สหกรณ์การเกษตรเขาคิชฌกูฏ จำกัด ต้นแบบสหกรณ์ส่งออกทุเรียนลุยตลาดจีน ใช้ระบบตลาดนำการผลิต ช่วยเพิ่มช่องทางการตลาดให้มีความหลากหลาย

นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังร่วมลงพื้นที่กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตรวจเยี่ยมโรงคัดบรรจุผลไม้สหกรณ์การเกษตรเขาคิชฌกูฏ จำกัด ว่า ในปี 2567 กรมได้วางแนวทางการขับเคลื่อนงานตามนโยบายของ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ “เกษตรกรต้องอยู่ดี สินค้าเกษตรมูลค่าสูง ทรัพยากรเกษตรยั่งยืน” ซึ่งจังหวัดจันทบุรีนับเป็นพื้นที่ส่งออกผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญของประเทศไทย โดยเฉพาะ “ทุเรียน” ที่สามารถครองส่วนแบ่งตลาดทุเรียนสดในจีนได้ถึงร้อยละ 65.15 ด้วยปริมาณการนำเข้า 928,976 ตัน

นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์
นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์

ดังนั้น การยกระดับขีดจำกัดและความสามารถด้านการรวบรวมผลผลิตของสหกรณ์การเกษตรในพื้นที่ พร้อมกับการควบคุมคุณภาพผลผลิตให้ได้มาตรฐาน จึงเป็นปัจจัยสำคัญในการวางแผนเตรียมความพร้อมสำหรับฤดูกาลผลิต ปี 2567 ที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ต้องบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานของกระทรวงเกษตรฯ ในพื้นที่ ผลักดันนโยบายของกระทรวงให้สัมฤทธิ์ผล ซึ่งการลงพื้นที่ครั้งนี้ ทำให้มั่นใจได้ว่าสหกรณ์การเกษตรเขาคิชฌกูฏ จำกัด เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่ได้อย่างเข้มแข็ง

สหกรณ์การเกษตรเขาคิชฌกูฏ จำกัด เป็นสหกรณ์ในจังหวัดจันทบุรีที่มีศักยภาพในการส่งออกผลไม้ไปยังประเทศจีนได้เป็นจำนวนมากและมีคุณภาพ เนื่องด้วยสหกรณ์มีความพร้อมในการดำเนินงานครบทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายบุคลากร ฝ่ายจัดการดำเนินการ รวมถึงเครื่องมืออุปกรณ์การตลาด และอาคารสถานที่ ซึ่งสหกรณ์การเกษตรเขาคิชฌกูฏ จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งเป็นสหกรณ์ เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2537 ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 1,325 คน โดยมีการดำเนินธุรกิจ 4 ธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจรับฝากเงิน  ธุรกิจสินเชื่อ ธุรกิจจัดหาสินค้ามาจำหน่าย และธุรกิจรวบรวมผลผลิต สร้างรายได้ให้แก่สหกรณ์เฉลี่ยปีละ 300 ล้านบาท สหกรณ์มีทุนดำเนินงานกว่า 89 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 4.49 ล้านบาท

โดยสหกรณ์ให้ความสำคัญเรื่องการส่งเสริมให้สมาชิกวางแผนการผลิตควบคู่กับวางแผนการตลาด ผ่านการส่งเสริมให้มีกลุ่มผู้ผลิตสินค้าคุณภาพ ได้แก่ กลุ่มทุเรียน กลุ่มมังคุด ซึ่งจุดแข็งของสหกรณ์คือความโดดเด่นในการดำเนินธุรกิจรวบรวมผลผลิตทางการเกษตร โดยสามารถรวบรวมผลผลิตทุเรียน และมังคุด จากสมาชิกและบุคคลภายนอก เพื่อจำหน่ายไปยังบริษัทส่งออกได้สูงถึง 3,055 ตัน มีมูลค่ากว่า 292 ล้านบาท แบ่งเป็นมังคุด จำนวน 2,056 ตัน และทุเรียน จำนวน 999 ตัน (ณ สิ้นปีบัญชี 30 กันยายน 2566)

