เผยแพร่ |
---|
พืชทุกชนิดมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ธาตุอาหารเพื่อการเจริญเติบโต ให้ผลผลิต พืชที่ไม่ได้รับธาตุอาหารในปริมาณที่เหมาะสม จะทำให้พืชแสดงอาการต่างกันออกใบตามลำต้น ใบ ทำให้เราสามารถคาดการณ์ได้ว่าต้องเพิ่มปริมาณธาตุอาหารอะไรให้พืช
การขาดธาตุอาหารของพืชมีหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็น ดินมีธาตุอาหารไม่เพียงพอ หรือดินมีธาตุอาหารแต่ไม่ได้อยู่ในรูปที่เป็นประโยชน์ต่อพืช หรือสมบัติของดินไม่เหมาะต่อการดูดธาตุอาหารของพืช เช่น ความหนาแน่นรวมเพิ่มขึ้น ความพรุนรวมลดลง อินทรียวัตถุในดินเปลี่ยนแปลง ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการปลูกพืชชนิดเดิมในแหล่งเดิมเป็นเวลานานโดยไม่มีการพักดินหรือปรับปรุงดิน ทำให้ธาตุอาหารที่พืชต้องการนั้นลดลงหรือหมดไปนั่นเอง วันนี้เทคโนโลยีชาวบ้านจะพาไปส่อง 12 อาการยอดฮิต ที่บ่งบอกว่าต้นไม้ที่ปลูกกำลังขาดธาตุอาหารชนิดไหนอยู่ ตามไปดูอาการกันเลย
1. ขาด ไนโตรเจน (N)
อาการ : พืชจะมีลักษณะแคระแกร็น ใบแก่มีสีเหลืองอ่อน หรือซีดโดยเริ่มจากปลายใบและใบล่างก่อน หากขาดไนโตรเจนรุนแรงใบจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลและลุกลามเข้าสู่กลางใบเป็นรูปตัววี ใบจะตายหรือร่วงก่อนกำหนด อัตราการเติบโต การแตกยอดอ่อนหรือแขนงจะช้า การออกดอกของพืชจะลดลงอย่างมาก
2. ขาด ฟอสฟอรัส (P)
อาการ : ต้นเตี้ย ใบแก่เป็นสีเขียวเข้ม หรือเขียวแกมน้ำเงิน ใบเล็กผิดปกติ ใบล่างมักจะมีสีเหลืองเจือปนกับสีอื่น รากแก้วสั้น รากฝอยไม่เจริญ หากขาดฟอสฟอรัสรุนแรงใบและต้นจะมีสีม่วงแดง ลำต้นอาจบิดเบี้ยว พืชออกดอกช้า การติดเมล็ดและผลน้อย
3. ขาด โพแทสเซียม (K)
อาการ : พบสีเหลืองซีดตามขอบใบ ตามด้วยอาการขอบใบแห้งมีสีน้ำตาลไหม้ และพบเซลล์ตายโดยเริ่มจากปลายใบลุกลามเข้าสู่กลางใบของใบแก่ หรือใบล่างก่อน พืชเติบโตช้า เนื้อเยื่อของผนังเซลล์ไม่แข็งแรง ลำต้นอ่อนแอหักล้มง่าย ผลหรือเมล็ดมีอาการเหี่ยวย่นหรือบิดเบี้ยว
4. ขาด แมกนีเซียม (Mg)
