คนเลี้ยงไก่ไข่กระอัก จี้ทบทวนมาตรฐานฟาร์ม

ตามที่คณะกรรมการได้พิจารณาเห็นชอบกำหนดนโยบายมาตรฐานฟาร์มไก่ไข่เชิงพาณิชย์ (ไก่ไข่และไก่ไข่พันธุ์) เป็นมาตรฐานบังคับ สำหรับเป็นแนวทางปฏิบัติงานด้านการจัดการฟาร์ม และพัฒนาการเลี้ยงไก่ไข่ เพื่อเพิ่มความสามารถและศักยภาพการแข่งขัน โดยให้สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ทำประชาพิจารณ์เพื่อออกประกาศมาตรฐานฟาร์มไก่ไข่เป็นมาตรฐานบังคับนั้น

นายสันติ วิโรจน์บริสุทธิ์ ประธานกรรมการ สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่แปดริ้ว จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า มาตรฐานฟาร์มไก่ไข่ถือเป็นนโยบายที่รัฐมีความพยายามยกระดับมาตรฐานสู่สากล แต่ในทางปฏิบัติอาจจะเป็นไปได้ยาก และยิ่งสร้างช่องว่างความเหลื่อมล้ำต่ออุตสาหกรรมผู้เลี้ยงไก่ไข่ โดยเฉพาะผลกระทบต่อผู้เลี้ยงรายย่อยที่มีกำลังผลิตน้อยถึงปานกลางจะต้องปฏิบัติตามมาตรฐานสากลที่ไม่สอดคล้องกับบริบทการเลี้ยงของไทย แม้ว่าเบื้องต้นจะกำหนดให้ฟาร์มที่มีไก่ไข่ไม่ต่ำกว่า 10,000 ตัว สามารถผ่อนปรนได้ แต่ฟาร์มที่ไม่ถึงแสนปัจจุบันเป็นรายเล็กทั้งหมด จะค่อนข้างเกิดช่องว่าง เนื่องจากข้อเท็จจริงอุตสาหกรรมการเลี้ยงไก่ไข่ของไทย 1 ล้านตัว จัดเป็นรายกลางไปถึงรายใหญ่แทบทั้งหมด หากกฎหมายออกมาบังคับใช้ รายใหญ่ย่อมมีความพร้อมอยู่แล้ว สามารถลงทุนเครื่องจักรได้ ส่วนรายเล็กมีกำลังผลิตและกำลังทรัพย์ที่ไม่มากพอ รัฐควรต้องให้เวลาและทบทวนการจัดแบ่งกำลังผลิต และต้องรับฟังผู้เลี้ยงให้ทั่วถึง

“สหกรณ์เองขอตั้งคำถาม มกอช.ว่า ได้อธิบายให้ทุกฟาร์มเข้าใจหรือไม่ว่า บางอย่างเป็นเรื่องข้อกีดกันทางการค้า หากปฏิบัติตามหลักสากลมากเกินบริบทเกษตรกรรายย่อยนั้นจะกระทบตรงไหนอย่างไร เพราะจะให้กู้ธนาคารก็คงไม่คุ้ม ขณะเดียวกันธนาคารตั้งเงื่อนไขว่าลงทุนไปคุ้มหรือไม่ มีความเสี่ยงหรือไม่ บอกได้เลยว่า วอลุ่มของผู้ประกอบการรายเล็กไม่เหมาะกับการลงทุนที่มากเกินไป ทั้งต้นทุนสูงอาจไม่คุ้มทุนแน่นอน จะเห็นได้จากปัจจุบันสหกรณ์มีสมาชิกลดลงจาก 100 ราย เหลือเพียง 80 ราย เนื่องจากรับต้นทุนที่สูงขึ้นไม่ไหว ธุรกิจนี้รายใหญ่แข่งขันกันในตลาดอยู่แล้ว หากยิ่งไปสร้างเงื่อนไขแบบนี้ ยิ่งบีบให้ผู้เลี้ยงบางรายที่วอลุ่มเล็กๆ ต้องเลิกกิจการ แนวทางดี แต่ต้องมีระยะเวลา ทุกคนพร้อมปรับตัว ไม่ได้เพิกเฉย เราทำธุรกิจ เราต้องปรับตัว ไม่อย่างนั้นอยู่ไม่ได้”

ทางด้าน นายพิศาล พงศ์ศาพิชณ์ รองเลขาธิการ มกอช. กล่าวว่า มกอช.อยู่ระหว่างทำประชาพิจารณ์รายภาค เพื่อรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย จากการจัดเวทีในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีความคิดเห็นค่อนข้างตรงกันว่า หากออกประกาศเป็นมาตรฐานบังคับในปี 2561 ฟาร์มรายย่อยขนาดเล็กที่มีจำนวนแม่ไก่ไข่น้อยกว่า 1 หมื่นตัว ไม่ต้องขอใบอนุญาตใหม่ แต่ต้องปฏิบัติตามระเบียบมาตรฐานจากกรมปศุสัตว์ และหลังจากออกกฎหมายบังคับแล้ว ให้ฟาร์มขนาดกลางสามารถผ่อนปรนได้ 3 ปี และฟาร์มขนาดใหญ่ให้ผ่อนปรนได้ 1 ปี ทั้งนี้ จะมีการทำประชาพิจารณ์รายภาคอีก 2 ครั้ง เพื่อสรุปและประกาศเป็นมาตรฐานบังคับให้ทันในต้นปี 2561

ขอบคุณข้อมูลจากประชาชาติธุรกิจ