Advertisement

อีกทั้งสหกรณ์ยังดำเนินงานโดยยึดหลัก “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” ใช้ระบบตลาดนำการผลิต เพิ่มช่องทางการตลาดให้มีความหลากหลาย มีการจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจระหว่างผู้ซื้อ-ผู้ขาย เพื่อสร้างเครือข่ายธุรกิจเกษตรและสินค้าเกษตรแปรรูป เพื่อเป็นผลิตภัณฑ์เกษตรชุมชนที่เชื่อมโยงกับตลาดชุมชน พร้อมกับหาวิธีการการลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มผลผลิตให้สูงขึ้น ซึ่งสหกรณ์ได้คิดวิธีการลดต้นทุนในส่วนของค่าปุ๋ยเพื่อช่วยเหลือสมาชิก โดยเตรียมความพร้อมการใช้ปุ๋ยจากธรรมชาติเป็นสารปรับปรุงดินทำจากเปลือกทุเรียนไว้ใช้เอง ผ่านกระบวนการแปรรูปผลผลิตทุเรียนแบบครบวงจร วิธีการคือนำเปลือกทุเรียนไปสับย่อยและหมักเป็นสารปรับปรุงดินทำจากเปลือกทุเรียนเพื่อจำหน่ายให้สมาชิกในราคาย่อมเยา สามารถลดต้นทุนการผลิตให้สมาชิกเฉลี่ย 2.6 บาทต่อกิโลกรัม

Advertisement

โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์สนับสนุนงบประมาณตามโครงการสนับสนุนอุปกรณ์แปรรูปผลผลิตทางการเกษตร จำนวน 33,510,600 บาท สำหรับสร้างอาคารรวบรวมผลผลิต อาคารห้องเย็นแปรรูปผลผลิตการเกษตร อาคารโรงผสมปุ๋ย เครื่องผสมปุ๋ย และเครื่องอัดเม็ดปุ๋ย เพื่อยกระดับคุณภาพสินค้า และเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการแก่สมาชิกด้วย นอกจากนี้ สหกรณ์ยังได้เข้าร่วมโครงการต่างๆ หลายโครงการ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อสมาชิก อาทิ โครงการสนับสนุนเงินทุนเพื่อสร้างระบบน้ำในไร่นาของสถาบันเกษตรกร โครงการส่งเสริมอาชีพสมาชิกสหกรณ์ที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง และโครงการลดต้นทุนการผลิตเพื่อส่งเสริมให้สมาชิกสามารถพึ่งพาตนเองและพัฒนาต่อยอดอาชีพเกษตรกรได้ รวมทั้งโครงการสร้างทายาทสหกรณ์ภาคการเกษตร Smart Coop เพื่อเตรียมความพร้อมคนรุ่นใหม่เพื่อสืบสานอาชีพเกษตรกร เป็นต้น

“สำหรับแผนการดำเนินงานในอนาคตเพื่อเตรียมความพร้อมในการรองรับผลผลิตตามฤดูกาลผลิต ปี 2567 สหกรณ์การเกษตรเขาคิชฌกูฏ จำกัด ตั้งเป้าใช้อุปกรณ์การตลาดที่ได้รับการสนับสนุนให้เต็มศักยภาพ โดยจะเพิ่มปริมาณการรวบรวมผลผลิต เป็นจำนวน 3,600 ตัน (เพิ่มจากเดิมประมาณ 600 ตัน) แบ่งเป็นทุเรียน จำนวน 2,000 ตัน และมังคุด จำนวน 1,600 ตัน ซึ่งเชื่อมั่นว่าสหกรณ์มีศักยภาพเพียงพอที่จะดำเนินการได้ โดยบูรณาการการทำงานกับหน่วยงานในกระทรวงเกษตรฯ และจังหวัดจันทบุรี ในการตรวจสอบคุณภาพผลผลิตให้ได้ตามมาตรฐานที่กรมวิชาการเกษตรกำหนด ทำให้ผลผลิตเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ” อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม นอกจากสหกรณ์การเกษตรเขาคิชฌกูฏ จำกัด แล้ว จังหวัดจันทบุรียังมีสหกรณ์ที่ดำเนินธุรกิจรวบรวมและกระจายผลไม้อีกจำนวน 8 แห่ง ได้แก่ สหกรณ์การเกษตรเมืองจันทบุรี จำกัด, สหกรณ์การเกษตรเมืองขลุง จำกัด, สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส.จันทบุรี จำกัด, สหกรณ์การเกษตรนายายอาม จำกัด, สหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านอ่างคีรี จำกัด, สหกรณ์การเกษตรมะขาม จำกัด, สหกรณ์การเกษตรสอยดาว จำกัด และสหกรณ์นิคมสอยดาว จำกัด ซึ่งสหกรณ์เหล่านี้จะรวบรวมผลผลิตของสมาชิกส่งจำหน่ายตลาดภายในประเทศผ่านห้างโมเดิร์นเทรด รวมถึงผ่านเครือข่ายสหกรณ์ด้วยกันเอง โดยผลผลิตที่มีปริมาณรวบรวมมากที่สุด คือ มังคุด ที่จำนวน 2,257 ตัน ในขณะที่ทุเรียนมีปริมาณการรวบรวมอยู่ที่ 1,350 ตัน (ณ สิ้นปีบัญชี 30 กันยายน 2566)