นราธิวาส ทุ่ม 37 ล้าน ปรับปรุงตลาดกลางเกษตรส่งออก

จังหวัดนราธิวาสทุ่มงบประมาณ 36.9 ล้านบาท ปรับปรุงโครงการตลาดกลางการเกษตรส่งออก ตำบลละหาร อำเภอยี่งอ ดันเป็นศูนย์กลางการรวบรวม กระจาย และแปรรูปผลไม้ ส่งออกมาเลเซีย อินโดฯ สิงคโปร์ ออสเตรเลีย ด้านรองผู้ว่าฯ เผยกำหนดแล้วเสร็จเต็มรูปแบบปี 2561 ขณะที่บริษัท ซัน โฟรเซ่น ฟรุ้ต เอกชนรายแรกเข้าตั้งโรงงานแปรรูปส่งออกผลไม้แช่แข็งปีละ 2.5 พันตัน
นางพาตีเมาะ สะดียามู รองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า การพัฒนาจังหวัดชายแดนใต้มีบริบทที่แตกต่างกัน สำหรับนราธิวาสเป็นทั้งพื้นที่ประกาศความมั่นคง เป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ และการยกระดับเมืองต้นแบบการค้าชายแดน ทำให้ 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ นราธิวาสใช้บริบทพื้นที่ชายแดนในการส่งออกลองกอง ผลไม้เด่นของจังหวัด โดยใช้ตลาดกลางการเกษตรเพื่อการส่งออกจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นที่รวบรวมเพื่อกระจายสินค้าทั้งเกษตร และปศุสัตว์ อย่างไรก็ตามเพื่อการพัฒนาให้สินค้ามีคุณภาพมากขึ้น จังหวัดได้รับงบประมาณ 36.9 ล้านบาท ในโครงการปรับปรุงตลาด เพิ่มเติมอาคารตลาดซื้อขายโค กระบือ และแพะ 4 หลัง งานระบบไฟฟ้า และระบบสุขาภิบาล โดยจะสร้างเสร็จสมบูรณ์ภายในเดือนมีนาคม 2561 นอกจากนี้ ยังครบครันทั้งอาคารรองรับสินค้า ห้องแช่เย็น โครงสร้างพื้นฐาน ทั้งหมดเป็นการบริหารจัดการคู่กันระหว่างภาครัฐและเอกชน

ทั้งนี้ พื้นที่ตลาดตั้งอยู่บนที่สาธารณประโยชน์ ตำบลละหาร อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส จากพื้นที่ทั้งหมด 320 กว่าไร่ ได้รับอนุมัติจากจังหวัดให้นำมาใช้ 35 ไร่ วัตถุประสงค์หลักใช้เป็นจุดรวบรวมสินค้า เพื่อกระจายสินค้า สร้างการแข่งขันในพื้นที่ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ ปัจจุบันมีเอกชนเข้ามาลงทุนสร้างโรงงานแปรรูป 1 ราย ได้แก่ บริษัท ซัน โฟรเซ่น ฟรุ้ต จำกัด
สำหรับจังหวัดนราธิวาสมีไม้ผลเศรษฐกิจสำคัญ ได้แก่ เงาะ มังคุด ทุเรียน และลองกอง พื้นที่ปลูก 1.3 แสนไร่ โดยปี 2560 คาดการณ์ว่าผลผลิตรวมทั้งหมด 14,188 ตัน ลดลงจากปี 2559 ร้อยละ 47 ที่มีผลผลิตรวม 27,065 ตัน ขณะที่ปริมาณทุเรียนรวม 3 จังหวัดชายแดนใต้ มีผลผลิตราว 4 หมื่นตัน จึงเป็นโอกาสที่จะเปิดให้ลูกค้านอกพื้นที่ โดยเฉพาะจีนเข้ามาซื้อผลผลิต โดยปี 2559 ที่ผ่านมา มีการกระจายสินค้าส่งไปยังท็อปส์ บิ๊กซีสาขาต่างๆ

