ปัญหาดินเค็ม จัดการอย่างไร? เพื่อฟื้นฟูดินให้เหมาะกับการปลูกพืช

ดินเค็ม (saline soil) หมายถึง ดินที่มีปริมาณเกลือที่ละลายอยู่ในสารละลายดินมากเกินไปจนมีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตและผลิตผลของพืช เนื่องจากทำให้พืชเกิดอาการขาดน้ำ และมีการสะสมไอออนที่เป็นพิษในพืชมากเกินไป

วันนี้เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์ จะพามาทำความรู้จักกับดินเค็มในประเทศไทย ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ ดินเค็มบกและดินเค็มชายทะเล ซึ่งดินเค็มบกมีทั้งดินเค็มภาคตะวันออกเฉียงเหนือและดินเค็มภาคกลาง โดยดินเค็มแต่ละประเภทเกิดจากสาเหตุการเกิดชนิดของเกลือ ตามลักษณะสภาพพื้นที่นั้นๆ

สาเหตุของดินเค็ม เกิดขึ้นได้อย่างไร ?

โดยดินเค็มแต่ละประเภทมีสาเหตุการเกิด ชนิดของเกลือ การแพร่กระจาย ตามลักษณะสภาพพื้นที่ และตามลักษณะภูมิประเทศด้วย ดังนี้

  1. ดินเค็มภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยแหล่งเกลือมาจากหินเกลือใต้ดิน น้ำใต้ดินเค็ม หรือหินทราย หินดินดานที่อมเกลืออยู่ ลักษณะอีกประการหนึ่งคือ ความเค็มจะไม่มีความสม่ำเสมอในพื้นที่เดียวกัน และความเค็มจะแตกต่างกันระหว่างชั้นความลึกของดิน สังเกตได้คือ จะเห็นขุยเกลือขึ้นตามผิวดิน และมักเป็นที่ว่างเปล่าไม่ได้ทำการเกษตร หรือมีวัชพืชทนเค็ม เช่น หนามแดง หนามปี เป็นต้น
  2. ดินเค็มภาคกลาง แหล่งเกลือเกิดจากตะกอนน้ำกร่อย หรือเค็มที่ทับถมมานาน หรือเกิดจากน้ำใต้ดินเค็มทั้งที่อยู่ลึกและอยู่ตื้น โดยน้ำที่ไหลผ่านมาแล้วนั้น ทำให้น้ำใต้ดินไหลผ่านแหล่งเกลือแล้วไปโผล่ที่ดินไม่เค็มที่อยู่ต่ำกว่า จึงทำให้ดินบริเวณที่ต่ำกว่านั้นกลายเป็นดินเค็ม
  3. ดินเค็มชายทะเล การเกิดดินเค็มชายทะเลเนื่องมาจากการได้รับอิทธิพลจากการขึ้นลงของน้ำทะเลโดยตรง องค์ประกอบของเกลือในดินเค็มเกิดจากการรวมตัวของธาตุที่มีประจุบวกพวกโซเดียม แมกนีเซียม แคลเซียม รวมกับธาตุที่ประจุลบ เช่น คลอไรด์ ซัลเฟต ไบคาร์บอเนต และคาร์บอเนต ดินเค็มที่เกิดในภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ในรูปของเกลือโซเดียมคลอไรด์ คล้ายคลึงกับดินเค็มชายทะเล แต่ดินเค็มชายทะเลมีแมกนีเชียมอยู่ในรูปคลอไรด์และซัลเฟตมากกว่า

สาเหตุการแพร่กระจายดินเค็ม

เกิดจากปัจจัยใดบ้าง?

สาเหตุการกระจายดินเค็ม เกิดขึ้นเพราะเกลือละลายน้ำได้ดี น้ำจึงเป็นตัวการหรือพาหนะในการพาเกลือไปสะสมในที่ต่างๆ ที่น้ำไหลผ่าน ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดการแพร่กระจายดินเค็ม โดยมีสาเหตุจากสาธรรมชาติ เช่น หินหรือแร่ที่อมเกลืออยู่เมื่อสลายตัวหรือผุพังไป ทางกระบวนการเคมีและกายภาพก็จะปลดปล่อยเกลือต่างๆ ออกมา เกลือเหล่านี้อาจสะสมอยู่กับที่หรือเคลื่อนตัวไปกับน้ำแล้วซึมสู่ชั้นล่างหรือซึมกลับมาบนผิวดินได้

