ผู้เขียน | มานพ อำรุง |
---|---|
เผยแพร่ |
ดอกเอ๋ย ดอกมะลิ ถึงยามผลิกลิ่นพราวสกาวต้น
สดสะอาดปราศสีราคีระคน เหมือนกมลใสสดหมดระคาย
กลิ่นมะลิหอมกระไรไม่รู้สว่าง เปรียบได้อย่างรักแท้ไม่แปรหาย
อันรักแท้แลหัวใจได้บรรยาย ขอเชิญทาย ณ ที่ไหนจากใครเอย
คำประพันธ์บทดอกสร้อย ชื่อ แม่จ๋า ของท่านผู้หญิงสมโรจน์ สวัสดิกุล ณ อยุธยา
จากบาทสุดท้าย “ขอเชิญทาย ณ ที่ไหนจากใครเอย” เชื่อว่าทุกท่านคงจะทายถูก แม้ไม่มีชื่อ่ของบทดอกสร้อย เพราะเพียงเอ่ยถึงดอกมะลิ และรักแท้บริสุทธิ์จากหัวใจที่ไม่จางหาย ก็คงได้รับจาก “แม่” มาแล้วและตลอดไป
วันที่ 12 สิงหาคม ของทุกปี ได้รับการกำหนดให้เป็น “วันแม่แห่งชาติ” ที่ทุกคนจะระลึกด้วยจิตสำนึกแห่งพระคุณท่าน มีการจัดเป็นพิธีการ แสดงออกเชิงกิจกรรมและพฤติกรรมที่บ่งบอกหรือส่งมุทิตาจิต อันเป็นมงคลบูชาบุพการี แต่ความเป็นจริงแล้ว เชื่อว่าวันทุกวันที่ผ่านมาและถึงวันนี้คือ “วันของแม่” ที่มีให้แก่ลูกๆ ทุกคน เพราะแม่ไม่มีวันหนึ่งในรอบปีที่จะมีรัก แต่แม่ให้ความรักทุกวันทั้งปี ซึ่งเราดื่มนมจากอกแม่มาจนเติบใหญ่ เพียงบอกรักแม่ด้วยพฤกษามาลัยแม่ก็ซึ้งใจแล้ว
มีวรรณกรรมบทกลอน บทเพลง คำพรรณนาถึงพระคุณแม่มากมาย เช่น คำร้องในบทเพลง “ใครหนอ” ซึ่งอุปมาว่า ขอใช้โลกเป็นปากกา แล้วใช้ท้องฟ้าเป็นแผ่นกระดาษ พร้อมทั้งใช้น้ำในมหาสมุทรเป็นน้ำหมึก ก็บรรยายพระคุณของแม่ไม่หมด ด้วยความเคารพและศรัทธาอุปมาอุปมัยในบทเพลงนี้ เห็นด้วยยิ่งนัก แต่ขออนุญาตเสริมแย้งว่า หากใช้โลกเป็นปากกาจะใหญ่เกินไป เพราะต้องใช้น้ำหมึกมากอาจจะหมดก่อนบรรยายพระคุณแม่ครบ จึงเชื่อว่าแม้จะใช้ปากกาที่มีอยู่ทุกวันนี้ก็ไม่มีน้ำหมึกพอที่จะบรรยายความรักบูชาแม่ได้หมดเลย
จากที่ได้กล่าวว่า เพียงบอกรักแม่ด้วยพฤกษามาลัย แม่ก็ซึ้งใจแล้ว มีผู้คนผูกบทกลอนพรรณนาไว้ในสื่อออนไลน์มากมาย ทั้งปรากฏชื่อผู้บันทึกและไม่มีชื่อ ดังเช่น มีกลอนวันแม่ 2557 เขียนไว้ว่า
มะลิหอม น้อมวาง บนหน้าตัก
กรุ่นกลิ่นรัก บริสุทธิ์ ผุดผ่องใส
แทนทุกคำ ทุกถ้อย ร้อยจากใจ
เป็นมาลัย “กราบแม่” พร้อมน้อมบูชา ฯลฯ
และจาก I Love mom เขียนไว้ว่า
ขอมอบช่อ บุปผา นานาชนิด
