เผยแพร่ |
---|
นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่าภายในเดือนกันยายน 2567 คาดว่าจะได้โมเดลการซื้อขายคาร์บอนเครดิตมันสำปะหลัง เป็นพืชตัวแรกของพืชเศรษฐกิจนำร่อง 6 ชนิดและภายในปี 67 นี้จะครบทั้งหมดเพื่อใช้ขยายผลให้เกษตรกร สถาบันเกษตรกร วิสาหกิจชุมชนหรือหน่วยงานที่สนใจเข้าร่วมโครงการขายคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจตามมาตรฐานประเทศไทยT-VER ขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก(องค์การมหาชน) หรือ อบก. ปัจจุบันกรมได้เตรียมหน่วยงานตรวจรับรองคาร์บอนเครดิตภาคการเกษตร(CB) ซึ่งใกล้จะได้รับการรับรองจากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม( สมอ.) และได้อบรมเจ้าหน้าที่เป็นผู้ตรวจประเมินภายนอกสำหรับโครงการภาคสมัครใจ(VVB) ตามหลักสูตรของอบก.จำนวน 31 รายรวมถึงการจัดตั้งหน่วยงานกองวิจัยพัฒนาพืชเศรษฐกิจใหม่และการจัดการก๊าซเรือนกระจกสำหรับภาคเกษตร เพื่อให้บริการต่อประชาชนซึ่งเป็นไปตามแผนงานและนโยบายของร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
“กรมอยู่ระหว่างทำเส้นฐานคาร์บอนเครดิตของพืชเศรษฐกิจหลักระดับประเทศ (National Carbon Credit Baseline)เป็นฐานคำนวณปริมาณคาร์บอนเครดิตเพื่อใช้คิดค่าตอบแทนการซื้อขายระหว่างผู้ซื้อคาร์บอนเครดิตและเกษตรกรโดยพืชนำร่องคือ อ้อย ปาล์มน้ำมัน ยางพารา มันสำปะหลัง ทุเรียน มะม่วง สำหรับการขายคาร์บอนเครดิตนี้ถือว่าเป็นเงินออมของเกษตรกรอีกก้อนหนึ่ง ในอนาคตจะขยายไปกลุ่มพืชอื่นด้วยและขยายการรับรองคาร์บอนเครดิตสำหรับกิจการที่ใช้ถ่านไบโอชาร์ Biocharด้วย นอกจากศึกษาวิจัยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ในพืชเศรษฐกิจสำหรับส่งเสริมการเกษตรพืชคาร์บอนต่ำเพื่อเพิ่มโอกาสแข่งขันทางการตลาดการค้าของไทยในตลาดโลกซึ่งในไทยมีความต้องการคาร์บอนเครดิตอีกมาก”นายรพีภัทร์กล่าว
นายสมคิด ดำน้อย ผู้อำนวยการกองวิจัยพัฒนาพืชเศรษฐกิจใหม่ฯ เปิดเผยว่า กรมได้เชิญหน่วยงานรับรองก๊าซเรือนกระจก มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นผู้ตรวจประเมินภายนอก(VVB )ของโครงการก๊าซเรือนกระจกและเพิ่มการกักเก็บคาร์บอนในแปลงมันสำปะหลัง จ.ระยองพื้นที่ 87 ไร่ของกรม เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลปริมาณคาร์บอนฯที่สะสมในดินของแปลงโครงการมาคำนวณเป็นผลตอบแทน ซึ่งราคาซื้อขายคาร์บอนเครดิตปี 2567 ประมาณ 132 บาทต่อตันคาร์บอนฯ โดยประมาณการรายได้ของพืชเศรษฐกิจนำร่อง 6 ชนิด เนื่องจากยังไม่มีการซื้อขายในภาคเกษตร กรมจึงใช้ฐานราคาจากค่าเฉลี่ยโครงการ T-VER ภาคป่าไม้ เฉลี่ยตันละ 172 บาท (ราคาปี66)มาคำนวณโดยยางพารา มีค่าคาดการณ์ปริมาณคาร์บอนเครดิต 4.20 ตันคาร์บอนฯต่อไร่ต่อปี มีมูลค่า 722,400 บาทต่อพื้นที่ 1,000 ไร่ต่อปี มันสำปะหลังได้คาร์บอนฯ 3.02 ตันต่อไร่ มูลค่า 519,440 บาท ต่อ 1,000ไร่ ต่อปี เป็นต้น ทั้งนี้ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจนั้น กวก.และ อบก.แนะนำว่าเกษตรกรควรรวมตัวเป็นสหกรณ์หรือวิสาหกิจชุมชนให้ได้พื้นที่รวมกัน 500-1,000 ไร่ขึ้นไปและขายคาร์บอนฯในปีที่ 7 ตามอายุโครงการ T-VER ภาคเกษตร จะมีความคุ้มค่ามากที่สุด.