ที่มา | เทคโนโลยีเกษตร |
---|---|
ผู้เขียน | เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์ |
เผยแพร่ |
ผลกระทบจากสภาวะโลกรวน (Climate change) ส่งผลให้สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ทำให้เกิดปัญหาด้านการเกษตร เช่น น้ำท่วม ภัยแล้ง โรคและแมลงศัตรูพืช ส่งผลกระทบต่อผลผลิตข้าว จำเป็นต้องพัฒนาข้าวพันธุ์ใหม่ที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมในปัจจุบัน
ข้าวพันธุ์ใหม่ที่พัฒนาขึ้นมาจากการใช้เทคโนโลยีการปรับปรุงพันธุ์ข้าวอย่างแม่นยำ ทำให้มีความพร้อมที่จะรับมือกับสภาวะโลกรวน เนื่องจากพันธุ์ข้าวมีความต้านทานโรคและแมลงศัตรูพืช ทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่มีปัญหา เช่น น้ำท่วม ภัยแล้ง มีผลผลิตสูง มีคุณค่าทางโภชนาการที่ดี และเหมาะสำหรับการทำนาวิถีใหม่ ที่จะต้องช่วยลดโลกร้อนอีกด้วย
ศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และทีมวิจัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีชีวภาพพืชและการเกษตรแบบแม่นยำ ได้ร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าวมาเป็นเวลากว่า 20 ปี มีผลงานวิจัยด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมการปรับปรุงพันธุ์ข้าว และสายพันธุ์ข้าวดีเด่นที่พร้อมเผยแพร่ในการใช้ประโยชน์เชิงสาธารณะ และเชิงพาณิชย์
การใช้เทคโนโลยีการปรับปรุงพันธุ์ข้าวอย่างแม่นยำ (precision breeding) เพื่อความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการ โดยใช้วิธีการรวบยอดยีนและ QTL จำนวนมากเข้าไว้ในพันธุ์รับเดียวกันได้อย่างมีประสิทธิภาพประกอบด้วยยีน/QTLs ควบคุมความทนทานต่อน้ำท่วมฉับพลัน ความต้านทานโรคขอบใบแห้ง ความต้านทานโรคใบไหม้และไหม้คอรวง ความต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ความทนทานต่ออุณหภูมิสูง สภาพขาดน้ำ ธาตุเหล็กเป็นพิษ โดยคำนึงถึงการรักษาคุณภาพหุงต้ม กลิ่นหอม หรือคุณค่าทางโภชนาการของพันธุ์เดิมเอาไว้ ทำให้ข้าวพันธุ์ใหม่ที่พัฒนาได้มีความพร้อมที่จะรับมือกับสภาวะโลกรวน
สายพันธุ์ข้าวลดโลกร้อนและมีโภชนาการสูง (Climate-friendly and nutrient-dense rice) ได้แก่
1. ข้าวปิ่นเกษตร+4
ข้าวเจ้าพื้นแข็ง มีกลิ่นหอม ไม่ไวต่อช่วงแสง มีคุณสมบัติทนน้ำท่วมฉับพลัน ต้านทานโรคขอบใบแห้ง โรคไหม้ เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ผลผลิตสูง และมีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ
2. ข้าวปิ่นเกษตร+5
ข้าวเจ้าพื้นแข็ง มีกลิ่นหอม ไม่ไวต่อช่วงแสง มีคุณสมบัติทนน้ำท่วมฉับพลัน ต้านทานโรคขอบใบแห้ง โรคไหม้ เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล และมีความหนาแน่นของปากใบน้อย ทำให้ข้าวปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้น้ำได้ (WUE) และรักษามวลชีวภาพให้สูงภายใต้สภาวะความเครียดของน้ำในระยะยาว
3. ข้าวปิ่นเกษตร+6
ข้าวเจ้าพื้นแข็ง มีกลิ่นหอม ไม่ไวต่อช่วงแสง มีคุณสมบัติทนน้ำท่วมฉับพลัน ต้านทานโรคขอบใบแห้ง โรคไหม้ เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ทนอุณหภูมิสูง และดินที่มีธาตุเหล็กเป็นพิษ
4. ข้าวหอมมาลัยแมน
ข้าวเจ้า หอม นุ่ม ไม่ไวต่อช่วงแสง เมล็ดเรียวยาวพิเศษ ให้ผลผลิตดีในการปลูกแบบเกษตรอินทรีย์
5. ข้าวหอมจินดา
ข้าวเจ้าหอมนุ่ม ต้านทานโรคขอบใบแห้ง ลำต้นแข็งแรง ไม่หักล้มง่าย ต้นสูงปานกลาง ผลผลิตสูง
6. ข้าวหอมนาเล
ข้าวเจ้าหอมพื้นนุ่ม ไม่ไวต่อช่วงแสง มีคุณสมบัติทนน้ำท่วมฉับพลัน ต้านทานโรคขอบใบแห้ง และเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล
7. ข้าวหอมสยาม
ข้าวเจ้าไวต่อช่วงแสง เมล็ดมีกลิ่นหอม ข้าวหุงนุ่มอร่อยคล้ายข้าวขาวดอกมะลิ 105 มีลำต้นที่แข็งแรง ไม่หักล้มง่าย ความสูงปานกลาง ให้ผลผลิตสูง ต้านทานโรคไหม้ และทนแล้ง
8. ข้าวหอมสยาม 2
ข้าวเจ้าไวต่อช่วงแสง ให้ผลผลิตสูงกว่าข้าวขาวดอกมะลิ 105 คุณภาพข้าวสุก มีกลิ่นหอมคล้ายข้าวขาวดอกมะลิ 105 ทนต่อน้ำท่วมฉับพลัน และต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในระดับปานกลาง ผลเฉลี่ย 480 กิโลกรัมต่อไร่
9. ข้าวไรซ์เบอร์รี่
ข้าวเจ้าสีม่วงที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง เมล็ดอุดมไปด้วยสารฟลาโวนอยด์ แอนโทไซยานิน โพลีฟีนอล แกมมา-ออไรซานอล วิตามิน B-complex และวิตามินอี ข้าวกล้องหุงสุกมีความนุ่ม มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว สารสกัดจากรำข้าวไรซ์เบอร์รี่มีคุณสมบัติยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็งทดสอบ นอกจากนี้ รำข้าวและน้ำมันของข้าวไรซ์เบอร์รี่ยังเป็นแหล่งที่ดีของพรีบิโอติกส์อีกด้วย
10. ข้าวไรซ์เบอร์รี่ต้านขอบใบแห้ง
ข้าวเจ้าสีม่วงที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง ที่ปรับปรุงพันธุ์มาจากข้าวไรซ์เบอร์รี่ โดยเพิ่มลักษณะความต้านทานโรคขอบใบแห้งเข้ามา
11. ข้าวไรซ์เบอร์รี่ 6+
ข้าวไรซ์เบอร์รี่ 6+ (11F09) เป็นข้าวไรซ์เบอร์รี่ปรับปรุงล่าสุด ที่ทนทานต่อน้ำท่วมฉับพลัน โรคขอบใบแห้ง โรคไหม้ เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ความเป็นพิษของธาตุเหล็ก และอุณหภูมิสูง ข้าวไรซ์เบอร์รี่ 6+ เป็นข้าวสีม่วงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุดที่ได้รับการพัฒนาขึ้นมา ข้าวที่หุงสุกแล้วจะมีความนุ่ม และมีกลิ่นหอม