นครพนมโอดน้ำท่วมนาเสียหาย ยอมกู้นอกระบบมาดำนารอบสอง เงินเยียวยาไม่พอ สินเชื่อธนาคารวงเงินน้อย-ยุ่งยาก

เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ จ.นครพนม หลังสถานการณ์ น้ำก่ำที่เอ่อล้นมานานนับเดือน ส่งผลให้น้ำท่วมบ้านเรือนของชาวบ้าน รวมพื้นที่การเกษตรเสียหาย หลังน้ำลดชาวบ้านในพื้นที่ได้รับผลกระทบนาข้าวเสียหาย ต่างเร่งปรับเตรียมพื้นที่ เพื่อลงทุนใหม่ทำการปักดำนารอบสอง เนื่องจากนาข้าว ที่เพิ่งปักดำได้ประมาณ 2 เดือน ถูกน้ำท่วม เน่าเสียหายหมด สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านต้องประสบปัญหาขาดทุนหนัก บางรายต้องยอมไปกู้ยืมเงินนอกระบบ มาลงทุนทำนารอบสอง เนื่องจากเกรงว่าจะไม่มีผลผลิตข้าวไว้กินในระยะยาว ยอมเสียดอกเบี้ยนอกระบบ ดีกว่าไปซื้อข้าวกิน

ส่วนการช่วยเหลือเยียวยาจากภาครัฐ ไม่เพียงพอ เนื่องจากมีการพิจารณาจ่ายเพียงไร่ละ ประมาณ 1,100 บาท แต่ต้นทุนที่ปักดำไป ตกไร่ละไม่ต่ำกว่า 2,000 บาท นอกจากนี้ในส่วนของการช่วยเหลือด้านสินเชื่อจากธนาคาร พบว่า มีขั้นตอนยุ่งยาก และให้วงเงินต่ำ ไม่เพียงพอใช้จ่าย ต้องรอขั้นตอนการตรวจสอบ พิจารณา หลายขั้นตอน ทำให้ชาวบ้านส่วนใหญ่ยอมกู้เงินนอกระบบ รวมถึงนำทรัพย์สินบางส่วนไปขายมาลงทุน

เช่นเดียวกับชาวบ้าน ในพื้นที่ บ้านพิมานท่า และบ้านปากบัง ต.พิมาน อ.นาแก จ.นคพนม ที่ประสบปัญหาน้ำท่วม มานานเกือบ 1 เดือน เนื่องจากมีพื้นที่ตั้งอยู่ในจุดบรรจบของลำน้ำบัง กับลำน้ำก่ำ แม่น้ำ สาขาสายหลัก ของแม่น้ำโขง ทำให้ได้รับผลกระทบหนักสุด หลังบ้านเรือน เกือบ 300 หลังคาเรือนถูกน้ำท่วมขังมานานเกือบ 1 เดือน ลดสู่ภาวะปกติ แต่นาข้าวถูกน้ำท่วมเสียหายกว่า 5,000 ไร่ ชาวบ้านต้องยอมกู้เงินลงทุนอีกรอบ เพื่อเร่งปักดำนารอบสอง เพื่อหวังเก็บผลผลิตไว้กินตลอดปี เพราะไม่มีรายได้จากอาชีพอื่น บางรายต้องเป็นภาระหนี้สินเพิ่ม

“นอกจากนี้ในส่วนของการช่วยเหลือให้กู้เพิ่ม ในเรื่องสินเชื่อธนาคาร ต้องยอมรับว่าขั้นตอนยุ่งยาก ต้องมีการตรวจสอบพิจารณาคุณสมบัติ หลายขั้นตอน อีกทั้งวงเงินกู้ได้น้อย บางรายมีปัญหาเพราะมีหนี้สินเก่าอีก ต้องยอมกู้นอกระบบ เพราะรวดเร็ว ไม่ต้องรอ ยอมเสียดอกเบี้ย หากเป็นไปได้ อยากให้รัฐบาลหาทางช่วยเหลือ ในรูปแบบอื่นด้วย เพราะการกู้สินเชื่อกับธนาคาร เป็นเรื่องยากสำหรับชาวบ้าน หลักทรัพย์ก็ไม่มี วอนพิจารณาหาทางช่วยเหลือ”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับแนวทางการช่วยเหลือเบื้องต้นทางด้าน จังหวัดนครพนม ได้มีการประกาศพื้นที่ประสบอุทกภัย ทั้งหมด 11 อำเภอ มีพื้นที่นาข้าวเสียหาย มากกว่า 2 แสนไร่ อยู่ระหว่างการพิจารณาช่วยเหลือจ่ายเงินชดเชยตามความเป็นจริง ไร่ละประมาณ 1,100 บาท แต่เกินคนละ 30 ไร่ ส่วนทางด้านธนาคาร ให้มีการพิจารณา ช่วยเหลือปล่อยสินเชื่อเพิ่ม ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ ทั้งในเรื่องของ ฟื้นฟูที่อยู่อาศัย รวมถึงผู้ประกอบการรายย่อย รวมถึงช่วยเหลือด้านการลงทุนแก่เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการช่วยเหลือคาดว่าพื้นที่ จ.นครพนม มีมูลค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่า 150 ล้านบาท

 

ที่มา : มติชนออนไลน์