ด้วยดวงจิต ด้วยใจภักดิ์ รักของฉัน
แด่คุณแม่ ของลูก ผูกสัมพันธ์
ขอให้ท่าน มีความสุข ทุกเวลา ฯลฯ
รวมทั้งมีบทสุดท้าย ของ สัจจาภรณ์ ไวจรรยา poohkan เขียนไว้ว่า
หอมกลิ่นความรักอวลไออุ่น
ระลึกคุณ แม่โอบอุ้ม คุ้มเกศา
มือของลูก จึงเรียงร้อย ถ้อยวาจา
เป็นมาลา หอมรัก กราบจากใจ
จะเห็นว่า แม้แต่บอกรักแม่ด้วยอักษรวาจาแทนมาลาดอกไม้ก็กราบด้วยรักแม่ได้
ดอกไม้ในวันแม่เรามักจะนึกถึงดอกมะลิเป็นเบื้องต้น เพราะเป็นสัญลักษณ์สากลในบ้านเมืองของเรา ประเทศไทยจัดงานวันแม่ครั้งแรก ตั้งแต่ วันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2486 ต่อมามีการเปลี่ยนกำหนดงานวันแม่หลายครั้ง จนกระทั่งปี พ.ศ. 2519 ได้เห็นสมควรกันว่าควรมีการกำหนดวันให้แน่นอน โดยให้ถือวันเสด็จพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในวันที่ 12 สิงหาคม เป็นวันแม่แห่งชาติ และกำหนดให้ดอกมะลิเป็นดอกไม้สัญลักษณ์วันแม่จากวันนั้นมาจนถึงปัจจุบัน
คงจะไม่ต้องกล่าวถึงดอกมะลิ ซึ่งทุกท่านได้สัมผัสทั้งความบริสุทธิ์ ความหอม พร้อมทั้งความศรัทธายอมรับที่ใช้เป็นสิ่งแทนใจบอกความรู้สึกในความดีงามทั้งปวง เพราะดอกมะลิจะเป็น “มะลิ” ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นดอกสด ดอกตูม ดอกบาน หรือดอกเหี่ยวแห้ง ก็มีคุณค่าประโยชน์สารพัด หากเป็นดอกเดียวรวมเป็นช่อ เป็นสาย ก็นิยม หากนำไปรวมกับดอกไม้อื่นๆ เป็นพวง ก็เข้ากับทุกพฤกษาที่เราเรียกันว่าพวงมาลา พวงมาลัย มีแต่จะทำให้ “หัตถพฤกษา” นั้นมีคุณค่าเพิ่มขึ้น เพราะมะลิมีหลายชนิดพันธุ์ รวมทั้งชนิดพันธุ์เดียวกันแต่มีเรียกหลายชื่อ ที่เชื่อว่าเคยได้ยินแพร่หลาย เช่น มะลิลา มะลิซ้อน มะลิถอด มะลิพิกุล หรือมะลิฉัตร มะลิทะเล มะลิพวง มะลิเลื้อย มะลิวัลย์ มะลิเขี้ยวงู มะลิไส้ไก่ มะลิฝรั่ง มะลิย่าน มะลิเถื่อน มะลิก้านยาว มะลิหลวง มะลิเศรษฐี มะลิซ้อน
