“กล้วยหอมทองถ้ำสิงห์” พืชทางเลือกใหม่ชุมพร ญี่ปุ่นต้องการอีกเพียบ

หากเอ่ยชื่อ “กล้วยหอมทอง” ถือเป็นผลไม้ที่ขึ้นชื่ออีกชนิดหนึ่งของจังหวัดชุมพร และเป็นกล้วยที่มีศักยภาพในการส่งออกมากที่สุดเมื่อเทียบกับกล้วยอื่นๆ เพราะมีรสชาติดี กลิ่นหอม เปลือกบาง ไม่เหนียวเกินไป สีผิวของกล้วยเมื่อสุกจะเป็นสีเหลืองทอง แต่ละผลเรียงกันอยู่ในหวีสวยงาม ทำให้เป็นที่นิยมของผู้บริโภค ทั้งตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ จึงมีแนวโน้มความต้องการของตลาดเพิ่มมากขึ้น พื้นที่ปลูกกล้วยหอมทองที่สำคัญของไทย ได้แก่ จังหวัดชุมพร ปทุมธานี เพชรบุรี สุราษฎร์ธานี สระบุรี และหนองคาย ส่วนคู่ค้าที่สำคัญของไทยคือ ญี่ปุ่น จีน ลาว โดยเฉพาะญี่ปุ่นที่มีความต้องการสูงมาก

กล้วยหอมทองที่รับซื้อจากสมาชิก

“กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่กล้วยหอมทองตำบลถ้ำสิงห์” ตั้งอยู่ในหมู่ที่ 3 บ้านควนจำปา ตำบลถ้ำสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร เป็นกลุ่มเกษตรกรที่มีการรวมตัวกันอย่างเหนียวแน่นของสมาชิกจำนวน 53 ราย ภายใต้การนำของ นายปรีชา เสนแก้ว อายุ 42 ปี ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 3 ตำบลถ้ำสิงห์ ที่ทำหน้าที่ประธานกลุ่มด้วย โดยนายปรีชาให้ข้อมูลว่า เมื่อปี 2553 สมัยที่ นายการัณย์ ศุภกิจวิเลขการ เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร (ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว) ได้อนุมัติงบพัฒนาจังหวัด 7 ล้านบาท ก่อสร้างโรงล้างทำความสะอาด เป่าแห้ง บรรจุกล่องและห้องเย็นเก็บรวบรวมกล้วยหอมทองเพื่อส่งให้สหกรณ์โยโดงาวะ เมืองโอซากะ และเมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่น

การล้างทำความสะอาด

“กล้วยหอมทองเป็นกล้วยที่มีการปลูกในไทยเท่านั้น กล้วยของประเทศอื่นแม้ลูกจะใหญ่กว่า แต่รสชาติและกลิ่นสู้กล้วยหอมทองของไทยไม่ได้ ญี่ปุ่นจึงแนะว่า ไทยควรมีการอนุรักษ์และเพิ่มพื้นที่ปลูกกล้วยหอมทองให้มากขึ้น เพื่อความยั่งยืนและผลิตออกอย่างต่อเนื่อง กลุ่มของเราส่งกล้วยหอมทองไปญี่ปุ่นปีละประมาณ 400 กว่าตัน ราคากิโลกรัมละ 15 บาท ใช้ตู้คอนเทนเนอร์ขนไปท่าเรือแหลมฉบัง สัปดาห์ละ 3 ตู้ นำรายได้เข้าชุมพรปีละประมาณ 6 ล้านบาท ส่วนภาพรวมของประเทศเราส่งไปญี่ปุ่นได้ปีละประมาณ 2,000 ตันเท่านั้น ขณะที่ญี่ปุ่นให้โควตาไทย 8,000 ตันต่อปี และกล้วยหอมทองในญี่ปุ่นจำหน่ายกันผลละ 25 บาท จึงอยากให้คนที่โค่นยางพารา โค่นปาล์มน้ำมันทิ้ง หันมาปลูกกล้วยหอมทอง ถ้ามีสวนยางพารา สวนปาล์มน้ำมันอยู่ ก็ปลูกกล้วยหอมทองเป็นพืชแซมก็ได้ เพราะมีตลาดรับซื้อที่แน่นอน นอกจากนั้น ยังมีตลาดต่างๆ ในประเทศที่รับซื้อกล้วยหอมทองตกเกรดด้วย” นายปรีชา กล่าว

