สวก. เร่งแก้ปัญหาภัยแล้ง-ฝนทิ้งช่วง ประยุกต์นวัตกรรมทำฝนเทียมแดนมังกรสู่ไทย

ปัญหาภัยแล้งนอกจากทำให้ขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคแล้ว ยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคการเกษตรและแหล่งน้ำ ด้วยผืนดินขาดความชุ่มชื้น พืชขาดน้ำและชะงักการเจริญเติบโต ทำให้ปริมาณผลผลิตลดน้อยและคุณภาพต่ำ ในขณะที่ไทยได้รับการยอมรับว่าเป็นประเทศส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์แปรรูปทางการเกษตรที่สำคัญในตลาดโลก

‘สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน)’ หรือ สวก. ภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะหน่วยงานหลักในการนำเทคโนโลยีมาพัฒนาต่อยอดภาคการเกษตร เร่งแก้ปัญหาภัยแล้ง ด้วยการร่วมมือกับกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กรมชลประทาน บริษัท มดทองพัฒนา จำกัด และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นำองค์ความรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการทำฝนเทียม ด้วยเทคโนโลยีคลื่นเสียงความถี่ต่ำ ผลงานของห้องปฏิบัติการหลักของรัฐด้านอุทกวิทยาและวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยชิงหัว สาธารณรัฐประชาชนจีน มาประยุกต์ใช้ในประเทศไทย

จากการนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาประยุกต์ใช้ จะต้องศึกษาความเป็นไปได้ทั้งในเชิงเทคนิค วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อให้เหมาะสมกับลักษณะอากาศและพื้นที่ จึงจำเป็นต้องมีการสนับสนุนทุนวิจัย ร่วมดำเนินโครงการ ซึ่งคัดเลือกพื้นที่ในเขื่อนและอ่างเก็บน้ำจังหวัดเพชรบุรี เป็นพื้นที่นำร่อง พร้อมทั้งมีพิธีลงนามสัญญาสนับสนุนโครงการการศึกษา ศักยภาพการเพิ่มปริมาณน้ำฝน ด้วยเทคโนโลยีคลื่นเสียง ความถี่ต่ำในประเทศไทย เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2567 ณ ห้องประชุมสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตรฯ

 

นายชวลิต ชูขจร ประธานกรรมการ สวก. กล่าวถึงความร่วมมือครั้งสำคัญว่า สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตรฯ ได้ลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนงทางวิชาการ ร่วมกับห้องปฏิบัติการหลักฯ มหาวิทยาลัยชิงหัว โดยมีเป้าหมายสร้างความร่วมมือ ในการประยุกต์และพัฒนาเทคโนโลยีในการใช้ประโยชน์จากทรัพยกรน้ำจากชั้นบรรยากาศ นำเทคโนโลยีการทำฝนคลื่นเสียงความถี่ต่ำ ที่ถูกพัฒนานำไปประยุกต์ใช้ในการสลายหมอก เพิ่มปริมาณฝนในการปรับปรุงระบบนิเวศ เติมน้ำในอ่างเก็บน้ำ และชั้นใต้ดิน รวมถึงเพิ่มปริมาณฝนในพื้นที่เกษตร มาใช้ในการเพิ่มปริมาณน้ำฝนในประเทศไทย

ประธานกรรมการ สวก. ย้ำว่า เทคโนโลยีที่แข็งแกร่งทั้งในด้านข้อมูลวิชาการ และผลสำเร็จจากการใช้ประโยชน์จริงสามารถนำมาต่อยอดโดยไม่ต้องเริ่มศึกษาใหม่ ช่วยลดระยะเวลาและงบประมาณ พร้อมกับคาดหวังถึงโอกาสในการต่อยอดด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรมที่จะแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำภาคการเกษตร ให้มีปริมาณการเกิดฝนและเพิ่มปริมาณน้ำในพื้นที่ ได้จริง ซึ่งจากงานวิจัยในประเทศจีน มีการเก็บสถิติไว้แล้วว่า สามารถเพิ่มได้ถึง 17-20%

Advertisement

 

ผู้แทนหน่วยงานรับผิดชอบดำเนินโครงการประเมินประสิทธิภาพการเพิ่มปริมาณน้ำฝนด้วยเทคโนโลยีคลื่นเสียงความถี่ต่ำ นายฉันติ เดชโยธิน ผู้เชี่ยวชาญด้านวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์บรรยากาศประยุกต์ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวเสริมว่า ด้วยความแตกต่างของสภาพอากาศ 2 ประเทศ ในการนำเทคโนโลยีใหม่เข้ามาใช้จึงจำเป็นต้องมีการวิจัย ประกอบด้วยการประเมินน้ำฝนบริเวณลุ่มน้ำ แต่ยังไม่กำหนดว่าเป็นลุ่มน้ำใด การจัดหาชุดเครื่องมือที่จะนำมาใช้ในการแปลงสภาพอากาศ การประเมินประสิทธิภาพการเพิ่มน้ำฝนด้วยเทคโนโลยีคลื่นความถี่ต่ำ และการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่างๆ

