เผยแพร่ |
---|
เมื่อเร็วๆ นี้ ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำทีมลงพื้นที่ท่าเรือแหลมทราย หมู่ที่ 6 ตำบลเทพกระษัตรี อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต เยี่ยมชมกระชังเพาะเลี้ยงปลาช่อนทะเลกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงปลาช่อนทะเลและประมงพื้นบ้านแหลมทราย พบว่า
ภูเก็ตนับเป็นแห่งแรกที่สามารถผลิตลูกพันธุ์ปลาช่อนทะเลได้ และสามารถจำหน่ายให้เกษตรกรนำไปเลี้ยง โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งภูเก็ต
กลุ่มผู้เลี้ยงปลาช่อนแหลมทรายแห่งนี้มีสมาชิก 27 ราย จำนวนกระชัง 72 กระชัง พื้นที่ 648 ตารางเมตร สามารถผลิตได้ 4 ตันต่อปี ราคาที่เกษตรกรขายได้กิโลกรัมละ 200-250 บาท
เนื้อปลาช่อนทะเลนิยมนำมาใช้ทำปลารีดเลือด หรือปลาดิบ หรือซาชิมิ เริ่มเป็นที่นิยม จนทำให้ปัจจุบันผลิตได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการตลาดผู้บริโภค
ร.อ. ธรรมนัส กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมประมง จึงพร้อมที่จะเข้ามาสนับสนุนทั้งในเรื่ององค์ความรู้ งานวิจัย และแหล่งเงินทุน เพื่อให้สามารถต่อยอดการประกอบอาชีพได้อย่างยั่งยืน
สำหรับแนวทางพัฒนาส่งเสริมของกรมประมง จะพัฒนาและถ่ายทอดนวัตกรรมการผลิตลูกพันธุ์สู่ภาคเอกชน ควบคู่การผลิตลูกพันธุ์โดยภาครัฐ
นอกจากนี้ ยังประกาศเพิ่มพื้นที่อนุญาตเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำควบคุม ประเภทการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในกระชังในพื้นที่ที่เหมาะสมโดยคณะกรรมการประมงประจำจังหวัด อีกทั้งยังมีการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อให้สามารถลดต้นทุนในทุกด้าน เช่น การผลิตอาหารสำเร็จรูป การพัฒนาสายพันธุ์ที่โตดี FCR ต่ำด้วย
นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมงกล่าวว่า “ปลาช่อนทะเล” เป็นปลาที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจชนิดหนึ่ง เนื่องจากมีขนาดตัวใหญ่ โตเร็ว เนื้อมีสีขาว รสชาติดี มีคุณค่าทางโภชนาการและกรดไขมันที่ไม่อิ่มตัว (DHA) สูง นำมาประกอบเมนูอาหารได้หลากหลาย ทำให้ได้รับความนิยมเป็นวงกว้าง
ซึ่งปัจจุบันยังผลิตได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ โดยมีราคาจำหน่ายสูงถึงกิโลกรัมละ 180-250 บาท
กรมประมงโดยศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งภูเก็ต ศึกษาวิจัยในการเพาะพันธุ์ปลาช่อนทะเลประสบความสำเร็จเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2543 โดยรวบรวมพันธุ์ปลาช่อนทะเลจากอ่าวพังงามาเลี้ยงเป็นพ่อแม่พันธุ์ในกระชัง และนำมาเพาะพันธุ์ในบ่อซีเมนต์ ถ่ายน้ำทุกวันจนสามารถวางไข่และผลิตลูกพันธุ์ได้ตามธรรมชาติ
ปัจจุบันศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งภูเก็ต กลายเป็นหน่วยงานหลักที่สามารถผลิตและอนุบาลลูกพันธุ์ปลาช่อนทะเลได้อย่างต่อเนื่องถึงปีละ 20,000-25,000 ตัว เพื่อจำหน่ายให้แก่เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต พังงา กระบี่ ตรัง สุราษฎร์ธานี ชลบุรี และสมุทรสาคร
ให้ผลผลิตรวมในปี 2567 ประมาณ 36,000-48,000 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่ากว่า 8 ล้านบาท โดยคาดการณ์ว่าในปี 2568 จะมีผลผลิตสูงถึง 60,000-70,000 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่ากว่า 12 ล้านบาท
นอกจากนี้ ทางศูนย์ยังถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาช่อนทะเลในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียงในด้านต่างๆ ได้แก่ อบรมและเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการจัดการการเลี้ยง การถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีการเลี้ยงปลาช่อนทะเลในกระชัง ด้วยอาหารเม็ดสำเร็จรูปต้นทุนต่ำ
อบรมการแปรรูปปลาช่อนทะเลตามความต้องการของตลาด เพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตร่วมกับสำนักงานประมงจังหวัด เช่น การทำเมนูซาชิมิ
นายศิริโรจน์ ลิ้มนันทพิสิฐ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงปลาช่อนทะเลบ้านแหลมทราย จังหวัดภูเก็ต เล่าว่า ตนเองประกอบอาชีพเลี้ยงปลาทะเลในกระชังตั้งแต่ปี 2530 ประกอบด้วย ปลาเก๋า ปลากะพงแดง ปลากะพงขาว ปลากะมง กุ้งมังกร และปลาช่อนทะเล
และพบว่าปลาช่อนทะเลเป็นปลาที่มีความต้องการทางตลาดสูงมากทำให้ผลผลิตไม่เพียงพอ
จึงรวมกลุ่มพี่น้องชาวประมงพื้นบ้านในพื้นที่ก่อตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงปลาช่อนทะเลบ้านแหลมทรายขึ้น เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตและสร้างความมั่นคงด้านการประกอบอาชีพให้กับสมาชิก
โดยส่งเสริมให้มีการเลี้ยงปลาในกระชังแบบผสมผสาน และมีระยะเวลาการจับจำหน่ายที่แตกต่างกัน เพื่อให้สมาชิกมีรายได้ตลอดทั้งปี ร่วมกับการเลี้ยงปลาช่อนทะเลที่มีระยะเวลาการเลี้ยง 1 ปี ซึ่งจะได้ปลาที่มีน้ำหนักประมาณ 4-5 กิโลกรัมต่อตัว
สมาชิกต้องเลี้ยงภายใต้มาตรฐานเดียวกันทำให้ปลามีคุณภาพและมีราคาจำหน่ายสูง สร้างรายได้เพิ่มให้แก่สมาชิกในกลุ่มรายละประมาณ 5,000-6,000 บาทต่อเดือน
ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 27 ราย จำนวนกระชัง 72 กระชัง ผลิตปลาช่อนทะเลได้กว่า 4,000 กิโลกรัมต่อปี นอกจากนี้ ยังมีการนำเทคโนโลยีในการลดต้นทุนด้านอาหารมาปรับใช้ เพื่อสร้างแรงจูงใจในการเลี้ยงให้กับสมาชิกในกลุ่มอีกด้วย
ทั้งนี้ กรมประมงมีแผนเพิ่มศักยภาพการผลิตลูกพันธุ์ปลาช่อนทะเลเพื่อรองรับความต้องการของเกษตรกร โดยขุนเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ให้มีไข่ที่สมบูรณ์ตลอดทั้งปี มีเป้าหมายการผลิตลูกพันธุ์ปลาช่อนทะเลไม่น้อยกว่า 25,000 ตัวในปี 2567 และเพิ่มขึ้นในปีต่อๆ ไป
ผู้สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งภูเก็ต โทร. 076-510-052-3
ที่มา : ข่าวสดออนไลน์ https://www.khaosod.co.th/lifestyle/news_777777807587