ที่มา | เก็บมาเล่า |
---|---|
ผู้เขียน | สาวบางแค 22 |
เผยแพร่ |
เมล็ดขนุน (Jackfruit Seed) นอกจากอร่อยไม่แพ้เนื้อขนุนแล้ว ยังมีคุณค่าทางโภชนาการสูง ดีต่อสุขภาพ เพราะเมล็ดขนุนอุดมด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ โดยเฉพาะสารฟลาโวนอยด์ สารซาโปนิน และฟีนอลิก ต่อต้านการอักเสบ ปรับระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ซ่อมแซมส่วนที่เสียหายของดีเอ็นเอได้ ผลการวิจัยพบว่า สารสกัดจากเมล็ดขนุนช่วยลดการก่อมะเร็งในเส้นเลือดได้ถึง 61% (เฉพาะการศึกษาในหลอดทดลองและสัตว์)
นอกจากนี้ เมล็ดขนุนมีไฟเบอร์สูง ช่วยปรับสมดุลระบบย่อยอาหาร บรรเทาอาการท้องผูก บรรเทาอาการริดสีดวง และป้องกันโรคลำไส้อักเสบ ยิ่งไปกว่านี้ ไฟเบอร์ยังถือว่าเป็นพรีไบโอติก (Prebiotics) ซึ่งมีคุณสมบัติในการช่วยสนับสนุนการเจริญเติบโตของแบคทีเรียที่มีประโยชน์ในลำไส้ เมล็ดขนุนสามารถนำมาทำอาหารได้ทั้งเมนูคาว-หวาน เช่น แกงไตปลาเมล็ดขนุน แกงเขียวหวานเมล็ดขนุน แกงบวดเมล็ดขนุนมะพร้าวอ่อน เมล็ดขนุนต้ม ฯลฯ
เทคนิคย้อมสีธรรมชาติด้วยเมล็ดขนุน
ศูนย์บ่มเพาะฯวิทยาลัยสารพัดช่างอุดรธานี เล็งเห็นคุณค่าของเมล็ดขนุน จึงได้ทดลองนำเมล็ดขนุนมาสกัดเพื่อให้ได้สีแล้วนำเทคนิคการห่มเข้ามาใช้ในการย้อมสีผ้าที่มีสีสันสวยงามสะดุดตาและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว แตกต่างจากท้องตลาดทั่วไป ช่วยเพิ่มคุณค่าของผ้า สามารถสร้างธุรกิจใหม่ให้กับผู้สนใจ นำไปใช้สร้างอาชีพหลักหรืออาชีพเสริมได้ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของชุนชนท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี
ขั้นตอนการทำ
1. นำเมล็ดขนุนไปต้มเพื่อสกัดเอาสี
2. นำผ้าฝ้ายสามตะกรอไปแช่น้ำยามอแดนท์ทิ้งไว้อย่างน้อย 3 ชั่วโมง
3. นำผ้าขาวที่เตรียมไว้ไปย้อมสีที่ได้จากเมล็ดขนุน
4. บิดให้หมาดแล้วนำไปห่มกับผ้าฝ้าย 3 ตะกรอที่วางใบไม้สดไว้เพื่อทำลายผ้า
5. นำพลาสติกมาคลุมบนผ้าทั้งสองผืน แล้วม้วนด้วยเชือกฟางให้แน่น
6. นำฟิล์มถนอมอาหารมาห่อให้แน่นอีกครั้งเพื่อป้องกันน้ำเข้าระหว่างนึ่ง
7. นำไปนึ่งด้วยไฟอ่อนเป็นเวลา 2 ชั่วโมง
8. แกะห่อพลาสติกเพื่อนำใบไม้ออกจากผ้า แล้วนำผ้าที่ได้ไปตากในที่ร่มเป็นเวลา 1 สัปดาห์ จะได้ผลิตภัณฑ์ผ้าพิมพ์ลายย้อมสีเมล็ดขนุนด้วยเทคนิคการห่ม
ผลิตภัณฑ์จากการย้อมสีธรรมชาติด้วยเมล็ดขนุน เช่น กระเป๋าจำหน่าย 1,200 บาท ผ้าคลุมไหล่ ราคา 690 บาท สนใจติดต่อทาง Facebook : ศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจเพื่อการศึกษา วิทยาลัยสารพัดช่างอุดรธานี Shoppee : Handy cute
……………
ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก Facebook : อาชีวะ Marketplace
https://www.matichonacademy.com/content/food-story/article_53549