เผยแพร่ |
---|
เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2567 ณ ห้องประชุมมหิศรภักดี กยท.จ.สงขลา – การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมโต๊ะกลม โดยมี ดร.เพิก เลิศวังพง ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย เป็นผู้นำหารือ พร้อมด้วย นายสุขทัศน์ ต่างวิริยกุล รองผู้ว่าการด้านปฏิบัติการ รักษาการแทนผู้ว่าการ กยท. ร่วมหารือกับ Malaysian Rubber Board (MRB) โดย Dato’Dr. Zairossani Mohd Nor ผู้อำนวยการ MRB, องค์กรพัฒนาเกษตรกรรายย่อยเพื่อลงทุนยางพารา (RISDA) และสมาคมผู้ผลิตถุงมือยางแห่งมาเลเซีย (Margma) รวมถึงคณะผู้แทนจากภาคอุตสาหกรรมยางมาเลเซีย ร่วมนำเสนอความพร้อมในกระบวนการตรวจสอบย้อนกลับยางของไทย ภายใต้กฎระเบียน EUDR หวังยกระดับผลิตภัณฑ์และอุตสาหกรรมยางพาราให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืน พร้อมเสริมสร้างความสัมพันธ์กับคู่ค้า 2 ประเทศ ตลอดจนสำรวจโอกาสทางธุรกิจและการลงทุนในภาคการค้ายาง
ดร.เพิก กล่าวว่า ด้วยนโยบายของนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลระหว่างประเทศไทยและประเทศมาเลเซียที่ต้องการจะพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราของทั้งสองประเทศให้มีประสิทธิภาพและมีมูลค่าเพิ่ม เพื่อประโยชน์ในด้านการค้า การลงทุน และภาคอุตสาหกรรมของยางพารากับทั้งสองประเทศอย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้น ในการเดินทางเยือนประเทศไทยของคณะผู้แทนภาคอุตสาหกรรมมาเลเซียในครั้งนี้ กยท. ในฐานะตัวแทนรัฐบาลไทย ได้ตระหนักและให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับความร่วมมือนี้เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายที่ตั้งไว้และสร้างความสัมพันธ์อันดีให้เกิดขึ้นระหว่างสองประเทศ
ดร.เพิก เผยถึงการนำเสนอความพร้อมของไทยต่อกฎระเบียบ EUDR ว่า ไทยได้ดำเนินการพัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับโดยนำร่องในอุตสาหกรรมยางล้อ และได้รับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และการวิเคราะห์ความเสี่ยง เพื่อนำมาปรับปรุงระบบเป็น version ล่าสุด ที่พร้อมจะให้ผู้ประกอบการสามารถนำเอกสารไปใช้ประกอบการแสดงแหล่งที่มาของผลิตภัณฑ์เข้าสู่สหภาพยุโรปได้ นอกจากนี้ กยท. ได้มีการสื่อสารและเจรจาร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับยางพาราทั้งระบบ โดยเฉพาะประเด็นการบริหารจัดการการตรวจสอบย้อนกลับโดยใช้ตลาดเครือข่าย ประมาณ 500 แห่งทั่วประเทศและตลาดกลางยางพาราของ กยท. ทั้ง 8 แห่ง ดังนั้น เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในอุตสาหกรรมยางพารา และตลาดของผลิตภัณฑ์ยางพาราของ ทั้ง 2 ประเทศควรร่วมแลกเปลี่ยนการแนวทางการทำงานของระบบการตรวจสอบย้อนกลับ และควรพัฒนาคู่มือแนวทางปฏิบัติหรือขั้นตอนการดำเนินการในฐานะประเทศผู้ผลิตและผู้ใช้ยางธรรมชาติร่วมกัน
ดร.เพิก กล่าวเพิ่มเติมว่า สินค้า EUDR และระบบการตรวจสอบย้อนกลับของไทย ได้รับความเชื่อมั่นจากผู้ประกอบกิจการยาง สมาคมยางล้อรถยนต์ของไทย (TATMA) ตลอดจนคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปด้านสิ่งแวดล้อม แต่สิ่งที่ผู้ประกอบการและสมาคมมีความกังวลคือ ปริมาณสินค้าในตลาดเครือข่ายและตลาดกลางยางพาราของ กยท. อาจไม่เพียงพอกับความต้องการ ซึ่งขณะนี้ กยท. บริหารจัดการผลผลิตให้รองรับการตรวจสอบย้อนกลับให้ได้มากที่สุด ดังนั้น ทั้ง 2 ประเทศ ควรผลักดันมาตรฐานการจัดการยางพาราเพื่อความยั่งยืนให้ครอบคลุมทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ภายใต้ความร่วมมือในเวทีต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความร่วมมือสภาไตรภาคียางระหว่างประเทศ ซึ่งจะหารือร่วมกันในเดือนกันยายนนี้
