แนะวิธีฟื้นฟูแปลงนาที่เคยใช้สารเคมี สู่แปลงนาอินทรีย์ ที่ให้ผลผลิตเพิ่มพูนทุกปี   

งาน ‘มหัศจรรย์ข้าวไทย 2024’ เสวนาสุดเอ็กซ์คลูซีฟเรื่องข้าวที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อน เล่าเรื่องข้าวครบทุกด้าน จากผู้เชี่ยวชาญตัวจริง ช่วงบ่ายวันอาทิตย์ที่ 2 มิถุนายน 2567 วันสุดท้ายของการจัดงาน  “พี่จอบ” วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์  คอลัมนิสต์ชื่อดัง และภรรยา “ พี่อ้อย ” ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวาณิชย์ นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมและอดีตประธานมูลนิธิโลกสีเขียว มาร่วมบอกเล่าเรื่องการทำเกษตรอินทรีย์อย่างจริงจังที่อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ 

เมื่อสิบกว่าปีก่อน  “พี่จอบ” และ “พี่อ้อย” รู้สึกว่าเมืองกรุงไม่น่าอยู่แล้ว จึงตัดสินใจซื้อผืนนาแปลงหนึ่งที่ทุ่งน้ำนูนีนอย ในอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเป็นแหล่งผลิตอาหารอินทรีย์ เลี้ยงตัวเอง และแบ่งปันให้คนรอบข้าง โดยตั้งใจให้พัฒนาทุ่งน้ำและไร่นาเกษตรอินทรีย์นูนีนอยเป็นศูนย์ฟื้นฟูความสัมพันธ์กับธรรมชาติ มุ่งทำเกษตรอินทรีย์โดยจ้างแรงงานในพื้นที่เข้ามาช่วยเพาะปลูก เพื่อสร้างงานและการกระจายรายได้ไปสู่คนในพื้นที่

ทุ่งน้ำนูนีนอยเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำสร้างขึ้นใหม่ในปี 2561 ท่ามกลางนาระบบเหมืองฝายโบราณและปล่อยให้ธรรมชาติและสัตว์ป่าฟื้นตัวขึ้นมาเอง เพื่ออนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ผลิตอาหาร ทุ่งน้ำนูนีนอย ใช้วิธีบำบัดน้ำตามธรรมชาติ ด้วยการขุดบ่อน้ำหลายบ่อ และปล่อยให้น้ำที่เข้ามาจากลำเหมืองด้านนอกค่อยๆไหลผ่านลำน้ำที่มีพืชน้ำคอยกรอง ผ่านก้อนหิน ก้อนกรวด เพิ่มออกซิเจนตามธรรมชาติ ไหลไปเรื่อยๆ มาพักแต่ละบ่อ จนน้ำตกตะกอน ค่อยๆใสขึ้น จากน้ำขุ่นสีน้ำตาล ค่อยๆจางลง จนบ่อสุดท้ายสีเข้ม จากพืชสาหร่าย เป็นน้ำใส และเอาไปใช้เพื่อการเกษตรต่อไป

ในอดีตที่ดินผืนนี้ เป็นพื้นที่นาที่ใช้สารเคมีรุนแรงมาตลอด ภารกิจแรกคือ การฟื้นฟูดินและน้ำในระบบนิเวศทุ่งน้ำ (wetland) ให้ปลอดภัยจากสารเคมีเสียก่อน  การเปลี่ยนแปลงพื้นที่เพาะปลูกจากที่นาใช้สารเคมีมาเป็นที่นาอินทรีย์ ต้องใช้ความอดทนในระยะแรกสูงมาก ช่วงแรกต้องพักดิน ปลูกพืชตระกูลถั่วเพิ่มแร่ธาตุตามธรรมชาติก่อน