อาการ : พบอาการสีเหลืองซีดระหว่างเส้นใบโดยเฉพาะเกิดที่ใบแก่หรือใบล่างก่อน ในขณะที่ก้านใบหรือเส้นใบยังคงมีสีเขียวเข้ม อาการสีเหลืองหรือขาวอาจเกิดเป็นทาง บางครั้งอาจมีสีแดงเจือปนแต่เส้นใบยังคงมีสีเขียว ใบเปราะและหักง่าย หากขาดแมกนีเซียมรุนแรง ใบจะแห้งหรือตาย พืชบางชนิดอาจมีใบเล็ก เปราะ และมักจะโค้งงอขึ้นจากปลายใบ พบจุดสีเหลืองซีดระหว่างเส้นใบในพืชผักบางชนิด และอาจมีจุดสีส้มแดงหรือม่วงปะปน ลำต้นและใบติดเชื้อราง่าย ใบจะแก่และร่วงเร็ว
5. ขาด โมลิบดินัม (Mo)
อาการ : พบจุดเหลืองระหว่างเส้นใบที่ใบล่างตามด้วยอาการเหลืองที่ปลายใบ ขอบใบจะแห้ง ใบจะม้วนขึ้น มักพบในพืชตระกูลถั่วมากกว่าในพืชชนิดอื่น โดยใบจะเหลืองทั่วทั้งต้นคล้ายการขาดไนโตรเจน แต่การขาดไนโตรเจนจะพบที่ใบแก่หรือใบล่างก่อน การขาดโมลิบดินัมทำให้พืชตระกูลถั่วลดประสิทธิภาพในการตรึงไนโตรเจนจากอากาศและการเคลื่อนย้ายไนโตรเจนไปสู่กระบวนการสร้างกรดอะมิโนและโปรตีน
6. ขาด สังกะสี (Zn)
อาการ : ใบมีสีเหลืองหรือขาวเป็นทางสลับเขียว แถบสีเหลืองหรือขาวจะเกิดจากปลายใบเข้าสู่โคนใบ และอาจจะมีสีม่วงแดงที่เส้นใบ มักพบในใบที่ 2-3 นับจากยอด ต้นจะเตี้ย ช่วงข้อสั้นและพบจุดสีเหลืองกระจายในใบแก่ จุดเหลืองจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลคล้ายเป็นโรคสนิมเหล็ก และสีเหลืองซีดระหว่างเส้นใบ ตาดอกและผลจะลดลง
7. ขาด ทองแดง (Cu)
อาการ : ใบจะเหลืองและม้วน ในพวกธัญพืช ใบอ่อนอาจมีสีซีดและแห้งตายโดยเริ่มที่ปลายใบ การผสมเกสร การติดเมล็ดและการแตกกอต่ำหรือไม่แน่นอน ใบจะแสดงอาการสูญเสียน้ำหรือเหี่ยวโดยเริ่มที่ใบอ่อนก่อน อาจพบอาการตายจากยอด และผลจะมีจุดสีน้ำตาล
8. ขาด แมงกานีส (Mn)
อาการ : พืชมักจะแสดงอาการไม่ชัดเจนเหมือนกับการขาดเหล็กและสังกะสี มักจะพบอาการสีเหลืองระหว่างเส้นใบในใบอ่อน อาจพบจุดไหม้หรือเซลล์ตาย ทำให้ลำต้นเตี้ย แคระแกร็น ใบอ่อนหรือใบอาจบิดเบี้ยวหรือม้วนย่น อาจพบจุดน้ำตาลที่ใบ ตายอดจะเปลี่ยนเป็นสีดำและตาย มักจะเกิดตาใหม่
9. ขาด เหล็ก (Fe)
อาการ : พบอาการเหลืองระหว่างเส้นใบและพบในใบอ่อนหรือใบส่วนบนก่อน โดยที่ยอดขอบใบหรือเส้นใบยังคงเขียว ใบอาจเล็กผิดขนาดหรือค่อนข้างหนา กรณีที่ขาดเหล็กรุนแรง บริเวณระหว่างเส้นใบหรือเส้นใบจะเหลืองซีด หรือขาวทั่วทั้งใบ และอาจพบเซลล์ตายเป็นหย่อมๆ
10. ขาด กำมะถัน (S)
