เผยแพร่ |
---|
อุตสาหกรรมเกลือทะเลในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี ซึ่งเป็นแหล่งผลิตใหญ่ของประเทศ เผชิญภาวะราคาผันผวนมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2559 ราคาเกลือทะเลเคยตกต่ำไปอยู่ที่ 800 บาท/เกวียน แต่ปีนี้ราคาขยับขึ้นมาที่ 2-3 พันบาท/เกวียน
ทั้งนี้ มีหลายปัจจัยที่ทำให้ราคาเกลือตกต่ำ ไม่ว่าจะเป็นสภาพอากาศร้อนที่ทำให้มีการตกผลึกเกลือเพิ่มขึ้นถึง 15% แต่ปริมาณการใช้เกลือกลับน้อยลง เนื่องจากอุตสาหกรรมหมักดองทั้งปลาและผักลดลง จึงมีการสต๊อกเกลือทะเลตั้งแต่ปี 2558-2559 อีกทั้งผู้ประกอบการหันไปใช้เกลือสินเธาว์มากขึ้น
สถานการณ์ตลาดที่เปลี่ยนไป และราคาเกลือตกต่ำ ทำให้เกษตรกรชาวนาเกลือทะเลต้องเร่งปรับตัวให้อยู่รอด ซึ่งขณะนี้มี 2 แนวทางคือ การแปรรูปเพิ่มมูลค่าเกลือ ด้วยการผลิตสินค้าใหม่ๆ จาก “ดอกเกลือ” เพื่อเจาะตลาดสปาและอาหาร รวมทั้งผนึกกำลัง 5 สหกรณ์การผลิตเกลือใน 3 จังหวัด ทำระบบเกษตรแปลงใหญ่ ภายใต้การสนับสนุนส่งเสริมจากหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน สำหรับจุดเด่นของดอกเกลือ คือ เป็นเกลือชุดแรกที่ลอยตัวขึ้นมาเกาะตัวเป็นแพบนผิวน้ำ ไม่ใช่เกลือที่รอให้น้ำระเหยออกไปจนตกผลึก รสชาติดีไม่เค็มจัด มีความหวานซ่อนอยู่ และราคาสูงกว่าเกลือธรรมดา
“เลอพงษ์ จันทอง” ประธานสหกรณ์กรุงเทพ จำกัด จังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า ได้ร่วมมือกับหอการค้าจังหวัดสมุทรสาครในรูปแบบประชารัฐ ตามโครงการ 1 หอการค้า 1 สหกรณ์การเกษตร เพื่อแปรรูปเกลือทะเล ภายใต้ชื่อสินค้า “Siam Sea Salt” และยังได้รับเงินสนับสนุนจากโครงการ 9101 (ตามรอยเท้าพ่อภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อการพัฒนาเกษตรอย่างยั่งยืน) ประมาณ 1.8 แสนบาท โดยนำมาพัฒนาปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีคุณภาพ ทั้ง
ขั้นตอนของการไล่ความชื้นทำให้แห้ง การโม่ให้ละเอียด และร่อนให้เป็นผง ซึ่งจะทำให้ผลผลิตมีมูลค่าเพิ่มขึ้น
ปัจจุบัน ได้มีการพัฒนาดอกเกลือเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ และได้ยื่นขอ อย.เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ได้แก่ เกลือสปาขัดผิว เกลือแช่เท้า สบู่ดอกเกลือ และดอกเกลือสำหรับปรุงอาหาร ราคาจำหน่ายจากสหกรณ์อยู่ที่ประมาณ 200 บาท/ขวด ซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก และตอนนี้มีผู้ประกอบการต้องการผลิตภัณฑ์จากดอกเกลือประมาณ 3-4 ราย เพื่อนำไปติดแบรนด์เป็นของตัวเอง ซึ่งต้องปรึกษากับสมาชิกก่อนว่าจะอนุมัติหรือไม่
