เลี้ยง “ปูขาวอินทรีย์” แก้หนี้ นำร่องพื้นที่ “นิคมสหกรณ์ปากพญา”

กรมส่งเสริมสหกรณ์ โดยนิคมสหกรณ์ปากพญา ตำบลปากนคร อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ร่วมกับสำนักงานประมงจังหวัดนครศรีธรรมราช และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราช (เกษตรไสใหญ่) จัดโครงการแก้หนี้สมาชิกในนิคมฯ ด้วยการส่งเสริมอาชีพเลี้ยงปูขาวอินทรีย์และยกระดับความสามารถในการผลิตของสมาชิกสหกรณ์นิคมประมงนครศรีธรรมราช จำกัด ในพื้นที่ลุ่มน้ำปากนคร-ปากพญา ครอบคลุมพื้นที่กว่า 3,000 ไร่ ในเขตนิคมสหกรณ์ปากพญา โดยสำนักงานประมงจังหวัดนครศรีธรรมราชจัดหาลูกปูขาว 1 เซนติเมตร จำนวน 22,000 ตัว และอุปกรณ์สำหรับจัดทำน้ำหมักจุลินทรีย์แก่สมาชิกแกนนำจำนวน 5 รายที่ผ่านการคัดเลือกจากนิคมสหกรณ์ฯ และจัดการอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการเลี้ยงจากทีมอาจารย์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราช ตั้งแต่การเตรียมบ่อ การสังเกตลักษณะของดินในบ่อ การทำน้ำหมักจุลินทรีย์เพื่อใช้ในการปรับสภาพน้ำในบ่อ การจัดเตรียมอาหารสำหรับปูอนุบาล เพื่อต้องการให้เป็นโครงการนำร่องต้นแบบให้กับสมาชิกคนอื่นๆ ในนิคมฯ และสำหรับผลผลิตที่เกิดขึ้นสหกรณ์นิคมประมงนครศรีธรรมราช จำกัด จะดำเนินการรวบรวมผลผลิตจากสมาชิกส่งออกสู่ตลาดต่อไป

“ปูขาวเป็นปูทะเลสายพันธุ์หนึ่งซึ่งเป็นปูพื้นเมืองของอ่าวไทยจะอยู่ตามป่าชายเลน โตเต็มที่น้ำหนักประมาณกิโลครึ่ง ไซซ์ 8 ขีดขึ้นไป กิโลกรัมละไม่ต่ำกว่าพันบาทมีในธรรมชาติ แต่ส่วนใหญ่จะติดโรคตัวแดงเหมือนกุ้ง ติดโรคแล้วจะไม่มีเนื้อ ราคาปูขาวดีไม่ค่อยมีปัญหาเหมือนปูดำปูแดง ฝั่งอันดามันตัวจะเล็กกินไม่อร่อย” นายสมเจตน์ จันทร์แก้ว หนึ่งในสมาชิกสหกรณ์นิคมประมงนครศรีธรรมราช จำกัด ที่ได้รับการคัดเลือกให้เลี้ยงปูขาว ภายใต้โครงการนำร่องต้นแบบแก้ปัญหาหนี้สินของนิคมสหกรณ์ปากพญา เผยถึงจุดเด่นของปูขาว หลังได้รับการส่งเสริมการเลี้ยงจากนิคมสหกรณ์ฯ บนเนื้อที่ 30 ไร่ที่ได้รับการจัดสรรจากนิคมสหกรณ์ฯ หลายปีแล้ว

นายสมเจตน์ เผยต่อว่า ครอบครัวตนเองยึดอาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำแบบธรรมชาติมาอย่างยาวนาน ผ่านมาหมดแล้วทั้งกุ้ง หอย ปู ปลา แต่ปูขาวยังไม่เคยเลี้ยงมาก่อนในพื้นที่ปิด แต่จากการได้เข้ารับการอบรมมองว่าคงเลี้ยงไม่ยากและอาศัยองค์ความรู้จากประสบการณ์เลี้ยงที่ผ่านมา และได้รับความรู้เพิ่มเติมจากวิทยากรที่แนะนำเทคนิคในการเลี้ยงปูตั้งแต่การเตรียมบ่อ ทำน้ำหมักเพื่อลดต้นทุน การเตรียมอาหารที่เหมาะสมกับวัยของลูกปู ซึ่งอาหารของปูก็จะเป็นแบบอินทรีย์ที่ทำเอง โดยใช้วัตถุดิบในพื้นที่ ซึ่งประกอบด้วยไข่ไก่ น้ำปลา กะปิ ผสมกับหอย ปลาสับเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วนำมาผสมจุลินทรีย์หมัก 2-3 วัน จึงเป็นอาหารลูกปูอนุบาล ทั้งนี้ เพื่อเป็นการประหยัดต้นทุนในเรื่องของอาหารลูกปู โดยอนุบาลลูกปูไว้ประมาณ 1-2 สัปดาห์ได้ตัวขนาด 3-5 เซนติเมตร จากนั้นจึงแบ่งให้เครือข่ายที่อยู่ในทีมอีก 6 ราย รายละประมาณ 320 ตัว เพื่อขยายผลนำไปเลี้ยงในบ่อของตนเองต่อไป