ส่วนใหญ่เราจะใช้มะลิมาลัย ดอกมะลิหรือพวงมาลัยที่เป็นสิ่งแทนใจกราบแม่อ้างว่าอวยพร หรือระลึกพระคุณแม่ แต่แท้ที่จริงแล้วสิ่งที่เราได้กระทำนั้นกลับได้รับสิ่งที่แม่ให้เรากลับมายิ่งใหญ่กว่าหลายเท่านัก คือได้รับ “คำอวยพร” จากแม่มากกว่าดอกไม้ที่เรากราบแม่ นั่นแหละคือรักแท้ที่แม่คืนให้ มีวิธีบอกรักแม่มากมายหลายช่องทาง ทั้งกาย และใจ พฤติกรรมทางกายที่เราเห็นอยู่ประจำคือคำบอกรักแม่ด้วยบทเพลง ระลึกคุณ สรรเสริญน้ำใจแม่ที่ให้กับเรา พรรณนาความรู้สึกรักและศรัทธา แต่ก็มีบางบทเพลงที่ “สารภาพ” เชิงขอโทษแม่ บาทบทเพลงก็ “ยอมรับ” กลับมาอย่างผิดหวัง ขอกลับมาตายรังเพื่อซบตักแม่
บทเพลงที่เราคุ้นชินและเชื่อว่า “ได้ยิน” หรือ “ได้ขับร้อง” ในโอกาสดังกล่าวนี้มาแล้วแน่นอน เช่น เพลง ค่าน้ำนม เพลง อิ่มอุ่น เพลง ใครหนอ ยังมีชื่อบทเพลงอีกมากมาย ทั้งเนื้อเพลง ทั้งผู้ขับร้องหลากหลายได้ขับร้องไว้ พอจะยกสำนวนอารมณ์ความรู้สึกที่จะบอกแม่ และสิ่งที่อยากจะกล่าวถึงคือ บทเพลงที่เป็นตัวแทนความรู้สึกรักจากใจแม่ที่เราน่าจะระลึกด้วย
ขอเริ่มต้นด้วยบทเพลงที่ บ่งบอกถึงแม่คือที่พึ่งสุดท้าย ทั้งทางกายและใจ ด้วยเพลงชื่อ แม่จ๋าลูกอกหัก ขับร้องโดย คุณสายัณห์ สัญญา
แม่จ๋าลูกอกหักมาอีกแล้ว คนรักจากแจวอกหักอีกแล้วจ๋าแม่ เขาทิ้งลูกก่อนจากจรไม่มาเหลียวแล รักหักอกเป็นแผลต้องพ่ายแพ้สะอื้น
เจ็บช้ำที่เขาหลอกทำกี่หน ใจลูกสู้ทนตัดไม่พ้นขมขื่น ครั้งนี้ยิ่งกว่าดั่งโดนฆ่าล้มทั้งยืน เพราะรักสุดปานจะกลืน สุดจะฝืนดวงใจ
จะด่าผู้หญิงกลัวพาดพิงถึงแม่ จะอ่อนจะแก่เพศเดียวกับแม่ใช่ไหม แต่เธอผู้หลอกปลิ้นปลอกล่อลวงดวงใจ ลูกยังให้การอภัย เจ็บแค่ไหนทนสู้
แม่จ๋าลูกอกหักมาอีกครั้ง เคยสอนให้ฟัง อย่าไปเชื่อฝังใจอยู่ ครั้งนี้ลูกผิด ไม่เคยคิดว่าเขาศัตรู แม่เคยบอกว่าเป็นงู เพิ่งจะรู้แก่ใจ
ในบทเพลงชื่อเดียวกันนี้ ยังมี คุณดวงจันทร์ สุวรรณี ขับร้องไว้ ในเนื้อร้องใกล้เคียงกัน โดยเปลี่ยนบางประโยคที่เป็นบทบาทของผู้หญิงใช้ทำนองเดียวกัน ซึ่งทั้งสองคนก็ได้รับคำสอนจากแม่แล้ว ในที่สุดก็ต้องกลับมาซบตักแม่
ยังมีบทเพลงชื่อเดียวกัน คือ แม่จ๋าลูกอกหัก ขับร้องโดย คุณหงส์ฟ้า ชานนท์ คำร้อง-ทำนอง โดย ไก่ พีรวิชณ์ อัลบั้ม หงส์ฟ้าวอนแฟน
พนมกรกราบลงที่ตรงเท้าแม่ ตอนนี้ลูกแย่ อ่อนแอเหลือเกินแม่จ๋า ลูกถูกคนรักเขาหักอกช้ำอุรา ช่วยที่ช่วยเช็ดน้ำตา ลูกมาขอกำลังใจ