Advertisement

ยืนยันถึงความพร้อมและแนวทางความร่วมมือโครงการ เริ่มจาก ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยรับผิดชอบดำเนินโครงการศึกษาผลกระทบด้านเสียง สั่นสะเทือน และสัตว์ป่า บริเวณโดยรอบเครื่องกำเนิดคลื่นเสียงความถี่ต่ำ สำหรับเป็นแนวทางในการป้องกัน และควบคุมผลกระทบจากการดำเนินกิจกรรม การประเมินผลกระทบด้านเสียง การประเมินผลกระทบด้านสั่นสะเทือน และการประเมินผลกระทบด้านสัตว์ป่า ทั้งในระยะก่อน ระหว่าง และหลังที่มีการติดตั้ง

“เรามีนักวิชาการหลายท่านเป็นกำลังหลัก นอกจากคณะสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังมีคณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะวนศาสตร์ ฯลฯ เป็นแรงสนับสนุนที่จะทำให้โครงการสำเร็จ และนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งต่อไปจะมีบทบาทในการลดต้นทุนการทำฝนเทียม และกำหนดจุดตกได้แม่นยำมากขึ้น”

ทางด้านของ นายธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทาน ให้ข้อมูลว่า ประเทศไทยถึงแม้จะมีฝนมาก แต่การมีฝนมากไม่ได้หมายถึงมีน้ำในอ่างมาก ในปี 2564 น้ำท่วมภาคกลางแต่ไม่เต็มเขื่อนภูมิพลกับเขื่อนสิริกิติ์

 

“กรมชลประทานดำเนินโครงการประเมินปริมาณน้ำเหนืออ่างเก็บน้ำที่ได้จากการเพิ่มปริมาณฝนด้วยเทคโนโลยีคลื่นเสียงความถี่ต่ำในประเทศไทย ตั้งเป้าหมายศึกษาการเพิ่มปริมาณน้ำฝนในพื้นที่ทดลอง มีการศึกษาความเป็นไปได้ทั้งในเชิงเทคนิควิธีการ ลักษณะทางกายภาพ ลักษณะทางอุตุ-อุทกของพื้นที่อ่างเก็บน้ำ และนำมาคำนวณปริมาณน้ำต้นทุนให้เพียงพอสำหรับการบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำตามสภาวะที่มีการแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ”

เทคโนโลยีดังกล่าว เป็นเทคโนโลยีการทำฝนที่ใช้คลื่นเสียงความถี่ต่ำกระตุ้นการสั่นสะเทือน ของเม็ดน้ำในก้อนเมฆให้เกิดกระบวนการชนและรวมตัวกัน และเพิ่มจำนวนเม็ดน้ำขนาดใหญ่ จนเกิดเป็นฝนตก ในพื้นที่เป้าหมาย

ที่สำคัญเป็นเทคโนโลยีที่ปลดปล่อยคาร์บอนต่ำ สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการเพิ่มปริมาณน้ำฝนเชิงพื้นที่ และการเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักให้กับเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำฝนตกในพื้นที่ลุ่มรับน้ำน้อย โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มรับน้ำที่มีอุปสรรคในการทำฝนด้วยอากาศยานจากเหตุผลความปลอดภัยด้านการบิน

 

สำหรับความพร้อมในการสนับสนุนทุนโครงการ ดร.วิชาญ อิงศรีสว่าง ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตรฯ กล่าวว่า เป็นหน่วยงานสนับสนุนการให้ทุนวิจัย โดยมีคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) เป็นเจ้าของทุน และมีสำนักงานคณะกรรมการวิทยาศาสตร์วิจัยนวัตกรรม (สกสว.) เป็นหน่วยจัดสรรเงิน โดยงบประมาณการสนับสนุนทุนวิจัยที่ สกว. ได้รับนั้น จะนำมาพัฒนาด้านการวิจัยการเกษตร แต่จากปัญหา Climate Change ฝุ่นละออง และการขาดแคลนน้ำในระบบชลประทาน จึงต้องมีการทำงานร่วมกับหน่วยงาน ที่ดูแลเรื่องน้ำ รวมถึงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่มีองค์ความรู้ในหลายๆ ด้าน เพื่อผลักดันให้โครงการงานวิจัย นี้ประสบผลสำเร็จ

“นับเป็นครั้งแรกที่ได้มีการทำงานวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงด้านวิศวกรรมศาสตร์ติดอันดับโลก เชื่อว่าโครงการนี้จะเป็นทางเลือกช่วยเสริมประสิทธิภาพการทำฝนเทียมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

โครงการนี้จะช่วยแก้ปัญหาภัยแล้ง รวมถึงฝนทิ้งช่วงในพื้นที่การเกษตรและพื้นที่กันดาร จากการเพิ่มปริมาณน้ำฝนในเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มศักยภาพการบริหารจัดการน้ำ ให้เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำในการอุปโภค-บริโภคได้อย่างยั่งยืน