“อุตตม” ใช้โมเดลEEC ปั้น”ฟู้ดวัลเลย์-ไบโอ”ลงอีสาน

“อุตตม” วางโมเดลภาคอีสานปั้น “ฟู้ดวัลเลย์-เขตส่งเสริมไบโอชีวภาพ” หนุนตั้งนิคมใหม่ 3 จังหวัด “อุดรธานี หนองคาย มุกดาหาร” นำร่อง “เกษตรแปรรูป” พร้อมจูงใจนักลงทุน ปักธงอีสานใช้อุตสาหกรรมเป็นตัวกำหนดสิทธิประโยชน์การลงทุน

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ตามแผนการพัฒนาประเทศของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กำหนดให้พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นเป้าหมายการพัฒนา เพื่อให้เกิดการลงทุนอุตสาหกรรมด้านการเกษตร ดังนั้น ทางกระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้จัดทำยุทธศาสตร์เชิงพื้นที่โดยกำหนดให้ 1 จังหวัดของภาคอีสานจัดตั้งโรงงานอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปอาหารในรูปแบบของ “ฟู้ดวัลเลย์” และอีก 1 จังหวัดจัดตั้งโรงงานอุตสาหกรรมไบโอชีวภาพในรูปแบบของ “เขตส่งเสริมไบโอชีวภาพ”

“รัฐบาลมีแผนตั้งนิคมอุตสาหกรรม 3 แห่ง เพื่อดึงอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) มาลงทุน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปและอุตสาหกรรมไอโบชีวภาพ เพราะ 3 พื้นที่เคยทำการศึกษาไว้แล้ว และมีเอกชนเสนอโครงการเข้ามา และมีวัตถุดิบป้อนให้อุตสาหกรรมได้ เช่น อ้อย มันสำปะหลัง โดย จ.มุกดาหารและหนองคายกำหนดให้เป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (SEZ) อยู่แล้ว จึงง่ายที่จะสานต่อ ขณะที่อุดรธานีมีศักยภาพด้านเศรษฐกิจสูง ทั้งหมดเราเปิดทางให้นักลงทุนทำจะร่วมกับ กนอ. หรือ กนอ. ลงทุนทำเองก็ได้ หลังจากนี้จะเริ่มศึกษาว่าควรเป็นรูปแบบใดเพื่อให้เกิดเป็นรูปธรรมในอีก 1-2 ปีนี้”

สำหรับพื้นที่ภาคอีสานจะถูกพัฒนาให้เป็นพื้นที่ลงทุนคล้ายกับเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) แต่จะมีความแตกต่างกัน คือ EEC ปักธงให้ 3 จังหวัดใช้พื้นที่เป็นตัวกำหนดสิทธิประโยชน์การลงทุน แต่อีสานจะปักธงใช้อุตสาหกรรมมาเป็นตัวกำหนดสิทธิประโยชน์การลงทุน คือ อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปอาหาร และอุตสาหกรรมไบโอชีวภาพ สิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนจะเป็นไปตามอุตสาหกรรมที่สนับสนุน แต่จะไม่สูงไปกว่าสิทธิประโยชน์ใน EEC

ทั้งนี้ ได้ดึงให้ภาคเอกชนที่เป็นโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เข้าร่วมประชารัฐในกลุ่มส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและวิสาหกิจเริ่มต้น (SMEs & Startup) หรือกลุ่ม D2 และกลุ่มพัฒนาคลัสเตอร์ภาคอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-Curve) หรือกลุ่ม D5 เพื่อร่วมกำหนดและวางกรอบของแนวทางการพัฒนาให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และการพัฒนาทั้งวัตถุดิบ ต่อยอดทุกอุตสาหกรรมสู่การปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตด้วยหุ่นยนต์ วางกลยุทธ์ให้บุคลากรทำงานด้านที่ยังพึ่งพาแรงงานร่วมกับมหาวิทยาลัยพัฒนาเทคโนโลยีที่มีงานวิจัยมาช่วยให้นำไปสู่อุตสาหกรรมไบโอชีวภาพเต็มรูปแบบ

แหล่งข่าวกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า คาดว่า จ.นครราชสีมาจะเป็นพื้นที่เป้าหมายในการตั้งฟู้ดวัลเลย์เพราะศักยภาพของจังหวัดมีแหล่งวัตถุดิบ ส่วนเขตส่งเสริมไบโอชีวภาพคือ จ.ขอนแก่น เพราะมีโรงงานน้ำตาลพร้อมลงทุน รอเพียงหลักเกณฑ์ที่จะประกาศเป็นเขตส่งเสริมพิเศษ เพราะหากจะให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคอีสานไม่ง่าย ต้องมี พ.ร.บ.ออกมารองรับขั้นตอนนานเกินกว่าที่นักลงทุนจะรอได้

ส่วนสิทธิประโยชน์สามารถใช้ พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เรื่องการยกเว้นภาษีนิติบุคคลสูงสุด 13 ปี และ พ.ร.บ.เพิ่มขีดความสามารถของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย (กองทุน 10,000 ล้านบาท) ยกเว้นภาษีนิติบุคคลสูงสุด 15 ปี หากมีความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัยสนับสนุนพัฒนาด้านผู้เชี่ยวชาญที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