ตื่นตา “กัลปังหาแดง” โผล่พ้นน้ำ อันซีนเกาะสุกร จ.ตรัง

เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2567 บริเวณหน้าหาดทรายทอง หมู่ที่ 2 ตำบลเกาะสุกร อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง นายณัฐพัฒน์ พรหมเพชร ผู้ประกอบการท่องเที่ยวทรายทองบีชรีสอร์ท ซึ่งเป็นคนเก็บข้อมูลและสำรวจกลุ่มกัลปังหาแดงหรือ Sea Fan คนแรกในอำเภอปะเหลียน นำผู้สื่อข่าวและนักท่องเที่ยว ไปชมความสวยงามของกัลปังหาแดงที่โผล่พ้นน้ำ หลังน้ำทะเลลดลงต่ำสุด ห่างฝั่งประมาณ 400-500 เมตร และเป็นกัลปังหาแดงกลุ่มเดียวในจังหวัดตรัง ที่อยู่ในเขตน้ำตื้น หรือที่ระดับความลึกประมาณ 20-40 เซนติเมตร นักท่องเที่ยวที่สนใจสามารถเดินไปชมได้อย่างใกล้ชิด

โดยในช่วงหน้าแล้งของทุกปี ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-เมษายน ในช่วงข้างแรม 1-3 ค่ำ ซึ่งเป็นช่วงที่น้ำทะเลลดลงต่ำสุด จะพบกัลปังหาแดงโผล่พ้นน้ำมากที่สุด และพบเพียงแห่งเดียวในจังหวัดตรังที่อยู่ในเขตน้ำตื้น สร้างความตื่นตา ตื่นใจให้กับนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างมาก จนกลายเป็นอันซีนแห่งใหม่บนเกาะสุกร ที่เพิ่งถูกค้นพบเมื่อเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา สำหรับกัลปังหาแดงหรือ sea fan เป็นสัตว์ทะเลที่ไม่มีกระดูกสันหลัง อยู่ในกลุ่มเดียวกับปะการัง มีหนวดลักษณะคล้ายขนนกคอยดักจับแพลงตอนที่ลอยมากับน้ำกินเป็นอาหาร พบมากในบริเวณที่มีกระแสน้ำไหลหรือที่ระดับความลึก 3-10 เมตร

แต่ช่วงเดือนมีนาคมนี้พบว่า กัลปังหาแดงทรุดโทรมลงไปมากกว่าเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เนื่องจากน้ำทะเลลดลงเป็นเวลานานกว่าปกติ ทำให้อุณหภูมิของน้ำร้อนขึ้น ยอดของกัลปังหาแดงจึงเริ่มแห้งตายเพราะโผล่พ้นน้ำเป็นเวลานาน แต่ยังคงมีกัลปังหาแดงที่เกิดใหม่อยู่ใต้ผิวน้ำโผล่ขึ้นมาให้เห็น ส่วนนักท่องเที่ยวที่สนใจ ให้ตรวจสอบตารางน้ำขึ้น-น้ำลง หรือติดต่อไปได้ที่ นายณัฐพัฒน์ พรหมเพชร หมายเลขโทรศัพท์ 096-585-6811

โดยนายณัฐพัฒน์ พรหมเพชร ผู้ประกอบการท่องเที่ยวเกาะสุกร อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง กล่าวว่า วันนี้พามาชมกัลปังหาแดงหรือซีแฟน กองนี้มีความพิเศษตรงที่เป็นกัลปังหาแดงที่โผล่พ้นน้ำ ในข้อมูลที่ตนเองพยายามสืบค้นน่าจะเป็นกองเดียวที่เห็นอยู่ในจังหวัดตรังหรือกองเดียวในภาคใต้ โดยปกติแล้วซีแฟนจะอยู่ในระดับน้ำ 2-3 เมตร-10 กว่าเมตร แต่กองนี้เจอในระดับน้ำแค่หัวเข่า หรือว่าช่วงน้ำลงต่ำสุดจริงๆ ก็สามารถเดินรอบกองนี้ได้โดยที่ไม่ต้องไปดำน้ำหรือเสียค่าเรือให้เปลืองเงิน แค่เดินมา 400-500 เมตรก็มาชมได้แล้ว ถือว่าเป็นหนึ่งอันซีนของเกาะสุกร ส่วนจุดเด่นคือเป็นกองขนาดใหญ่มากคือ 2-3 เมตร และมีความสมบูรณ์จนแทบจะไม่มีซีแฟนตัวไหนที่โผล่พ้นน้ำให้เจอได้ง่ายเลย เพราะพวกนี้จะอาศัยอยู่ใกล้ๆ ร่องน้ำหรือโซนที่มีแพลงตอนเพียงพอในการเจริญเติบโต แต่วันนี้เจอในระยะชายฝั่งถือว่าเป็นโชคดีของเกาะสุกรจริงๆ โดยตนเองมาเจอและสำรวจกองนี้เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว และได้เก็บข้อมูลทุกครั้งที่มีโอกาสหลังน้ำลด

Advertisement