ลูกอกหักถูกเขาตัดรักแม่จ๋า ลูกช้ำอุรา ชีวาลูกแทบสลาย กลับมาหาแม่ด้วยใจสับสนวุ่นวาย ลูกนี้ทุกข์ตรมหมองไหม้ปวดใจสุดช้ำฤดี
โอ้แม่จ๋าช่วยลูกเยียวยาหัวใจ ที่พึ่งสุดท้ายคือแม่ของลูกคนนี้ ยามลูกสุขสันต์ แม่นั้นแสนสุขชีวี รักลูกเสียจนล้นปรี่ แม่นี้ที่ลูกบูชา
พนมกรกราบลงด้วยใจแน่แน่ว ลูกตัดใจแล้ว ลูกแก้วนี้ปรารถนา ขอบวชแทนคุณ เทิดทูนพระคุณมารดา เรื่องรักไร้วาสนา หวังพึ่งพารสพระธรรม
ขอเสนออีกบทเพลงที่สำนึกถึงแม่ให้รักษาใจและขอใช้หนี้เวรแทนคุณ ชื่อเพลง หนี้เสน่หา ขับร้องโดย คุณสุเทพ วงค์กำแหง เนื้อร้อง-ทำนอง โดย เนรัญชรา
แม่จ๋าลูกซานกลับมาเหมือนคนไข้หนัก หากลูกเป็นนกก็คงปีกหัก ต้องการพักรักษาแผลใจ อภัยลูกสักหน ที่ลูกปล่อยตนหลงความรักใคร่ กว่าจะรู้ก็สายเกินไป ถูกกิ่งรักปักใจ ให้ปวดร้าว ปวดร้าว
แม่จ๋าลูกซานกลับมารับคำว่ากล่าว แต่ลูกอยากถามถึงความก่อนเก่าเมื่อวัยสาว แม่เคยคิดฆ่าใครบ้างใหม่ ฆ่าด้วยความเสน่หาเหมือนลูกถูกฆ่าด้วยความรักใคร่ ถ้าไม่เคยลูกนี้ชื่นใจ แต่ถ้าเคยแล้วไป ลูกขอใช้หนี้เวรแทนคุณ
ความเป็น “แม่” ไม่มีช่วงเวลา ไม่มีฤดูกาล แม่รักลูกตั้งแต่ยังไม่เห็นหน้าลูก ยังไม่รู้ว่าเป็นลูกหญิงหรือชาย เพียงรู้ว่ามีลูกอยู่ในตัวแม่ ความรักก็เริ่มขึ้นแล้ว ดังบทเพลงชื่อ รักของแม่ คำร้อง-ทำนอง โดย ครูสง่า อรัมภีร์ ขับร้องต้นฉบับโดย คุณชาญ เย็นแข เมื่อ 60 กว่าปีที่ผ่านมา และคุณสวลี ผกาพันธุ์ ขับร้องมากว่า 40 ปี
โอ้ความรักไหน จะแสนซึ้งใจเทียบรักแม่ได้ มีแต่อภัยและปราณี ยามนอนแม่คอยพัดวี ให้ลูกนี้สุข ไร้ทุกข์เมื่อยามนิทรา
เมื่อลูกรักเล็ก จะซนแสนซน แม่ก็เฝ้าทนขอเพียงให้ลูกเติบโตมา คอยกลัวจะหายคลาดตา ข้าวปลาคอยป้อน ลูกอ้อนก็ทนทรมาน
รักของแม่บริสุทธิ์ สวยงามผ่องผุด ละมุนละไมอ่อนหวาน รักของแม่ชื่นบาน โชติตระการตราบจนโลกมลาย
จะเติบโตจนเหมือนคนทั้งปวง แม่ยังคอยห่วงระวังหวงลูกอยู่ไม่วาย จะเป็นลูกหญิงหรือชาย แม่รักไม่หน่าย รักแม่ประเสริฐเลิศเอย
มีบทเพลงชื่อ รักของแม่ เช่นเดียวกัน แต่เป็นเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง อีพริ้งคนเริงเมือง ตั้งแต่พ.ศ. 2523 คำร้อง-ทำนอง โดย คุณเริงศิริ ลิมอักษร ขับร้องโดย คุณศรีไสล สุชาติวุฒิ
