แนะเกษตรกรพิจิตร ปลูกอ้อยโรงงาน และ มะพร้าว ทดแทนพื้นที่นาไม่เหมาะสม

สศท. 12 เปิดผลศึกษาแนวทางการบริหารจัดการเขตเกษตรเศรษฐกิจสินค้า  โดยใช้ Agri – Map เผย จังหวัดพิจิตร มีพื้นที่เหมาะสมในการเพาะปลูกข้าวนาปี คิดเป็นร้อยละ 91.90 ของเนื้อที่เพาะปลูกทั้งหมด แนะเกษตรกรในพื้นที่ไม่เหมาะสม สามารถปรับเปลี่ยนไปปลูกอ้อยโรงงาน และมะพร้าวทดแทนได้ ซึ่งได้ผลตอบแทนที่ดีกว่า

นายคมสัน  จำรูญพงษ์  รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  เปิดเผยถึงผลการศึกษาแนวทางการบริหารจัดการเขตเกษตรเศรษฐกิจสินค้าที่สำคัญ (Zoning) โดย Agri – Map จังหวัดพิจิตร โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 12 จังหวัดนครสวรรค์ (สศท.12) ดำเนินการวิเคราะห์สภาพทางกายภาพร่วมกับสภาพทางเศรษฐกิจ และกำหนดแผนงาน/โครงการเกี่ยวกับการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพืชเศรษฐกิจสำคัญในพื้นที่เหมาะสมมาก (S1)  ปานกลาง (S2) และการปรับเปลี่ยนการผลิตในพื้นที่เหมาะสมน้อย (S3) และไม่เหมาะสม (N) เป็นการผลิตพืชทางเลือกอื่นที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า

สำหรับจังหวัดพิจิตร มีสินค้าเกษตรที่สำคัญ ที่มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมสูงสุด 4 ลำดับแรก ได้แก่ ข้าวนาปี ไข่เป็ด ส้มโอ และมะนาว สำหรับการศึกษาครั้งนี้ สศท.12 ได้ใช้ Agri-Map กำหนดพื้นที่ในการจัดเก็บข้อมูลทางการผลิต ข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์ดังกล่าวใช้ประกอบการตัดสินใจทำการผลิตของเกษตรกร และเป็นแผนส่งเสริมการผลิตทางเกษตรที่เหมาะสมกับพื้นที่

ด้านนายชีวิต  เม่งเอียด  ผอ.สศท.12 กล่าวถึงผลการศึกษาว่า จากการใช้ Agri-Map จัดเก็บข้อมูลทางการผลิต ได้แก่ ผลผลิตต่อไร่ ต้นทุนการผลิต ราคา ผลตอบแทน และข้อมูลบัญชีสมดุลของสินค้าเกษตรที่สำคัญ ตัวอย่างในผลการศึกษา พบว่า

ข้าวนาปี มีพื้นที่เหมาะสมในการเพาะปลูก คิดเป็นร้อยละ 91.90 ของเนื้อที่เพาะปลูกทั้งหมด มีพื้นที่ไม่เหมาะสมในการเพาะปลูก คิดเป็นร้อยละ 8.10 ของเนื้อที่เพาะปลูกทั้งหมด สำหรับพื้นที่ไม่เหมาะสม (S3,N) ของการปลูกข้าวจังหวัดพิจิตร สามารถปรับเปลี่ยนไปปลูกสินค้าอื่น ได้ดังนี้

ทางเลือกที่ 1 การปรับเปลี่ยนพื้นที่ไม่เหมาะสมสำหรับการปลูกข้าวเป็นพื้นที่เหมาะสมสำหรับการปลูกอ้อยโรงงานทดแทน พบว่า การปลูกข้าวในพื้นที่ไม่เหมาะสมจะให้ผลตอบแทนสุทธิไร่ละ 1,002.76 บาท หากปรับเปลี่ยนไปปลูกอ้อยโรงงานจะได้ผลตอบแทนสุทธิไร่ละ 3,841.52 บาท

ทางเลือกที่ 2 การปรับเปลี่ยนพื้นที่ไม่เหมาะสมสำหรับการปลูกข้าวโดยปลูกมะพร้าวทดแทน พบว่าการปลูกข้าวในพื้นที่ไม่เหมาะสมจะให้ผลตอบแทนสุทธิไร่ละ 1,002.76 บาท หากปรับเปลี่ยนไปปลูกมะพร้าวจะได้ ผลตอบแทนสุทธิ 5,393.21 บาท  ทั้งนี้ หากสนใจข้อมูลผลการสำรวจ สามารถขอทราบรายละเอียดเพิ่มเติมและคำแนะนำได้ที่ส่วนแผนพัฒนาเขตเศรษฐกิจการเกษตร สศท.12 โทร. 056 803 525 หรือ อีเมล [email protected]