Advertisement

Advertisement

“ผมผ่านการเลี้ยงมาหมดแล้วทั้งกุ้ง หอย ปู ปลา ก็เลยมาลองปูขาวบ้าง ปูก็เลี้ยงมาเป็นสิบปีแล้ว รายได้หลักก็มาจากปูกับกุ้งนี่แหละ ในพื้นที่ผมมี 30 ไร่ จะแบ่งเป็น 4 บ่อ มีบ่ออนุบาลกุ้งและปู บ่อเลี้ยงขุน และมีเลี้ยงกุ้งกุลาดำด้วย จัดซื้อพันธุ์ลูกกุ้งมาจากสหกรณ์ซึ่งสหกรณ์ได้จัดซื้อจากฟาร์มที่มีประกอบกิจการสัตว์ควบคุมและมีเลขทะเบียนผู้ประกอบการด้านการประมง มีความน่าเชื่อถือ อาหารที่ใช้เลี้ยงก็เป็นหอยในทะเลซึ่งมีอยู่ในพื้นที่เป็นจำนวนมาก ส่วนปลากะพงจะไม่เลี้ยงเพราะราคาไม่ดี ลูกปูขาวทางประมงจังหวัดก็สนับสนุนพันธุ์ลูกปูให้ฟรี อาหารก็เป็นอาหารจากธรรมชาติที่เราผลิตเอง” สมาชิกนิคมสหกรณ์ปากพญารายเดิมกล่าวว่า ในส่วนเรื่องตลาดไม่มีปัญหา ทางสหกรณ์นิคมประมงนครศรีธรรมราช จำกัด จะทำหน้ารวบรวมผลผลิตจากสมาชิกแล้วจะมีพ่อค้ามารับซื้อโดยผ่านการประมูล ในราคาที่สูงกว่าท้องตลาดทั่วไป

“ปกติเมื่อถึงคิวจับกุ้งจับปูในบ่อ สมาชิกก็จะมีพ่อค้าเข้ามาทำการประมูลจากสหกรณ์ที่ได้ทำการรวบรวมผลผลิตจากสมาชิกอยู่แล้ว สมาชิกส่วนใหญ่ก็จะขายผลผลิตให้กับสหกรณ์ มีบ้างที่ขายกับพ่อค้า เพราะบางรายไม่มีเงินลงทุน เขาก็ไปขอพันธุ์ปูจากพ่อค้าคนกลางมาปล่อยก่อนแล้วก็ทำสัญญาจะต้องไปขายเขา แต่ทั้งนี้ สหกรณ์นิคมประมงนครศรีธรรมราช จำกัด ก็มีเงินให้กู้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ กุ้ง ปู อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 บาทต่อปี ซึ่งผมก็กู้เงินสหกรณ์มาลงทุนในการปรับปรุงสภาพและจัดซื้อลูกกุ้ง ลูกปู” นายสมเจตน์ กล่าว

ขณะที่ นายมนัย ขาวมานิตย์ ผู้อำนวยการนิคมสหกรณ์ปากพญา กล่าวว่า การส่งเสริมอาชีพเลี้ยงปูขาวของสมาชิกสหกรณ์ฯ ผ่านนิคมสหกรณ์ปากพญานั้นเป็นโครงการแก้หนี้ที่นิคมสหกรณ์ฯ ได้บูรณาการร่วมกับสำนักงานประมงจังหวัดและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราช (เกษตรไสใหญ่) โดยนำร่องกับสมาชิกแกนนำก่อน 5 ราย จากทั้งหมด 135 ราย  โดยทำการวิจัยและพัฒนาการเลี้ยงปูทะเลในพื้นที่ลุ่มน้ำปากนครให้เหมาะสมกับพื้นที่และช่วยพลิกฟื้นชีวิตเศรษฐกิจชุมชนด้วย