ลูกเอยลูกรักของแม่ รักจริงรักแท้แน่นอนลูกเอ๋ย สองมืออุ้มชูไม่เคยละเลย ขับเพลงเพราะเปรย เพื่อให้นอนฝันดี
หัวใจรักบริสุทธิ์ ของมวลมนุษย์ที่ในโลกนี้ หาความซื่อตรงมั่นคงไหนมี เหมือนดวงฤดีที่แม่เสน่หา
อ้อมแขนแม่ยิ่งใหญ่ โอบเจ้าได้กว้างไกลยิ่งกว่าอ้อมฟ้า อ้อมอกแม่แผ่ยิ่งพสุธา เมื่อปรารถนา ซุกชีวาเจ้าอย่าระคาง
เหนือความใสแสนสะอาด ของพฤกษชาติที่มีน้ำค้าง น้ำใจแม่ยังไม่เคยรู้จาง รักเดียวไม่สร่างรักลูกของแม่เอย
ก็พอจะเห็นความรักยิ่งใหญ่ของแม่ใสสะอาดเหมือนน้ำค้างบนยอดพฤกษา ที่ทุกเวลาก็จะคอยทำหน้าที่แม่ตลอดไป
หากจะเอ่ยถึงบทเพลงที่รำลึกพระคุณของแม่ก็มีมากมาย จำนวนเพลง จำนวนนักร้อง หลากหลายอารมณ์เช่นกัน เพียงแค่นำชื่อเพลง ชื่อนักร้องมาต่อเชื่อมกันก็คงจะเหมือนรถติดการจราจรในเมืองกรุงยามเช้าหรือเย็น ลองเข้าไปดูในสื่อออนไลน์ ฟังกันจนปิดภาคเรียนก็ไม่หมด เพราะร้องหาแม่กันทุกคน เช่น
เพลง คุณแม่จ๋า ขับร้องโดย พรทิพา บูรณกิจบำรุง คำร้อง-ทำนองโดย พยงค์ มุกดา
เพลง แม่ ขับร้องโดย ตั๊กแตน ชลดา เพลง แม่ ร้องแหล่โดย ไวพจน์ เพชรสุพรรณ
เพลง รักแท้คือแม่เรา โดย ฝน ธนสุนทร เพลง อ้อมอกแม่ โดย รุ่งฤดี แพ่งผ่องใส
แต่แม้จะรวมบทเพลงแม่ได้ทั้งหมดแล้ว เรียงร้อยด้วยมะลิมาลัยมากเพียงใด ก็เชื่อว่าไม่ยิ่งใหญ่ไปกว่า “พระคุณของแม่” แน่นอนนะลูกเอ๋ย
เพลง แม่จ๋า
คำร้อง-ชาลี อินทรวิจิตร
ทำนอง-สมาน กาญจนะผลิน
ขับร้อง-ธานินทร์ อินทรเทพ
เธอเป็นใครฉันยังไม่แจ้ง แต่เธอเป็นแสงแห่งศรัทธา เธอเป็นดินหรือเธอเป็นหญ้า แท้จริงมีค่ากว่าใครนิรันดร์
เพียงนามเธอฉันขอผนึก เพื่อจะจารึกชั่วกัปกัลป์ เธอเป็นใครฉันไม่เคยหวั่น เธออยู่กับฉันชั่วนาตาปี
เธอคือสายน้ำฉ่ำใจ เปี่ยมแปร้ความใสใยดี เธอคือฟ้าคุ้มปฐพี คุ้มชีวีฉันให้สราญ
เพียงนาทีแม้เธอมีสุข เพื่อจะแบกทุกข์อีกเนิ่นนาน ใครลืมเธอฉันยังต้องการ เพื่อจะพร่ำขานเรียกเธอ…แม่จ๋า
……………
เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อ
สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิ้ง https://shorturl.asia/0zJwQ 📲- Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354