กรมประมง…เผยชื่อ เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติด้านการประมง 5 สาขา เตรียมเข้ารับรางวัลโล่พระราชทาน ในวันพืชมงคล 10 พฤษภาคม นี้

ด้วยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายให้หน่วยงานในสังกัดดำเนินการคัดเลือกเกษตรกร        สถาบันเกษตรกรและสหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ระดับจังหวัดจนถึงระดับประเทศ เพื่อเป็นการยกย่อง เชิดชูเกียรติเกษตรกร สถาบันเกษตรกรและสหกรณ์ ที่มีผลงานดีเด่น ให้เกษตรกรได้เกิดความภาคภูมิใจในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม เสริมสร้างขวัญและกำลังใจในการสร้างและพัฒนาผลงานให้เกิดผลดีต่อประเทศชาติต่อไป โดยเกษตรกรและผู้แทนสถาบันเกษตรกร และสหกรณ์ดีเด่น จะได้เข้ารับพระราชทานโล่รางวัล ในงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปี 2567 ณ พลับพลาที่ประทับมณฑลพิธีท้องสนามหลวง ในวันที่ 10 พฤษภาคม 2567 นี้ 

นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า…กรมประมง ได้ดำเนินการคัดเลือกเกษตรกร บุคคลทางการเกษตร และสถาบันเกษตรกรดีเด่นระดับประเทศด้านการประมง เป็นประจำในทุกปี โดยผ่านกระบวนการคัดเลือก ตั้งแต่ระดับจังหวัด ระดับเขต และระดับประเทศ เพื่อให้ได้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรและสหกรณ์ที่มีความเหมาะสมอย่างแท้จริง สำหรับผลการคัดเลือกเข้ารับพระราชทานโล่รางวัลเกษตรกร และสถาบันเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติด้านการประมง ประจำปี 2567 รวมทั้งสิ้น 5 สาขา แบ่งออกเป็น

ประเภทเกษตรกรและบุคคลทางการเกษตรดีเด่นแห่งชาติ จำนวน 3 สาขา ประกอบด้วย

นายสุชาติ ปิยะศิรินนท์ จังหวัดนครปฐม

1. สาขาอาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด ได้แก่ นายสุชาติ ปิยะศิรินนท์ จังหวัดนครปฐม ดำเนินกิจการเพาะเลี้ยงพันธุ์ปลาน้ำจืด ได้แก่ ปลานิลแปลงเพศ ปลานิลแดง ปลาช่อน ปลาตะเพียน ปลาดุก ปลาชะโอน มีจุดเด่นในการเพาะพันธุ์ลูกปลาช่อน ที่สามารถเลี้ยงได้ด้วยอาหารเม็ดสำเร็จรูป ปัจจุบันมีพื้นที่เพาะเลี้ยงทั้งหมดจำนวน 88 ไร่ มีศักยภาพในการผลิตลูกพันธุ์ปลาน้ำจืด ได้จำนวนมากกว่า 66,000,000 ตัวต่อปี

นายณัฎฐชัย นาคเกษม

2. สาขาอาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำกร่อย ได้แก่ นายณัฎฐชัย นาคเกษม จังหวัดนครศรีธรรมราช ดำเนินกิจการเพาะเลี้ยงปูทะเล 8 ปี ได้รับมาตรฐานการเพาะเลี้ยงสัตว์นํ้าที่ดีสำหรับการผลิตสัตว์นํ้า (GAP) ของกรมประมงและเป็นฟาร์มเลี้ยงปูทะเลครบวงจร โดยมีบ่อเลี้ยง บ่อชำ การเลี้ยงปูทะเลในบ่อพลาสติกและการเลี้ยงปูไข่แบบคอนโด เป็นฟาร์มต้นแบบการเลี้ยงปูทะเลในพื้นที่บ่อกุ้งทิ้งร้าง และเป็นฟาร์มที่สามารถถ่ายทอดเทคโนโลยีและสร้างอาชีพให้กับเกษตรกรรายอื่นๆ ได้

นายธีรุตม์ อนวัชศิริวงศ์

3. สาขาอาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำสวยงามและพรรณไม้น้ำ ได้แก่ นายธีรุตม์ อนวัชศิริวงศ์ จังหวัดพะเยา ดำเนินกิจการเพาะเลี้ยงปลากัดสวยงาม ปลากัดป่า โดยใช้เทคนิคการผลิตไรแดงน้ำใส โดยใช้สูตรอาหารเพื่อขยายไรแดงที่ผลิตด้วยตนเอง มีการใช้สีเสียดแท่งผสมน้ำไว้ใช้ปรับสภาพน้ำสำหรับเลี้ยงปลากัดทดแทนการใช้ใบหูกวาง ทำให้ลดอัตราการเกิดโรคของปลากัดและเพิ่มสีสันให้ปลา มีการวางแผนการผลิตสร้างเครือข่ายการผลิตปลากัด เพื่อจำหน่ายในประเทศและต่างประเทศ ผ่านช่องทางออนไลน์สร้างรายได้ ไม่น้อยกว่า 60,000 บาทต่อเดือน

ประเภทสถาบันเกษตรกรหรือกลุ่มเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติด้านการประมง จำนวน 2 กลุ่ม ประกอบด้วย