นอกจากนี้ มีกลุ่มพ่อค้าจากจังหวัดพัทลุง นครศรีธรรมราช ชุมพร เข้ามาที่ตลาดขนผลไม้รอบละ 10 กว่าตัน อีกทั้งภาคราชการหลายหน่วยงานที่รับกระจายสินค้า เช่น มูลนิธิปิดทองหลังพระ ชุมนุมสหกรณ์ ธ.ก.ส. โดยอนาคตเอกชนมาช่วยดูแลพัฒนาการแปรรูป เช่น ทุเรียนแช่แข็ง ลองกองแช่แข็ง เป็นการเพิ่มมูลค่าวัตถุดิบในพื้นที่สำหรับผลไม้ที่ตกเกรด ส่วนช่วงที่ไม่มีผลไม้ตามฤดูกาล จะมีการนำผลผลิตจากภาคต่างๆ มาแปรรูปเพื่อส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มะม่วงที่ค่อนข้างได้รับความนิยมอย่างมากจากประเทศมาเลเซีย
“ต่อไปผู้ประกอบการข้างนอกจะต้องมาจุดนี้ สินค้าจะมารวมที่นี่ เราจะช่วยอำนวยความสะดวกดูแลความปลอดภัย จะกลายเป็นตลาดใหญ่ที่สุดที่รวบรวมผลผลิต 3 จังหวัดใต้ ถือว่าตอบโจทย์วิถีชีวิตของชาวบ้านมาก เพราะคนได้ทำงาน และมูลค่าเพิ่มเกิดในพื้นที่ ส่วนเรื่องปศุสัตว์ได้เตรียมแผนเปิดตลาดประมูลวัวไว้แล้ว อย่างไรก็ตามเรื่องรายได้ทางเศรษฐกิจยอมรับว่ารูปแบบการค้าของเราใช้ตัวเลขวัดสู้ไม่ได้ แต่ระดับเศรษฐกิจเราถือว่าไปแบบหน้ากระดาน”

นางพาตีเมาะ ยอมรับว่า สำหรับสถานการณ์ความรุนแรงถือเป็นปัญหาเดียวที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาพื้นที่ อย่างไรก็ตามได้รับการบูรณาการจากฝ่ายปกครอง โดยนายอำเภอยี่งอได้ให้ความมั่นใจในเรื่องความปลอดภัยของเส้นทาง โดยในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้คาดว่าตลาดจะคึกคัก มีพ่อค้า ชาวบ้าน มาซื้อขายกันมากขึ้น เพราะเป็นช่วงที่ผลไม้ออกมาก
“มองว่าตลาดในอนาคตต้องโตทีละนิด เพราะเราอยู่ในพื้นที่พิเศษ” รองผู้ว่าฯ นราธิวาสกล่าวย้ำ
ด้าน นายเจตน์ มาหามะ ประธานกรรมการบริษัท ซัน โฟรเซ่น ฟรุ้ต จำกัด เอกชนรายเดียวที่มาลงทุนตั้งโรงงานแปรรูปผลไม้ในตลาดกลาง กล่าวว่า บริษัทได้ทำสัญญาขอเช่าพื้นที่เป็นเวลา 10 ปี โดยลงทุนโรงงานแปรรูปประมาณ 10 ล้านบาท ใน 3 กิจกรรมหลัก ได้แก่ 1. รวบรวม 2. แปรรูป และ 3. รวบรวมจากการแปรรูป โดยพยายามจะทำทุกสินค้าในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ เช่น ทุเรียน มังคุด ลองกอง สะตอ ชะอม ตะไคร้ พืชผักผลไม้ต่างๆ โดยนำมาแปรรูปด้วยการแช่แข็ง มีสัดส่วนการส่งออก 90% ไปที่ประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และออสเตรเลีย และอีก 10% จำหน่ายในประเทศ
นายเจตน์ บอกว่า ปัจจุบันโรงงานมีกำลังการผลิต 2,500 ตัน/ปี เป็นลองกอง 300 ตัน มังคุด 600 ตัน ที่เหลือเป็นผักผลไม้ชนิดอื่นๆ ขณะที่ทุเรียนผลผลิตรวม 3 จังหวัด ประมาณ 4 หมื่นตัน แต่เราแปรรูปเพียง 10% ของผลผลิตทั้งหมดเท่านั้น มองว่ายังมีโอกาสของนักลงทุนอีกมาก เพราะพื้นที่มีจุดแข็งเรื่องวัตถุดิบ และแรงงานที่มีความพร้อม ที่สำคัญอยู่ใกล้ชายแดน 4-5 แห่ง
ทั้งจังหวัดนราธิวาส และสงขลา มองว่าหากนักลงทุนสนใจก็จะเป็นโอกาส เพราะตลาดยังต้องการสูง เช่น มาเลเซียที่มีศักยภาพไปถึงประเทศตะวันออกกลาง อาหรับ อินเดีย ขณะที่สิงคโปร์สามารถกระจายต่อไปทั่วโลก

ขอบคุณข้อมูลจากประชาชาติธุรกิจ