Advertisement

สาเหตุจากการฝีมือของมนุษย์ การทำนาเกลือทั้งวิธีการสูบน้ำเค็มขึ้นมาตาก หรือวิธีการขูดคราบเกลือจากผิวดินมาต้ม เกลือที่อยู่ในน้ำทิ้งจะมีปริมาณมากพอที่จะทำให้พื้นที่บริเวณใกล้เคียงกลายเป็นพื้นที่ดินเค็มหรือแหล่งน้ำเค็ม การสร้างอ่างเก็บน้ำบนพื้นที่ดินเค็มหรือมีน้ำใต้ดินเค็ม ทำให้เกิดการยกระดับของน้ำใต้ดินขึ้นมา

Advertisement

สำหรับแนวทางการจัดการดินเค็มจัด

ต้องใช้วิธีวิศวกรรม และชีววิทยา

ในเรื่องของการป้องกันดินเค็มนั้น การป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่กระจายดินเค็มเพิ่มมากขึ้น ต้องพิจารณาจากสาเหตุการเกิด ดำเนินการได้โดยวิธีการทางวิศวกรรม วิธีทางชีววิทยา และวิธีผสมผสานระหว่างทั้ง 2 วิธี อย่างเช่น 1. ทางวิศวกรรม จะต้องมีการออกแบบพิจารณา เพื่อลดหรือตัดกระแสการไหลของน้ำใต้ดินให้อยู่ในสมดุลของธรรมชาติมากที่สุด ไม่ให้เพิ่มระดับน้ำใต้ดินเค็มในที่ลุ่ม และ 2. ทางชีววิทยา โดยใช้วิธีการทางพืช เช่น การปลูกป่า เพื่อป้องกันการแพร่กระจายดินเค็ม มีการกำหนดพื้นที่รับน้ำที่จะปลูกป่า ปลูกไม้ยืนต้นหรือไม้โตเร็วมีรากลึก เพื่อทำให้เกิดสมดุลการใช้น้ำและน้ำใต้ดินในพื้นที่

สำหรับวิธีการผสมผสานทั้ง 2 วิธีข้างต้นเข้าด้วยกัน ต้องทำการแก้ไขลดระดับความเค็มดินลงให้สามารถปลูกพืชได้ โดยการใช้น้ำชะล้างเกลือจากดิน และการปรับปรุงดินที่มีเกลืออยู่สามารถกำจัดออกไปได้โดยการชะล้างโดยน้ำ

การให้น้ำสำหรับล้างดินมีทั้งแบบต่อเนื่องและแบบขังน้ำเป็นช่วงเวลา ซึ่งแบบต่อเนื่องใช้เวลาในการแก้ไขดินเค็มได้รวดเร็วกว่า แต่ต้องใช้ปริมาณน้ำมาก และส่วนแบบขังน้ำใช้เวลาในการแก้ไขดินเค็มช้ากว่า แต่ประหยัดน้ำ

วิธีการปลูกพืช ควรปลูกเพื่อหลีกเลี่ยงการสะสมเกลือในบริเวณที่จะกระทบกระเทือนการเจริญเติบโตของพืช เช่น ข้าว ก็ควรใช้กล้าอายุมากกว่าปกติในการปักดำคือ ควรมีอายุระหว่าง 30-35 วัน

– หาวัสดุปรับปรุงดินบางชนิดมาใช้ เช่น ปูนขาว ยิปซัม แกลบ

– ใช้วัสดุคลุมดิน หรือพืชคลุมดิน ไม่ปล่อยให้หน้าดินว่าง

– จัดระบบการปลูกพืชให้เหมาะสม ควรปลูกพืชมากกว่า 1 ชนิด โดยปลูกให้เหมาะสมกับช่วงฝน

สำหรับการใช้พื้นที่ดินเค็มให้เกิดประโยชน์ตามสภาพที่เป็นอยู่นั้น ต้องไม่ปล่อยให้พื้นดินว่างเปล่า โดยการคลุมดินหรือมีการเพิ่มผลผลิตพืช โดยเปลี่ยนพืชเป็นพืชเศรษฐกิจที่เหมาะสม เช่น พืชทนเค็ม พืชชอบเกลือเป็นต้น

ขอบคุณข้อมูล : กองวิจัยและพัฒนาข้าว กรมการข้าว

                   : สถานีพัฒนาที่ดินฉะเชิงเทรา