“ทีมวิจัยพบว่าพื้นที่ลุ่มน้ำปากนคร-ปากพญาเหมาะสำหรับการเลี้ยงปูดำ ปูดำมีหลายสายพันธุ์ เช่น ปูดำ ปูแดง ปูเขียว ปูขาว ซึ่งค้นพบว่าปูที่เหมาะกับการเลี้ยงที่นี่ เป็นปูดำสายพันธุ์ปูขาว เลี้ยงง่ายโตเร็วที่สุด ไม่ค่อยเจาะทำลายดิน สามารถนำมาส่งเสริมพัฒนาอาชีพให้สมาชิกในเขตนิคมสหกรณ์ปากพญาให้มีรายได้เพียงพอสำหรับเลี้ยงชีพและมีเงินสามารถชำระหนี้ได้  ซึ่งได้คัดเลือกสมาชิกที่เป็นแกนนำจำนวน 5 ราย 5 บ่อ ปล่อยลูกปูขาวไปสองหมื่นสองพันตัวโดยได้รับการสนับสนุนลูกพันธุ์ปูขาวจากกรมประมง” ผู้อำนวยการนิคมสหกรณ์ปากพญาระบุ

ด้าน นายเฉลิม นวมนิ่ม สหกรณ์จังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า สำหรับโครงการส่งเสริมอาชีพเลี้ยงปูขาวของสมาชิกนิคมสหกรณ์ปากพญานั้น เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างสหกรณ์นิคมปากพญา สำนักงานประมงจังหวัดนครศรีธรรมราช และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราช (เกษตรไสใหญ่) โดยเริ่มมาประมาณ 5 เดือนที่ผ่านมา ก่อนหน้านี้มีการเลี้ยงแบบธรรมชาติ เอาลูกปูลูกกุ้งจากธรรมชาติมาปล่อยเลี้ยงตามธรรมชาติ ไม่ได้มีการให้อาหารแต่อย่างใด เกษตรกรจะดูแลระบบน้ำเท่านั้น

“โครงการล่าสุดนี้ทางนิคมสหกรณ์ปากพญาเข้าไปส่งเสริมผ่านทางสหกรณ์นิคมประมงนครศรีธรรมราช จำกัด มีสมาชิกร้อยกว่าคนทั้งหมดประกอบอาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและทำประมงพื้นบ้าน อาชีพเสริมไม่มี เพราะดินเค็มปลูกพืชผักอะไรไม่ได้ เขาจึงมีรายได้จากตรงนี้เป็นหลัก”

สหกรณ์จังหวัดนครศรีธรรมราชยอมรับว่าการประกอบอาชีพของสมาชิกมีปัญหาในเรื่องพื้นที่ทำกินซึ่งเป็นพื้นที่ป่าสงวนฯ หลังจากกรมส่งเสริมสหกรณ์สิ้นสุดสัญญาเช่าระยะเวลา 30 ปีจากกรมป่าไม้เมื่อไม่นานมานี้ จนถึงขณะนี้ไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาดูแลรับผิดชอบโดยตรง พื้นที่จึงถูกโอนมาอยู่ในความดูแลของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ทำให้สมาชิกที่ประกอบอาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์อยู่เดิมนั้นไม่สามารถทำการปรับปรุงสภาพบ่อเลี้ยงหรือใดๆ ได้

“เดิมพื้นที่บริเวณนี้กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้เช่าจากกรมป่าไม้เป็นระยะเวลา 30 ปี แต่ตอนนี้สัญญาเช่าหมดแล้วทางนิคมสหกรณ์ฯ ไม่สามารถเข้าไปจัดระเบียบอะไรได้ เพียงแต่ว่าให้สมาชิกทำกินไปตามสภาพ ไม่สามารถเอาเครื่องจักรเข้าไปปรับปรุงพื้นที่ได้ ถ้าชาวบ้านจะปรับปรุงก็ต้องขออนุญาตจากสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติฯ จังหวัดเป็นรายๆ ไป” นายเฉลิม กล่าวย้ำ

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2567 นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ และคณะได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมติดตามการดำเนินงานของนิคมสหกรณ์ปากพญา พร้อมรับฟังผลการดำเนินงาน ปัญหา อุปสรรค แนะนำแนวทางปฏิบัติงาน และเยี่ยมชมบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของเกษตรกรสมาชิกในนิคมฯ ที่เข้าร่วมโครงการขยายผลอาชีพเลี้ยงปูทะเลในพื้นที่ลุ่มน้ำปากนคร-ปากพญา และยกระดับความสามารถในการผลิตของเกษตรกรในนิคมสหกรณ์ปากพญา การส่งเสริมอาชีพเพาะเลี้ยงปูขาวอินทรีย์ให้กับสมาชิกสหกรณ์นิคมประมงนครศรีธรรมราช จำกัด ตำบลปากนคร อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ของกรมส่งเสริมสหกรณ์ โดยผ่านสหกรณ์นิคมปากพญา นับเป็นก้าวสำคัญในการสร้างอาชีพเพิ่มรายได้ โดยมีเป้าหมายสำคัญในการแก้ปัญหาหนี้สินของสมาชิก ส่งผลให้สมาชิกมีความกินดีอยู่ดี