ลำเลียงกล้วยด้วยสายพานพร้อมการเป่าแห้ง

นายปรีชา กล่าวว่า กลุ่มของตนเองจะมีการทำตลาดล่วงหน้า 2 เดือน เช่น หากวันนี้แจ้งการตัดปลีตัดเครือกล้วยหอมทองเข้ามา ทางกลุ่มก็จะเสนอขายทันที ส่วนการรับซื้อจากเกษตรกรคือสัปดาห์ละ 300-400 กล่อง กล่องละ 12.5 กิโลกรัม ในตำบลถ้ำสิงห์มีหน่อกล้วยหอมทองประมาณ 7-8 หมื่นหน่อ กล้วยหอมทองสามารถปลูกได้ทุกที่และปลูกได้ทั้งปี ก่อนปลูกเราจะลงไปตรวจสอบให้ก่อนว่าพื้นที่เหมาะสมและมีแหล่งน้ำเพียงพอหรือไม่ ขณะนี้โรงล้างทำความสะอาด เป่าแห้ง บรรจุกล่อง และห้องเย็นเก็บรวบรวมกล้วยหอมทองก่อนส่งออกไปญี่ปุ่น มีคนงานจำนวน 20 คน มี นายวีระพล ศรีเดช อายุ 46 ปี เป็นหัวหน้า ส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านในพื้นที่ ทำงานเวลา 08.30-16.00 น. ได้ค่าแรงคนละ 350 บาทต่อวัน กล้วยตกเกรดของกลุ่มจะนำไปแปรรูปเป็นกล้วยฉาบ กล้วยทอด มีเครื่องหมายการค้า (Brand) คือ “หอมสิงห์” และยังนำไปทำอาหารสัตว์ มีหลายหน่วยงาน เช่น สำนักงานพัฒนาชุมชน กรมส่งเสริมวิชาการเกษตร สำนักงานอุตสาหกรรม สปก. ธ.ก.ส. ให้การสนับสนุน

กล้วยที่บรรจุลงกล่องก่อนเก็บในห้องเย็น

นายปรีชาได้พาสื่อมวลชนเยี่ยมโรงล้างทำความสะอาด เป่าแห้ง บรรจุกล่อง และห้องเย็นเก็บรวบรวมกล้วยก่อนส่งออก แบ่งเป็นจุดรับซื้อ จุดล้างทำความสะอาด จุดลำเลียงโดยสายพานที่มีการเป่าแห้ง จุดติดสติ๊กเกอร์เป็นรหัสระบุสถานที่รับซื้อที่และผู้ที่นำกล้วยมาส่ง จุดนำกล้วยลงบรรจุภัณฑ์ และห้องเย็นอุณหภูมิ 13 องศาที่ใช้เก็บรวบรวมกล้วยที่บรรจุลงกล่องแล้ว

ชั่งน้ำหนักกล้วย

กล้วยหอมทองถือเป็นพืชทางเลือกใหม่ ที่สามารถปลูกเป็นพืชหลักหรือเป็นพืชแซมก็ได้ เมื่อปลูกแล้วจะมีตลาดรับซื้อที่แน่นอน มีการประกันราคาเพราะทำตลาดล่วงหน้า ที่สำคัญก็คือประเทศญี่ปุ่นยังต้องการกล้วยหอมทองจากไทยอีกเป็นจำนวนมาก

Advertisement
ห้องเย็นเก็บกล้วยหอมทอง
โรงเก็บกล้วยหอมทอง
ความร่วมมือระหว่างไทย ญี่ปุ่น

Advertisement