วิทยาลัยประมงติณสูลานนท์ แนะวิธีเลี้ยงสาหร่ายผมนาง ทำง่าย ใครๆ ก็ทำได้

สาหร่ายผมนาง (Gracilaria fisheries) บางแห่งเรียกว่า สายสาหร่ายข้อ สาหร่ายเขากวาง สาหร่ายวุ้น   พบได้บริเวณป่าชายเลนทั่วโลก ซึ่งเป็นน้ำกร่อยและน้ำเค็ม สำหรับเมืองไทย พบสาหร่ายผมนางจำนวนมาก บริเวณลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาตอนล่าง โดยเฉพาะบริเวณรอบเกาะยอ จะพบสาหร่ายผมนาง ที่ระดับความลึก 1-2 เมตร โดยเติบโตเป็นพุ่มสูง 15-20 เซนติเมตร แตกแขนงเป็นเส้นกิ่งก้านยาวมีสีน้ำตาล คล้ายเส้นผม จึงเรียกกันว่า “สาหร่ายผมนาง” เป็นสาหร่ายที่อยู่กับชาวเกาะยอ จังหวัดสงขลา มาเป็นเวลานาน จัดเป็นวัตถุดิบอาหารพื้นเมืองของจังหวัดสงขลาที่ได้รับความนิยมมากว่า 100 ปี

สาหร่ายผมนาง
สาหร่ายสด

กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรเกาะยอ มักออกไปหาสาหร่ายผมนางในช่วงฤดูร้อน สาหร่ายสดๆ มีสีดำ นำมาล้างน้ำแล้วตากแดด ตากน้ำค้าง นานถึง 7-10 วัน จะเริ่มแห้งและเปลี่ยนเป็นสีขาวมองเผินๆ คล้ายหมี่ขาว “ไปเกาะยอต้องกินยำสาหร่าย” ซึ่งเป็นเมนูอาหารขึ้นชื่อของเกาะยอ ชาวบ้านจะนำสาหร่ายที่ตากแห้งไว้แล้ว ไปแช่น้ำประมาณ 10 นาที จากนั้นนำสาหร่ายไปยำกับน้ำมะขาม กะทิ น้ำตาล มะพร้าวคั่ว ถั่ว ซึ่งเป็นเครื่องยำแบบโบราณ กินกับใบชะพลู ห่อกินเหมือนเมี่ยง

สาหร่ายผมนาง มีสารอาหารที่เป็นประโยชน์หลายชนิดคือ วิตามินบี 1 บี 2 วิตามินซี ไนอะซิน เบตาแคโรทีน คาร์โบไฮเดรต แคลเซียม โซเดียม แมกนีเซียม ฟอสฟอรัส ไอโอดีน เหล็ก และสังกะสี ฯลฯ นับว่ามีคุณค่าทางโภชนาการสูง มีประโยชน์ช่วยป้องกันโรคหลายอย่าง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคตับ โรคโลหิตจาง และโรคมะเร็ง เป็นต้น สาหร่ายผมนาง กินอร่อย จึงนิยมนำมาบริโภคหลากหลายเมนู ทั้งเมนูยำ แกงจืด ก็กินได้อร่อย รวมทั้งใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ

สาหร่ายผมนางตากแห้ง

การเพาะเลี้ยงสาหร่าย

วิทยาลัยประมงติณสูลานนท์ ได้ศึกษาการแยกลักษณะของสาหร่ายพบว่า สาหร่ายที่มีลักษณะของ Talus กลมหรือแบน อวบน้ำ แตกแขนงมากหรือน้อยแล้วแต่ชนิด ลักษณะของใบยาว เรียกว่า สาหร่ายผมนาง  ส่วนลักษณะอวบน้ำและแตกแขนงคล้ายเขากวาง เรียกว่า สาหร่ายเขากวาง หากมีลักษณะเป็นข้อๆ ต่อกัน เรียกว่า สาหร่ายข้อ

สาหร่ายสกุลกราซิลาเรีย มีพฤติกรรมของการสืบพันธุ์แบบมีเพศเป็น 3 ลักษณะ ประกอบด้วย Gametophyte, Sporophyte และ Carposporophyte stages โดยสลับกันไป สามารถรวบรวมสปอร์ได้จากการวางวัสดุล่อสปอร์ในแหล่งน้ำที่มีสาหร่ายชุกชุม กับผลิตพันธุ์สาหร่ายอ่อนได้จากการเลือกคัดต้นพันธุ์ที่สมบูรณ์มาใช้ขยายพันธุ์ในถังเพาะ โดยวางวัสดุรองรับสปอร์ภายใต้ต้นพันธุ์ซึ่งต้องใช้เวลานาน 2-3 วัน เพื่อให้สปอร์เริ่มเจริญพันธุ์และเกาะบนวัสดุได้อย่างมั่นคงแล้วจึงเคลื่อนย้ายไปยังถังอนุบาลและแหล่งเลี้ยงสาหร่ายต่อไป สปอร์จะตกและเคลื่อนออกจากกระเปาะหุ้มสปอร์สู่ภายนอกได้ดีในน้ำเค็ม 30 ppt มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 17-30 ไมครอน เมื่อมีอายุ 3-4 วัน จะยึดเกาะบนวัสดุและเจริญพันธุ์เป็นสาหร่ายอ่อนภายใน 33-40 วันในน้ำที่มีความเค็ม 10-15 ppt อุณหภูมิ 27-30 องศาเซลเซียส pH 7.2-8.1 ในความเข้มของแสง 800-2,000 Lux.

Advertisement

คุณประโยชน์ 

วุ้นที่สกัดจากสาหร่ายผมนางนำมาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ดังนี้

1. ผลิตภัณฑ์อาหาร เช่น ใช้ในอุตสาหกรรมแยม ขนมปัง เนย มายองเนส และลูกกวาด โดยเป็นตัวช่วยให้นิ่มและข้น ใช้ผสมในอาหารกระป๋อง ช่วยป้องกันสนิม ผสมเครื่องดื่ม เช่น ไวน์ เบียร์ ช่วยทำให้สีใสไม่ตกตะกอน

Advertisement

2. ผลิตภัณฑ์ยา ใช้เป็นยาระบาย แคปซูลยา ใช้เลี้ยงแบคทีเรีย

3. ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ใช้ผสมครีมและน้ำมันทาผิว

4. ผลิตภัณฑ์สิ่งทอและกระดาษ ใช้ย้อมเส้นด้าย เคลือบกระดาษ ทำกาว

5. เคลือบผิวอาหารที่จะแช่แข็ง

วิทยาลัยประมงติณสูลานนท์ ผลิตสาหร่ายผมนางตากแห้งออกขาย กิโลกรัมละ 2,000 บาท ส่วนสาหร่ายผมนางแบบสด ขายกิโลกรัมละ 150 บาท สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทาง Facebook : https://www.facebook.com/Tinsulanonda หรือ Line ID : anon2656 หรือเบอร์โทร. 063-081-3161

…………………

ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบข่าวจาก Facebook : อาชีวะ Marketplace

https://www.matichon.co.th/lifestyle/food-travel/news_1285637

https://kohyor.go.th/otop/detail/1160