เชื่อว่ายังสามารถนำไปใช้ได้อีก อย่างเมืองท่องเที่ยวรองในโซน 3 ซึ่งลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึง 50,000 บาท ไม่ถือว่าเป็นวงเงินที่สูงจนเกินไป ยิ่งเยอะ ยิ่งดี แต่ต้องมีสิ่งจูงใจอื่นๆ ให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไปกระจายเม็ดเงินด้วย

ดังนั้น สิ่งที่ สทท.อยากเห็นเพิ่มเติม คือลูกเล่นหรือเครื่องมือใหม่ๆ นำมาใช้ควบคู่กับมาตรการทางภาษี
เช่นเดียวกับ “ศุภวรรณ ถนอมเกียรติภูมิ” นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) ที่มองว่า ทุกครั้งที่มีการออกมาตรการลดหย่อนภาษีกระตุ้นภาคการท่องเที่ยว จะเห็นผลสำเร็จที่ดี แต่อยากให้เข้าไปดู “ความพร้อม” ของเมืองรองด้วยว่ายังขาดหรือต้องการอะไรเพิ่มเติม
ยกตัวอย่าง เช่น น่าน กับแพร่ ถือเป็นเมืองรองที่สามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้ดี ขณะที่เมืองรองอื่นๆ อย่าง สุโขทัย ยังไม่มีใครเข้าไปโปรโมตอย่างจริงจัง ทั้งที่เป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีศักยภาพสูงมาก

คงต้องลุ้นกันต่อไปว่า การออกมาตรการลดหย่อนภาษีท่องเที่ยวแบบขั้นบันไดดังกล่าวนี้ จะช่วยกระจายรายได้ในภาคธุรกิจท่องเที่ยวลงไปสู่จังหวัดขนาดเล็ก และเข้าถึงชุมชนได้ตามโจทย์ของรัฐบาล!

ขอบคุณข้อมูลจากประชาชาติธุรกิจ