เผยแพร่ |
---|
นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ตามที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบ “ร่างกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ พ.ศ. 2567” เพื่ออำนวยความสะดวกและช่วยเหลือพี่น้องชาวประมงที่ได้รับผลกระทบจากพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และกฎหมายลำดับรอง
เนื่องจากเล็งเห็นว่าปัจจุบันกฎกระทรวงฯ พ.ศ. 2562 ยังไม่สอดคล้องกับบริบทการทำการประมงของชาวประมงในปัจจุบันทั้งในเรื่องของการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขออนุญาตและการอนุญาตให้ทำการประมงพาณิชย์ การโอนใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ การโอนใบอนุญาตในลักษณะควบรวมปริมาณสัตว์น้ำ การแก้ไขรายการในใบอนุญาต และการยกเลิกสิทธิ์การทำการประมง ประกอบกับในข้อเท็จจริงปรากฏว่าในแต่ละรอบปีการประมงจะมีเรือประมงที่ไม่ได้รับอนุญาตทำการประมงและไม่สามารถออกไปทำประมงได้ หรือมีใบอนุญาตทำการประมงแต่ไม่สามารถออกไปทำประมงได้
จากสาเหตุหรือปัจจัยบางประการ เช่น ปัญหาข้อกฎหมายที่เป็นอุปสรรค ปัญหาการขาดแคลนแรงงานบนเรือประมง ปัญหาราคาสัตว์น้ำตกต่ำ ฯลฯ ทำให้เกิดความไม่คุ้มทุนในการออกเรือ และเป็นเหตุทำให้ชาวประมงไม่ได้ออกเรือไปทำประมง ส่งผลให้เรือที่จอดอยู่เกิดการชำรุดทรุดโทรม สภาพเรือไม่มีความพร้อมหรือไม่เหมาะสมและไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่จะได้รับการรับรองมาตรฐานด้านสุขอนามัยในเรือประมง (สร.3)
โดยกรณีดังกล่าวที่ผ่านมา ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการมอบหมายให้กรมประมง หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย เพื่อหาแนวทางในการปรับปรุงกฎหมายดังกล่าวและพยายามผลักดันเสนอเข้า ครม. จนสำเร็จ โดยกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ พ.ศ. 2567 ได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2567
สำหรับสาระสำคัญในการปรับแก้กฎกระทรวง ประกอบด้วย
1. กำหนดให้ขยายระยะเวลาให้ชาวประมงสามารถชำระค่าธรรมเนียมค่าอากรตามที่กำหนดเดิมต่อไปได้อีก 90 วันตามความจำเป็น เป็นการช่วยเหลือพี่น้องชาวประมงบางส่วนที่มีเหตุให้ไม่สามารถจ่ายเงินในเวลาที่กำหนดให้ได้มีโอกาสได้รับใบอนุญาตทำการประมงได้ นั้นคือหากไม่สามารถจ่ายเงินได้ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2567 ผู้ได้รับอนุญาตสามารถยื่นเรื่องขอขยายระยะเวลาได้ถึงวันที่ 29 มิถุนายน 2567
2. กำหนดให้นำเรือประมงลำอื่นมาทดแทนได้ กรณีเรือลำเดิมที่ได้รับใบอนุญาตแล้ว จม อับปาง หรือไฟไหม้ทั้งลำ อันเป็นเหตุให้ถูกเพิกถอนทะเบียนเรือไทย รวมถึงกรณีเรือประมงที่ได้รับใบอนุญาตชำรุดทรุดโทรม ด้วยเช่นกัน เป็นการช่วยเหลือให้ชาวประมงผู้ได้รับใบอนุญาตมีโอกาสที่จะหาเรือประมงลำอื่นมาใช้ในการประกอบอาชีพต่อไปได้
3. กำหนดให้สามารถเพิ่มวิธีการในการดำเนินการนำเรือออกจากระบบ กับเรือที่นำมาควบรวมใบอนุญาตให้สามารถใช้หลักฐานการถอนทะเบียนเรือจากกรมเจ้าท่ามาอ้างอิงได้เลย ซึ่งเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับชาวประมงได้มากขึ้น
4. กำหนดให้ผู้ได้รับใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์สามารถเพิ่มเครื่องมือทำการประมงเพิ่มเติมได้ ทำให้ชาวประมงได้มีโอกาสในการปรับเปลี่ยนเครื่องมือให้สอดคล้องกับฤดูกาลและบริบทที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้