Advertisement

1. กลุ่มเกษตรกรทำประมงหรือกลุ่มเกษตรกรเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ได้แก่ กลุ่มประมงพื้นบ้านไหนหนัง จังหวัดกระบี่ ดำเนินกิจกรรมฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำชายฝั่ง ปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 59 ราย มีพื้นที่บริหารจัดการโดยชุมชนประมงครอบคลุมกว่า 15,000 ไร่ โดยกลุ่มได้พัฒนารูปแบบการอนุรักษ์ การฟื้นฟู การทำการประมงพื้นบ้าน จัดสรรทรัพยากรสัตว์น้ำในชุมชน เน้นพึ่งพาตัวเอง สร้างเครือข่ายชาวประมง และขยายเขตอนุรักษ์สัตว์น้ำ ใช้เครื่องมือประมงที่ถูกต้องตามกฎหมาย มีการซ่อมแซมเครื่องมือประมงและเรือประมง โดยรายได้หลักของสมาชิกมาจากการทำการประมงและเชื่อมโยงสินค้าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมงเพื่อนำไปแปรรูป ส่งสินค้าสัตว์น้ำให้แก่กลุ่มแปรรูปสัตว์น้ำในพื้นที่ และเชื่อมโยงไปสู่การท่องเที่ยววิถีชุมชน

Advertisement

2. กลุ่มเกษตรกรแปรรูปสัตว์น้ำ ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรทุ่งรวงทอง จังหวัดตรัง ผลงานเด่น คือ ความคิดริเริ่มเพื่อให้คนในชุมชนได้สืบทอดเจตนารมณ์และภูมิปัญญารักษาสมบัติทรัพย์ในดินสินในน้ำ เห็นคุณค่าของทรัพยากรสัตว์นํ้าในท้องทะเลหน้าบ้าน จึงรวมตัวกันและจัดตั้งกลุ่ม โดยนำวัตถุดิบสัตว์นํ้าที่จับได้มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์หลากหลายเพื่อเพิ่มมูลค่า พัฒนาและยกระดับผลผลิตในชุมชน ให้เป็นสินค้าคุณภาพ นอกจากนั้น ยังพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์จากสัตว์นํ้าที่ไม่นิยมบริโภคเพิ่มมูลค่าและสร้างรายได้ให้กับกลุ่มแม่บ้านอีกด้วย

สำหรับเกณฑ์การให้คะแนนคัดเลือกเกษตรกรดีเด่น และสถาบันเกษตรกรดีเด่น จะพิจารณาแตกต่างกันในแต่ละด้าน กล่าวคือ เกณฑ์การให้คะแนนการคัดเลือกเกษตรกรดีเด่นพิจารณาให้คะแนนใน 4 ด้าน ได้แก่

1. ความคิดริเริ่ม และความพยายามฟันฝ่าอุปสรรคในการสร้างผลงาน

2. ผลงานและความสำเร็จของผลงาน ทั้งปริมาณและคุณภาพ ตลอดจนระยะเวลาที่ปฏิบัติงานและความยั่งยืนในอาชีพ

3. ความเป็นผู้นำและการเสียสละ เพื่อประโยชน์ส่วนรวมในด้านต่างๆ และ

4. การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในขณะที่สถาบันเกษตรกรดีเด่น มีเกณฑ์การพิจารณาให้คะแนนใน 5 ด้าน ดังนี้ 1. ความคิดริเริ่ม 2. ความสามารถในการบริหารและการจัดการสถาบัน 3. บทบาทและการมีส่วนร่วมของสมาชิกต่อสถาบัน 4. ความมั่นคงและฐานะทางเศรษฐกิจของสถาบัน และ 5. การทำกิจกรรมด้านสาธารณประโยชน์ และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

โดยเกษตรกรที่ได้รับการพิจารณาคัดเลือกเป็นเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติรายบุคคลนั้นต้องมีคุณสมบัติต่างๆ อาทิ เป็นเกษตรกรที่มีสัญชาติไทย มีความประพฤติดีไม่เคยมีประวัติเสื่อมเสียมาก่อน ประกอบอาชีพด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต ยอมเสียสละเพื่อส่วนรวม มีผลงานทางการเกษตรดีเด่นเป็นพิเศษ และเผยแพร่ให้แก่ส่วนรวมได้นำไปใช้ประโยชน์ สมควรแก่การยกย่องให้เป็นตัวอย่างแก่บุคคลอื่น ที่สำคัญต้องเป็นผู้ที่ไม่เคยได้รับพระราชทานโล่รางวัลเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติในสาขาเดียวกันมาก่อน และในกรณีสถาบันเกษตรกรดีเด่น ต้องมีคุณสมบัติเป็นสถาบันเกษตรกรที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย หรือเป็นกลุ่มที่รวมตัวกันอย่างเข้มแข็ง และขึ้นทะเบียนเพื่อรับการส่งเสริมและสนับสนุนจากส่วนราชการมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี มีข้อมูลย้อนหลังให้คณะกรรมการตรวจสอบ อย่างน้อย 3 ปี หากเป็นสถาบันเกษตรกรที่เคยได้รับพระราชทานโล่รางวัลดีเด่นแห่งชาติมาแล้วจะต้องเว้นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี จึงจะมีสิทธิ์ได้รับการพิจารณาใหม่

อธิบดีกรมประมง กล่าวทิ้งท้ายว่า…ขอแสดงความยินดีและขอยกย่องเชิดชูเกียรติแก่เกษตรกรดีเด่น และสถาบันเกษตรกรดีเด่นที่ได้รับรางวัลทั้ง 5 สาขา ที่ทำคุณประโยชน์และเผยแพร่ผลงานที่โดดเด่นในงานด้านการประมง จนเป็นที่ประจักษ์ เป็นแบบอย่างและแรงบันดาลใจให้กับเกษตรกรรายอื่นให้มีความมุ่งมั่นในการประกอบอาชีพ เป็นแรงผลักดันภาคการเกษตรของไทยให้มีความเข้มแข็งและเติบโตไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน