เผยแพร่ |
---|
ตรัง 1 ปีมีให้เห็นไม่กี่วัน “ว่านแผ่นดินเย็นเมืองตรัง” พืชในตระกูลกล้วยไม้ หาดูได้ยาก กำลังออกดอกชูช่อสวยงาม นักท่องเที่ยวแห่ชมคึกคัก พร้อมบันทึกภาพประทับใจ
ที่สวนพฤกษาศาสตร์ทุ่งค่าย อำเภอย่านตาขาว จังหวัดตรัง นายกอบศักดิ์ เพ็ญนุกูล หัวหน้าสวนพฤกษศาสตร์ทุ่งค่าย พาชมความงามของว่านแผ่นดินเย็นเมืองตรัง พืชในตระกูลกล้วยไม้ขนาดเล็กมาก ที่กำลังออกดอกชูช่อรอนักท่องเที่ยวมาชม
1 ปี มีให้เห็นได้เพียงไม่กี่วันเท่านั้น โดยจะพบในช่วยต้นฤดูฝน ตั้งแต่ปลายเดือนเมษายนถึงพฤษภาคมของทุกปี ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ได้ทำคอกเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เห็นชัดเจนมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมหากฝนมาช้า ก็จะออกดอกให้เห็นช้าเช่นกัน
ซึ่ง “ว่านแผ่นดินเย็นเมืองตรัง” ค้นพบครั้งแรกโดย นายประสงค์ โพธิ์เอี่ยม เจ้าหน้าที่สวนพฤกษศาสตร์ทุ่งค่าย และได้ส่งภาพถ่ายไปให้หอพรรณไม้ตรวจสอบ
หลังจากนั้นจึงได้มีการติดตามเก็บตัวอย่าง และพบเพิ่มเติมที่สวนพฤกษศาสตร์เขาช่อง โดย ผศ.ดร.สุธีร์ ดวงใจ อาจารย์คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก็ปรากฏว่า เป็นพันธุ์ไม้ชนิดใหม่ของโลก
ปัจจุบันสามารถพบเห็น ว่านแผ่นดินเย็นเมืองตรัง ได้ใน 2 พื้นที่ คือ สวนพฤกษศาสตร์ทุ่งค่าย อำเภอย่านตาขาว และสวนพฤกษศาสตร์เขาช่อง อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง เพราะมีลักษณะเป็นป่าดิบชื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์
แต่สิ่งที่แปลกอย่างมากสำหรับกล้วยไม้ชนิดนี้คือ ใบกับดอกจะออกมาไม่พร้อมกัน สร้างความตื่นตาให้กับนักท่องเที่ยวที่มาเดินชมต่างก็หยิบโทรศัพท์มือถือมาถ่ายเก็บภาพความแปลกและสวยงามของว่านแผ่นดินเย็นเมืองตรัง เพราะน้อยคนนักที่จะรู้จักและได้พบเห็น
นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า ว่านแผ่นดินเย็น ถูกค้นพบโดยเจ้าหน้าที่สวนพฤกษศาสตร์ทุ่งค่ายได้เดินสำรวจพันธุ์ไม้ก็ได้เจอกับว่านแผ่นดินเย็น จากนั้นได้ส่งตัวอย่างว่านแผ่นดินเย็นให้หอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ตรวจสอบ แต่กลับไม่เคยปรากฏพบกล้วยไม้ลักษณะเช่นนี้มาก่อน
จากนั้นได้มีนักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุ์ไม้ได้มาสำรวจและศึกษาว่า ว่านแผ่นดินเย็น ที่เจอที่จังหวัดตรังไม่มีพบที่อื่น จึงยืนยันได้ว่า “ว่านแผ่นดินเย็นเมืองตรัง” เป็นกล้วยไม้ที่ลักษณะชนิดใหม่ของโลก
ต่อมากรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ประกาศ ให้ว่านแผ่นดินเย็นเมืองตรัง เป็นว่านแผ่นดินเย็นชนิดใหม่ของโลก เมื่อ พ.ศ. 2556 ลักษณะของว่านแผ่นดินเย็นเมืองตรัง เป็นพืชที่แปลก คือเวลาออกใบจะไม่มีดอก เวลาติดดอกก็จะไม่เห็นใบ และมีลักษณะเป็นว่านที่มีหัวใต้ดิน
ส่วนดอกจะมีลักษณะคล้ายกับกล้วยไม้ แต่มีขนาดเล็ก ขนาดของดอกประมาณ 1 เซนติเมตร ความสูงของก้านดอกจากดินประมาณ 6 เซนติเมตร และตอนนี้ทางสวนพฤกษศาสตร์ทุ่งค่ายกำลังศึกษาและเก็บข้อมูลเพื่อการอนุรักษ์และขยายพันธุ์ต่อไป ส่วนนักท่องเที่ยวท่านใดสนใจจะเข้าชมสามารถติดต่อที่สวนพฤกษศาสตร์ได้ทุกวันจะมีเจ้าหน้าที่คอยให้คำแนะนำอยู่ตลอด
อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลสำนักงานหอพรรณไม้ กล่าวถึงลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ของ “ว่านแผ่นดินเย็นเมืองตรัง” เป็นพืชพันธุ์กล้วยไม้ดิน หัวใต้ดินรูปทรงไข่แกรมรูปรี เส้นผ่านศูนย์กลาง 0.8-1 เซนติเมตร ดอกกับใบออกไม่พร้อมกัน ออกดอกช่วงต้นฤดูฝนก่อนออกใบ ใบชูขึ้นสูงเหนือพื้นดินเล็กน้อย สีเขียวอ่อนถึงเข้ม เป็นมัน รูปหลายเหลี่ยมเกือบกลม กว้าง 4-6.5 เซนติเมตร ยาว 3.5-6.5 เซนติเมตร เป็นร่องตามเส้นใบตามยาว ปลายแหลม ขอบเรียบ
โคนเว้าลึกรูปหัวใจ ขอบใบด้านโคนใบอาจซ้อนทับกัน มีเส้นจากโคนใบ 5-9 เส้น ก้านใบสีเขียว ยาวได้ถึง 3 เซนติเมตร ช่อดอกตั้งตรง ยาวได้ถึง 18 เซนติเมตร มีดอก 1 ดอก ก้านช่อดอกมีกาบสั้นและบางหุ้ม ใบประดับรูปไข่แกมรูปใบหอก ปลายแหลม ดอกชี้ลงในแนวเฉียง ยาว 1.8-2 เซนติเมตร
กลีบเลี้ยงและกลีบดอกสีเขียวเข้ม มีขีดประสีม่วง กลีบปากสีขาว รูปไข่กลับแกมรูปช้อน มี 3 แฉก มีแต้มสีม่วงและแถบสีเหลืองตามยาวกลางกลีบ หูกลีบปากรูปสามเหลี่ยม ตั้งขึ้น ปลายแหลม รังไข่รวมก้านดอกมีร่องตื้นๆ ตามยาว ออกดอกช่วงต้นฤดูฝน