ขณะเดียวกัน ทางจังหวัดยังให้การสนับสนุนด้านเงินทุนและการตลาด จำนวน 20 ล้านบาท ให้กับสหกรณ์ชาวนาเกลือ 2 แห่งของจังหวัดสมุทรสาคร คือ สหกรณ์กรุงเทพ จำกัด และสหกรณ์การเกษตรนาเกลือสมุทรสาคร จำกัด
นอกจากนั้น ยังได้รับการส่งเสริมระบบเกษตรแปลงใหญ่ โดยได้เริ่มรวมกลุ่มผู้ผลิตเกลือทะเลจำนวน 5 สหกรณ์ จากพื้นที่ 3 จังหวัด ประกอบไปด้วย 1. สหกรณ์กรุงเทพ จำกัด 2. สหกรณ์การเกษตรนาเกลือสมุทรสาคร จำกัด 3. สหกรณ์การเกษตรนาเกลือสมุทรสงคราม จำกัด 4. สหกรณ์นาเกลือบางแก้ว จำกัด จังหวัดสมุทรสงคราม และ 5. สหกรณ์การเกษตรนาเกลือบ้านแหลม จำกัด จังหวัดเพชรบุรี
ทั้งนี้ได้รวมตัวกันจัดตั้งเป็น “ชุมนุมเกลือทะเลไทย จำกัด” โดยกำหนดให้ถือหุ้นร่วมกันแห่งละ 2 แสนบาท ซึ่งโครงการเกษตรแปลงใหญ่จะสามารถลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร รวมไปถึงการร่วมซื้อขาย เพิ่มอำนาจในการต่อรองราคา และการบริหารจัดการร่วมกัน
ด้าน “สุรีย์รัช อวนสกุล” เลขานุการกรมส่งเสริมสหกรณ์ มองว่า แม้จังหวัดสมุทรสาครจะเป็นแหล่งผลิตเกลือทะเล แต่ต้องดูกำลังการผลิตรองรับการแปรรูปด้วย เพราะปริมาณเกลืออาจจะไม่เพียงพอต่อการแปรรูปผลผลิต และต้องร่วมมือกับอีกหลายส่วน
สำหรับกรมส่งเสริมสหกรณ์นั้น มีศูนย์กระจายสินค้าของสหกรณ์ (Cooperative Distribution Center: CDC) โดยเฉพาะผลผลิตทางการเกษตร เช่น ลำไย มังคุด เงาะ ฯลฯ โดยมีศูนย์ตั้งอยู่ทั่วประเทศ ทั้งระดับเขต ระดับจังหวัดกว่า 50 แห่ง สามารถกระจายหรือระบายผลผลิตจากแต่ละภูมิภาคไปอีกภูมิภาคได้ เพื่อช่วยเกษตรกรที่ประสบปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ และเป็นการป้องกันการกดราคาของพ่อค้าคนกลางได้ด้วย
ดังนั้น การแปรรูปเกลือจะช่วยเกษตรกรในช่วงที่เกลือมีราคาตกต่ำของทุกปี เพราะที่ผ่านมามีการแก้ปัญหาเป็นครั้งคราว แต่มารอบนี้นโยบายหลายอย่างเสริมกัน กลุ่มสหกรณ์ได้ให้ความช่วยเหลือกันอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนในเรื่องของเครื่องมือที่ทำให้เกลือมีคุณภาพสูงกว่าเกลือสินเธาว์ที่เป็นคู่แข่ง และการส่งเสริมให้ผู้บริโภครู้จักเกลือทะเลมากขึ้น
“ปกติราคาเกลือสูงสุดจะอยู่ที่ 3-4 พันบาท/เกวียน ในช่วงเดือนมกราคม และวนเวียนเป็นวัฏจักรต่ำสุดในช่วงเดือนเมษายน โดยมีปัจจัยจากสภาพอากาศร้อน ซึ่งเกลือสินเธาว์จะราคาถูกกว่าเกลือทะเลอยู่ประมาณ 0.5-1 บาท/กิโลกรัม”
นี่จึงเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของชาวนาเกลือทะเล ที่จะฝ่าข้ามความผันผวนของราคา ฉีกหนีคู่แข่ง และขยายฐานตลาดใหม่ๆ เพิ่มขึ้น
ขอบคุณข้อมูลจากประชาชาติธุรกิจ