อาการ : ใบอ่อนหรือใบส่วนบนจะเปลี่ยนเป็นสีเขียวอ่อนหรือเหลืองซีดก่อนที่จะลุกลามสู่ใบล่าง ใบมีขนาดเล็ก ต้นอ่อนเติบโตช้าและชะงัก เนื่องจากขาดโปรตีน การออกดอกไม่แน่นอน ลำต้นพืชมักจะแข็ง เรียวหรือเล็ก
11. ขาด แคลเซียม (Ca)
อาการ : ใบอ่อนจะไม่คลี่ออกจากกัน บิดเบี้ยว เล็ก และมีสีเขียวเข้มผิดปกติ ใบมีลักษณะคล้ายถ้วยและย่น ตาและดอกจะเสื่อมและร่วงหล่นเร็ว ก้านใบอาจแตก การพัฒนาของระบบรากผิดปกติ ลำต้นอ่อนแอ
12. ขาด โบรอน (B)
อาการ : พบอาการไหม้หรือเซลล์ตายของส่วนยอด ทำให้ยอดอ่อนเติบโตไม่ปกติ ร่วง และหลุดง่าย ต้นอาจแตก เปราะ ใบจะหนา ม้วน ย่น และเปราะ หรือใบจะช้ำคล้ายถูกน้ำร้อนลวก สูญเสียคลอโรฟีลล์ หรือมีลักษณะโปร่งแสง ไม่ออกดอกหรือดอกมีการพัฒนาช้า ดอกผสมไม่ค่อยติด มีเมล็ดไม่เต็ม ผลหรือฝักมักจะบิดเบี้ยว รากไม่เจริญ ผิวเปลือกของผลจะหนา เข้ม หยาบ ขรุขระ และอาจจะแตก มีจุดสีน้ำตาลในเนื้อ
มีปัจจัยหลายอย่างที่ส่งผลต่อการขาดธาตุอาหารของพืช ไม่ว่าจะเป็น ชนิดและลักษณะของดิน สภาวะของความชื้นหรือน้ำในดิน แสง อุณหภูมิ นอกจากนี้ ยังเกี่ยวข้องไปถึงลักษณะเฉพาะของแต่ละธาตุในการเคลื่อนย้ายในพืช
การแก้ปัญหาการขาดธาตุอาหารของพืชมีขั้นตอนหลักๆ คือ สังเกตลักษณะอาการ วิเคราะห์ดิน และวิเคราะห์เนื้อเยื่อพืช จากนั้นหาแนวทางการจัดการปรับปรุงดินเพื่อเพิ่มธาตุอาหารแก่พืช การเพิ่มธาตุอาหารพืชในดิน ทำได้โดยการใส่ปุ๋ย ซึ่งเป็นวัสดุหรือสารที่มีธาตุอาหารของพืชเป็นองค์ประกอบ หรือเป็นสิ่งมีชีวิตที่ช่วยสร้างธาตุอาหารให้แก่พืช การใส่ปุ๋ยนอกจากเป็นการเพิ่มปริมาณธาตุอาหารในดินแล้วยังช่วยในการปรับปรุงดินให้พืชสามารถดูดธาตุอาหารไปใช้ได้ดีขึ้น
วิธีแก้เมื่อดินขาดธาตุอาหาร
ธาตุอาหารเหล่านี้มีอยู่มากมาย ทั้งปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยคอก เพราะฉะนั้นแม้ว่าธาตุอาหารจะมีอยู่ในดิน แต่ถ้าเราไม่บำรุงเพิ่มธาตุอาหารเข้าไป ก็จะทำให้พืชที่ปลูกขาดธาตุอาหารที่จำเป็นเหล่านี้ได้
ดังนั้น ควรเพิ่มอินทรียวัตถุและปุ๋ยคอกปรุงดินก่อนปลูกในแต่ละรอบ และฉีดพ่นปุ๋ยอินทรีย์น้ำทางใบพืชเพื่อช่วยในการเจริญเติบโต และช่วยให้พืชสามารถดูดธาตุอาหารได้โดยตรงและได้มากกว่าดูดซึมทางรากอีกด้วย จะช่วยให้พืชฟื้นตัวจากการขาดธาตุอาหารได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
ขอบคุณข้อมูลจาก : กรมวิชาการเกษตร