Advertisement

ดร.อ้อยกล่าวว่า   แปลงเกษตรอินทรีย์ของที่นี่ ไม่ใช้ปุ๋ยเคมีใดๆ ใช้ความสมดุลของธรรมชาติมาจัดการเอง เช่น  “ แมลงเต่าทอง ” ช่วยกำจัดเพลี้ยไฟในแปลงนา  “ แมลงปอ ” ช่วยกำจัดยุง ได้วันละ 100 ตัว  “ นกปากห่าง ” ช่วยกำจัดหอยเชอรี่ และปลูกต้นใบหูเสือที่มีกลิ่นฉุน  ในแปลงปลูกกุหลาบเพื่อขับไล่เพลี้ยไฟ  คนทำเกษตรอินทรีย์ เป็นทั้งผู้ผลิตอาหารและผู้ดูแลจัดการแผ่นดินด้วยหลักธรรมชาติ ช่วยลดปัญหาโลกร้อน โลกรวน สินค้าเกษตรอินทรีย์ เป็นวิถีการทำเกษตรที่ยั่งยืน เกษตรอินทรีย์เป็นทางเลือกของผู้บริโภคที่ใส่ใจต่อสุขภาพมากขึ้น เป็นสินค้าที่ผู้ซื้อทั่วโลกต้องการ แต่การยื่นขอมาตรฐานเกษตรอินทรีย์มีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก  อยากให้รัฐบาลจัดตั้งกองทุนสนับสนุนค่าใช้จ่ายส่วนนี้ให้เกษตรกรผู้ผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ในอนาคต

ปัจจุบันที่ดินผืนนี้ ปลูกข้าวหอมมะลิ  ข้าวเหนียวพันธุ์ กข 6 ปลูกถั่วเหลืองอินทรีย์ สลับหลังเกี่ยวข้าวเพื่อบำรุงดิน  ปลูกกุหลาบ ผลิตชากุหลาบ แยมกุหลาบ ฯลฯ ภายใต้แบรนด์ นูนีนอย มีความมั่นคงทางอาหาร และมีรายได้พอเลี้ยงดูตัวเองได้แล้ว  ข้อดีของการทำเกษตรอินทรีย์ คือ สามารถต้นทุนค่าปุ๋ย ค่ายาได้ แต่ต้องเอาใจใส่ในแปลงปลูกมากกว่าปกติ

Advertisement


พี่จอบกล่าวว่า  เมื่อดินฟื้นตัวเต็มที่ ผลิดผลข้าวต่อไร่จะดีขึ้นตามลำดับ นาข้าวอินทรีย์ในปีแรก ได้ข้าวเปลือกหอมมะลิ 400 ก.ก./ไร่  ปีที่สองได้ข้าวเปลือกหอมมะลิ 525 กก. / ไร่ ใกล้เคียงกับผลผลิตจากข้าวที่ใช้ปุ๋ยเคมีทั่วไป  ผลผลิตเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ตามการฟื้นฟูคุณภาพดินที่มีชีวิตมากขึ้นเรื่อยๆ  สร้างแรงจูงใจให้ชาวบ้านที่ปลูกข้าวโดยใช้สารเคมี หันมาทำนาอินทรีย์กันมากขึ้นเพราะช่วยลดต้นทุนและได้ผลผลิตมากขึ้นในระยะยาว

ที่ผ่านมา รัฐบาลเก็บภาษีจากบริษัท เหล้า บุหรี่ มาตั้งเป็นสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส)  รัฐบาลก็ควรเก็บภาษีผู้ค้าปุ๋ยเคมี  ยาฆ่าแมลง  ยาฆ่าวัชพืช ที่มีส่วนทำลายคุณภาพดิน นำมาตั้งเป็นกองทุนฟื้นฟูดินให้อุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติ โดยสนับสนุนเงินทุนให้เกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์ให้อยู่รอดได้ในช่วง 3 ปีแรกที่ไม่มีรายได้ ระหว่างการฟื้นฟูดินที่เคยมีสารเคมีตกค้างให้มีสภาพอุดมสมบูรณ์ สินค้าเกษตรอินทรีย์ เป็นที่ต้องการของตลาดทั่วโลก   สามารถขายผลิตผลได้ราคาสูงกว่าเกษตรเคมีประมาณ 30-40 % การทำเกษตรอินทรีย์เปรียบเสมือนสปริงบอร์ด ทำให้ความสมบูรณ์ของระบบนิเวศกำลังกลับคืนสู่ท้องไร่ท้องนาอีกครั้ง