ประธานบอร์ด กยท. เผยถึงนโยบายการสร้างเสถียรภาพราคายางที่ยั่งยืนของไทยว่า ที่ผ่านมา กยท. ได้มีการสนับสนุนการทำสวนยางยั่งยืน โดยการนำเอาระบบ GAP มาส่งเสริมให้แก่เกษตรกร รวมถึงการส่งเสริมระบบตลาดกลางแก่เกษตรกรรายย่อย ลดการเก็งกำไรของพ่อค้าคนกลาง ทำให้ราคายางมีเสถียรภาพและส่งผ่านไปยังเกษตรกรรายย่อยโดยตรง ตลอดจนส่งเสริมระบบเกษตรแปลงใหญ่โดยให้เกษตรกรมีการจัดหาวัตถุดิบร่วมกัน เพื่อลดต้นทุนการผลิตและวางแผนการเก็บเกี่ยวผลผลิตรักษาสมดุลผลผลิตในตลาด
“หวังว่าเวทีหารือระหว่างสองประเทศในครั้งนี้ จะมีส่วนในการพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราทั้งระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศให้เติบโตมากยิ่งขึ้นในฐานะที่ทั้งสองประเทศเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมยางพาราของอาเซียน” ประธานบอร์ด กยท. กล่าวในที่สุด
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นหารือที่สำคัญระหว่าง 2 ประเทศ ซึ่งพูดถึงประเด็นตลาดซื้อ-ขายคาร์บอนของประเทศไทย-มาเลเซีย ซึ่งที่ผ่านมา กยท. สนับสนุนการมีส่วนร่วมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศ ผ่านการดำเนินโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) ทั้งนี้ กยท. มีความสนใจเข้าร่วมการพัฒนาตลาดคาร์บอนในมาเลเซีย ซึ่ง กยท. ได้พัฒนารูปแบบความร่วมมือของภาครัฐ และภาคเอกชนที่สนใจเข้าร่วมลงทุนคาร์บอนสะสมในพื้นที่สวนยางพารา ประเด็นการสร้างความยั่งยืนยางสำหรับอุตสาหกรรมยางในภาคกลางน้ำและปลายน้ำ โดย กยท. ได้ดำเนินการถ่ายทอดเทคโนโลยีผลิตภัณฑ์ยางสู่ผู้ประกอบการ โดยมีการคัดเลือกผลิตภัณฑ์ต้นแบบจากงานวิจัยและความต้องการของผู้ประกอบกิจการยาง เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่สถาบันเกษตรกรและผู้ประกอบการ ดังนั้น กยท. มีความยินดีที่จะร่วมวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี ผลิตภัณฑ์จากยางธรรมชาติ ตลอดจนการค้า การลงทุนและการตลาดกับ MRB คาดว่าจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผู้ผลิต และอุตสาหกรรมยางตลอดห่วงโซ่อุปทานได้มากยิ่งขึ้น และประเด็นการแลกเปลี่ยนแนวทางการพัฒนางานวิจัยต้นน้ำ ซึ่ง กยท. ได้พูดถึงการพัฒนาเครื่องมือกรีดยางด้วยเครื่องจักร โดยนำระบบกรีดความถี่ต่ำที่มีความเป็นไปได้เพื่อปรับใช้ให้เหมาะกับสถานการณ์ของแรงงานกรีด รวมถึงการเพิ่มผลผลิตด้วยการสนับสนุนให้เกษตรกรชาวสวนยางใช้ฮอร์โมนเอทธิลีนในการเก็บเกี่ยวผลผลิต ซึ่งผลลัพธ์ที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นว่า ทั้ง 2 แนวทางสามารถแก้ปัญหาเรื่องการขาดแคลนแรงงาน และวัตถุดิบได้ดี ดังนั้น ไทยยินดีให้ความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาร่วมกับ MRB เพื่อยกระดับงานวิจัยนำไปสู่การปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพเกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรสถาบันเกษตรกร ตลอดจนภาคอุตสาหกรรมยางพาราอย่างยั่งยืนต่อไป