อุทัยธานี เปิด “ศูนย์บันดาลไทย” หนุนผู้ผลิต-ตอบโจทย์รัฐบาล กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน

ที่สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดอุทัยธานี ไมตรี ไตรติลานันท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานี เป็นประธานเปิดศูนย์บันดาลไทย ต้นทุนสร้างสรรค์ สู่ผลิตภัณฑ์ชุมชนคุณธรรม ตามที่สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดอุทัยธานีจัดขึ้น เพื่อเป็นศูนย์กลางในการบริหารจัดการภูมิปัญญาและวัฒนธรรมในท้องถิ่นของแต่ละพื้นที่ในจังหวัด ให้ผู้ประกอบการหลากหลายระดับตั้งแต่อุตสาหกรรม การผลิตและบริการ จนถึงวิสาหกิจชุมชน และกลุ่มผู้ผลิตหน้าใหม่ ได้มีความเข้าใจในการใช้เสน่ห์ไทยสร้างสรรค์ ผลิตผลงานที่เกิดจากภูมิปัญญาท้องถิ่นอันมีคุณค่าและเพิ่มมูลค่าให้กับตนเอง ซึ่งสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่มุ่งเน้นการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ด้วยการใช้ทุนวัฒนธรรมเป็นแนวทางในการขับเคลื่อน และสามารถตอบโจทย์รัฐบาลในเรื่องการสร้างเศรษฐกิจชุมชนด้วย

กิจกรรมภายในงาน มีการจัดนิทรรศการต้นแบบผลิตภัณฑ์จากกลุ่มผู้ผลิตสินค้าพื้นเมืองจากพื้นที่ต่างๆ ภายในจังหวัด โดยเฉพาะผ้าทอพื้นเมือง ผ้าทอลายโบราณ จากฝีมือชุมชนชาวกะเหรี่ยง ชาวลาวเวียง และชาวลาวครั่ง รวมไปถึงกลุ่มผู้ผลิตมีด หัวเข็มขัด และแหวนจากหินธรรมชาติ พร้อมทั้งกลุ่มจักสานและกลุ่มการผลิตอาหารหลักพื้นบ้านอย่างน้ำพริกรสชาติต่างๆ เช่น ผลิตภัณฑ์ผ้าทอพื้นเมือง บ้านห้วยรอบ หมู่ที่ 2 ตำบลห้วยรอบ อำเภอหนองขาหย่าง ผลิตภัณฑ์ผ้าทอลายโบราณป้าจำปี บ้านนาตาโพ ตำบลบ้านไร่ อำเภอบ้านไร่ ผลิตภัณฑ์หัวเข็มขัดจากหินธรรมชาติ ในพื้นที่ ตำบลน้ำรอบ อำเภอลานสัก ผลิตภัณฑ์กรรไกรตัดกิ่งไม้ในพื้นที่ ตำบลหาดทนง อำเภอเมืองอุทัยธานี ผลิตภัณฑ์เสื่อกก บ้านคลองข่อย ตำบลไผ่เขียว อำเภอสว่างอารมณ์ ผลิตภัณฑ์จักสาน บ้านเกาะพีเพลิน ตำบลหนองยาง อำเภอหนองฉาง และผลิตภัณฑ์น้ำพริกป้าใจ ตำบลตลุกดู่ อำเภอทัพทัน มาจัดแสดงภายในศูนย์ โดยกลุ่มสินค้าแต่ละชนิดนั้นจะมีการบอกเล่าเรื่องราวที่มาที่ไป และแรงบันดาลใจของการผลิตสินค้าขึ้นมาให้ได้ทราบด้วย

พจน์ สีเข้ม วัฒนธรรมจังหวัดอุทัยธานี เผยว่า ศูนย์บันดาลไทยจัดสร้างขึ้นเพื่อเปิดพื้นที่ทางวัฒนธรรมในชุมชนท้องถิ่นให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านศิลปะและวัฒนธรรม ถ่ายทอดภูมิปัญญาที่เป็นเอกลักษณ์ศิลปะและวัฒนธรรมท้องถิ่น กระตุ้นให้ประชาชนเกิดความภาคภูมิใจและร่วมกันอนุรักษ์ฟื้นฟูศิลปะและวัฒนธรรม ด้วยการนำเสน่ห์และทุนทางวัฒนธรรมของท้องถิ่นมาสร้างคุณค่าทางสังคมและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ และเพื่อสร้างแรงบันดาลใจด้านศิลปะและวัฒนธรรมให้แก่เครือข่ายศิลปะและวัฒนธรรมชุมชนและประชาชนในจังหวัดให้เกิดการนำศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านและท้องถิ่นของตนออกมาเผยแพร่ให้กับประชาชนทั่วไปได้รับชมและรับรู้ จนไปสู่การต่อยอดการผลิตและจำหน่ายจนเป็นการสร้างอาชีพและรายได้ พร้อมทั้งต่อยอดสู่ผู้ผลิตหน้าใหม่ด้วยการชวนลูกหลานกลับบ้าน สร้างอาชีพและรายได้จากภูมิปัญญาและวัฒนธรรมบ้านเกิดของตัวเอง

ซึ่งจะเป็นการอนุรักษ์สืบสานและสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมจากรุ่นสู่รุ่นสืบไปได้อย่างไม่มีสิ้นสุด

ขอบคุณข้อมูลจาก ศิริวัฒน์ วรศิริ