เผยแพร่ |
---|
คิกออฟมาตรการชะลอเก็บเกี่ยวชดเชยดอกเบี้ย 3.5% ช่วยเกษตรกร 6.5 หมื่นครัวเรือน วงเงิน 3 พันล้านบาท ด้านชาวไร่ชี้ “ภัยแล้ง-ใบด่าง” ทุบผลผลิตมันวูบ 10 ล้านตัน หวั่นมันเพื่อนบ้านทะลัก 200% ด้านผู้ส่งออกอ่วมตลาดจีนชะลอซื้อ 50% หลังธุรกิจแอลกอฮอล์จีนซบ แต่ยังต้องแข่งราคาซื้อวัตถุดิบ
รายงานข่าวระบุว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2567 พิจารณาเห็นชอบ ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอเรื่อง มาตรการชะลอการเก็บเกี่ยวมันสำปะหลัง ปี 2566/2567 เพื่อดูแลเกษตรกร โดยให้เกษตรกรมีเงินหมุนเวียนเป็นค่าใช้จ่ายในครัวเรือนระหว่างรอการเก็บเกี่ยว เป้าหมายเกษตรกรประมาณ 65,100 ครัวเรือน ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่ คิดเป็น 50,000 บาท เริ่มตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2567 ถึง 30 เมษายน 2568
โดยเกษตรกรสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ภายใน 30 มิถุนายน 2567 ซึ่งจะเริ่มจ่ายสินเชื่อ จนถึง 31 กรกฎาคม 2567 เป็นระยะเวลา 6 เดือน นับแต่วันรับสินเชื่อ แต่ไม่เกิน 31 มกราคม 2568 วงเงินสินเชื่อที่ใช้ 3,255 ล้านบาท รัฐชดเชยดอกเบี้ย 3.5% เกษตรกรสมทบอัตรา 1%
นายเติมศักดิ์ บุญชื่น ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า มาตรการชะลอการเก็บเกี่ยวที่รัฐออกมา เป้าหมายช่วยพยุงราคาหัวมันสดที่เชื้อแป้ง 25% ไม่ให้ตกต่ำลงมา 2 บาทต่อกิโลกรัม จากราคาปัจจุบัน 3.20-3.40 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ต้นทุนการเพาะปลูกอยู่ที่ 2.80 บาทต่อกิโลกรัม
“ผลผลิตในปี 2566/2567 นี้ คาดว่าจะลดลงเหลืออยู่ที่ 24 ล้านตัน จากปกติ 33-34 ล้านตัน จากภาวะภัยแล้งและโรคใบด่าง จึงส่งผลทำให้มีความต้องการนำเข้ามันสำปะหลังจากประเทศเพื่อนบ้านสูงขึ้น 200% จากปกตินำเข้าเฉลี่ยในฤดูการผลิต 3-4 ล้านตันต่อ 1 ฤดูการผลิต จึงต้องมีการเข้มงวดนำเข้ามันสำปะหลังให้ได้มาตรฐาน”
โดยขณะนี้การเก็บเกี่ยวผลผลิตในประเทศสู่ตลาดไปแล้ว 80% เหลือเพียง 20% ที่ยังไม่เก็บเกี่ยว และส่วนใหญ่จะเก็บไว้เพื่อเป็นท่อนพันธุ์ในการเพาะปลูกต่อไป ดังนั้น รัฐบาลจึงมีมาตรการดังกล่าวออกมา ซึ่งเป็นมาตรการระยะสั้น ส่วนระยะยาวจะมีการเข้มงวดการนำเข้ามันสำปะหลังจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งต้องได้คุณภาพ ไปถึงการดูแลเรื่องโรคใบด่างและขยายท่อนพันธุ์ที่มีความแข็งแรง ทนทานโรค
นายสุรพงษ์ แสงศิริพงษ์พันธ์ นายกสมาคมการค้ามันสำปะหลังไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ความต้องการนำเข้ามันเส้นของจีน ปีนี้ปรับลดลง 50% จากต่อปีเฉลี่ยอยู่ที่ 4 ล้านตัน ลดลงมาเหลือ 2 ล้านตัน ทำให้ปีนี้คาดว่าไทยจะส่งออกมันเส้นได้ 1.5-1.6 ล้านตัน
โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้แอลกอฮอล์ ซึ่งมีสัดส่วนถึง 95.5% เพราะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา บริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กในจีนขาดทุน จึงลดการนำเข้ามันเส้น มีเพียงเฉพาะรายใหญ่ 3-4 ราย ที่ยังคงมีการนำเข้าอยู่บ้าง แต่ก็ยังต้องแข่งขันกับข้าวโพดที่ปีนี้ผลผลิตและราคาดี
“ตลาดจีนชะลอไป 50% และผู้ส่งออกมันเส้น ปัจจุบันเผชิญปัญหาต้นทุนผลผลิตสูง โดยราคามันเส้นตอนนี้ปรับขึ้นไป 7.40-7.70 บาทต่อกิโลกรัม เนื่องจากการแข่งขันภายในประเทศที่มีการแย่งซื้อมันสำปะหลังจากเกษตรกร เพราะปีนี้ผลผลิตลดลง 25%”
ในส่วนของการแก้ปัญหาผลผลิตลดลง สิ่งที่สำคัญคือ น้ำจะต้องมีเพียงพอในการเพาะปลูก เพราะมันสำปะหลังเป็นพืชที่ต้องการน้ำ และจะให้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ภาครัฐเองจะต้องให้การสนับสนุนและหาแหล่งน้ำ รวมไปถึงการแก้ปัญหาโรคใบด่างและหาท่อนพันธุ์ที่มีความแข็งแรงให้กับเกษตรกรในการเพาะปลูกในฤดูกาลถัดไป
รายงานจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรพยากรณ์การผลิตมันสำปะหลัง ปี 2566/2567 ณ เดือนมีนาคม 2567 โดยมีผลผลิตทั้งประเทศ 26.88 ล้านตัน ลดลง 3.74 ล้านตัน หรือ 12% เนื่องจากขาดแคลนท่อนพันธุ์ สภาวะอากาศร้อน แล้ง รวมทั้งเสี่ยงต่อการเกิดโรคใบด่าง เพลี้ยไฟ และเพลี้ยแป้ง โดยผลผลิตกระจุกตัวช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม 2567 ปัจจุบันเก็บเกี่ยวแล้ว 23.50 ล้านตัน หรือ 87%
ขณะที่ราคาในประเทศ มันสำปะหลัง ณ วันที่ 3 พฤษภาคม 2567 พบว่า มันสำปะหลังเชื้อแป้งที่ 25% ราคาอยู่ที่ 3.20 บาทต่อกิโลกรัม มันเส้นราคาอยู่ที่ 7.43 บาทต่อกิโลกรัม แป้งมันอยู่ที่ 18.85 บาทต่อกิโลกรัม
โดยราคามีแนวโน้มลดลง เนื่องจากเกษตรกรบางส่วนเร่งขุดผลผลิตที่ไม่ครบอายุออกจำหน่าย ประกอบกับสภาวะอากาศร้อนจัดส่งผลให้ผลผลิตต่อไร่ลดลง และมีเปอร์เซ็นต์เชื้อแป้งต่ำ สำหรับราคาส่งออกมันเส้นอยู่ที่ 8.50 บาทต่อกิโลกรัม และแป้งมันอยู่ที่ 20.59 บาทต่อกิโลกรัม
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ https://www.prachachat.net/economy/news-1566688