5. กำหนดให้กรณีผู้รับอนุญาตทำการประมงพาณิชย์เสียชีวิต คู่สมรสหรือทายาทของผู้รับอนุญาตสามารถมาขอรับโอนใบอนุญาตได้ โดยไม่จำเป็นต้องได้รับการโอนกรรมสิทธิ์จากเจ้าของเรือก่อน หรือต้องมีคำสั่งศาลเป็นผู้จัดการมรดก เป็นการช่วยลดภาระให้กับพี่น้องชาวประมง และลดระยะเวลาในการดำเนินการอีกด้วย
6. กำหนดให้ลดเอกสารบางรายการที่ไม่จำเป็นที่หน่วยงานรัฐสามารถตรวจสอบความถูกต้องได้ระหว่างหน่วยงานและไม่เกี่ยวข้องกับการขอรับอนุญาต เช่น หนังสือรับรองมาตรฐานด้านสุขอนามัยในเรือประมง (สร.3) และเอกสารการแสดงความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เรือ ฯลฯ เป็นการช่วยลดภาระให้ชาวประมง
7. กำหนดให้ผ่อนปรนหลักการเดิมให้ผู้รับอนุญาตสามารถขอย้ายพื้นที่ทำการประมงจากอ่าวไทยไปอันดามัน หรือจากอันดามันมาอ่าวไทยได้ โดยไม่กระทบต่อปริมาณสัตว์น้ำสูงสุดที่สามารถทำการประมงได้อย่างยั่งยืน เป็นการเพิ่มหลักการให้สอดคล้องกับบริบทการทำประมงของชาวประมงมากขึ้น
สำหรับการออกกฎกระทรวงดังกล่าวนี้ มีวัตุประสงค์เพื่อให้การใช้กฎหมายในการบริหารจัดการทรัพยากร เป็นไปตามความเหมาะสมของบริบทการประมงของไทย ซึ่งกรมประมงเชื่อมั่นว่าจะเป็นการช่วยแก้ไขปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเรือประพาณิชย์ จำนวนกว่า 9,000 ลำ
ซึ่งท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า) ได้เน้นย้ำ ให้หาแนวทางออกร่วมกัน โดยมุ่งเน้นการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายให้เหมาะสมควบคู่ไปกับการบริหารจัดการทรัพยากรประมงทะเลอย่างยั่งยืน ตามนโยบายที่นายกรัฐมนตรีให้ไว้ โดยเฉพาะกฎหมายและข้อบังคับต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อชาวประมง โดยมีเจตนารมณ์ที่จะมุ่งมั่นพลิกฟื้นอุตสาหกรรมประมงไทยให้กลับมาเป็นแหล่งรายได้ ที่สำคัญของประเทศและประชาชน และการประมงทะเลมีเสถียรภาพ โดยเปลี่ยนมุมมองจากที่กฎหมายเป็นอุปสรรคเปลี่ยนเป็นรัฐสนับสนุน
ทั้งนี้ การดำเนินการที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น ไม่เป็นการลดประสิทธิภาพในการคงไว้ซึ่งการบริหารจัดการทรัพยากรให้เกิดความยั่งยืน และไม่กระทบกับหลักเกณฑ์ในการปฏิบัติตามมาตรฐานสากล โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 เมษายน 2567 โดยผู้ที่จะยื่นคำขอใบอนุญาตดังกล่าว สามารถส่งเอกสารหรือติดต่อและชำระค่าธรรมเนียมได้ทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ หรือสำนักงานประมงอำเภอ สำนักงานประมงจังหวัด 22 จังหวัดชายทะเล หรือสำนักงานประมงพื้นที่กรุงเทพฯ ณ สถานที่ตั้งของกรม ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยสามารถติดต่อประสานงานกับคลินิกประสานงานการขอรับอนุญาตทำการประมง เพื่ออำนวยความสะดวกให้พี่น้องชาวประมงสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลได้มากยิ่งขึ้น โดยสามารถสแกน QR-Code เข้าร่วมกลุ่มไลน์ได้ หรือติดต่อสอบถามเพิ่มได้ที่ กลุ่มทะเบียนและอนุญาตทำการประมง กองบริหารจัดการทรัพยากรและกำหนดมาตรการ กรมประมง โทร. 02-561-2341, สำนักงานประมงจังหวัด และสำนักงานประมงอำเภอที่มีอาณาเขตติดทะเล หรือ line: คลินิกประสานงานการขอรับหนังสือรับรองและใบอนุญาตทำการประมง