เผยแพร่ |
---|
นายนิรันดร์ มูลธิดา รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมหารือการบริหารจัดการสินค้าลำไยในสถาบันเกษตรกร ผ่านทางช่องทางออนไลน์ในระบบ Zoom Meeting โดยถ่ายทอดสัญญาณจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ กรุงเทพมหานคร ไปยังสำนักงานสหกรณ์จังหวัด 7 จังหวัด
นายนิรันดร์ มูลธิดา รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า ผลผลิตลำไยที่กำลังจะมีในฤดูกาลใกล้เข้ามานี้ จำนวนผลผลิต 70-80% อยู่ในจังหวัดเชียงใหม่และลำพูน ซึ่งประเทศคู่ค้าใหญ่สุดอย่างประเทศจีน มีการรับซื้อผลผลิตลำไยอบแห้งเป็นจำนวนมาก แต่เมื่อรูปแบบการบริโภคมีการเปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่เคยบริโภคเป็นลำไยอบแห้งปรับเปลี่ยนมาบริโภคลำไยสดมากขึ้น และการขนส่งในปัจจุบันใช้ระยะเวลาลดลง จึงทำให้ผู้บริโภคในประเทศจีนสามารถทานลำไยสดทดแทนได้ ส่งผลให้การบริโภคลำไยอบแห้งในปัจจุบันมีการส่งออกไปในปริมาณที่น้อยลง ดังนั้น การกระจายลำไยสดที่ได้คุณภาพภายในประเทศและมีมาตรฐานจึงเป็นมาตรการสำคัญ
“ปีนี้กรมส่งเสริมสหกรณ์ร่วมกับสหกรณ์การเกษตร ได้เข้าร่วมโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการด้านการตลาดสินค้าลำไย ในสถาบันเกษตรกรฤดูกาลผลิตปี 2567 โดยมีเป้าหมายกระจายลำไยสดไปทั่วภายในประเทศประมาณ 70,000 ตัน ซึ่งการรองรับผลผลิตในครั้งนี้ ได้มีโครงการที่ต้องการให้รัฐบาลเข้ามาสนับสนุน เพื่อมีมาตรการช่วยเหลือพี่น้องชาวสวนลำไยและช่วยเหลือสหกรณ์ รวมไปถึงหน่วยราชการต่างๆ เพื่อให้ขับเคลื่อนฤดูกาลลำไยของปีนี้ให้ผ่านไปได้” นายนิรันดร์ กล่าว
สำหรับการประชุมในครั้งนี้ รองอธิบดีกล่าวเสริมอีกว่า ถือเป็นการชี้แจงเกี่ยวกับมาตรการรองรับการบริหารจัดการสินค้าลำไย รวมทั้งสถานการณ์ลำไยฤดูกาลผลิต ปี 2567 ที่จะออกผลผลิตมาในเดือนมิถุนายน-กันยายน และจะมีผลผลิตออกมาสู่ตลาดมากในช่วงเดือนสิงหาคมนี้ ซึ่งในปีนี้คาดการณ์ว่าจะมีผลผลิตลำไยสดเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วประมาณ 10% และเพื่อเป็นการชี้แจงให้จังหวัดและสหกรณ์ที่จะเข้าร่วมโครงการทราบ รวมถึงมาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลจะเข้าไปช่วยเกษตรกรชาวสวนลำไย
ทั้งนี้ กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้รับมอบหมายให้บริหารจัดการผลผลิตลำไย ในการกระจายลำไยในฤดูจำนวน 70,000 ตัน โดยใช้แนวทางสนับสนุนค่าบริหารจัดการลำไยให้กับสหกรณ์ที่เข้าร่วมโครงการในการกระจายลำไยอยู่ที่กิโลกรัมละ 5 บาท และสนับสนุนเงินทุนกองทุนพัฒนาสหกรณ์ในการรวบรวมผลผลิตลำไย โดยอาจเป็นการชดเชยดอกเบี้ยให้สหกรณ์ร้อยละ 1 มีเป้าหมายเบื้องต้น คือ สหกรณ์ผู้ผลิตลำไย 20 แห่ง 6 จังหวัด ในพื้นที่ภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ พะเยา ลำปาง ลำพูน เชียงราย และน่าน
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้หารือถึงการดำเนินงานตามมติคณะทำงานพัฒนาตลาดและการตลาดสินค้าและผลิตภัณฑ์ลำไย โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์อยู่ระหว่างการนำเสนอโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ ด้านการตลาดสินค้าลำไยในสถาบันเกษตรกรฤดูกาลผลิตปี 2567 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อบรรเทาผลกระทบให้กับสมาชิกสหกรณ์ และสร้างเสถียรภาพปริมาณและราคา พร้อมทั้งเพิ่มสัดส่วนการบริโภคลำไยสดภายในประเทศและประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ รวมถึงมาตรการส่งเสริมการรวบรวมเพื่อการแปรรูป ตลอดจนเพื่อพัฒนาผลผลิตลำไยของประเทศไทยให้มีคุณภาพสูงขึ้นอีกด้วย