เผยแพร่ |
---|
กากกาแฟสด ที่ผ่านขั้นตอนการคั่ว บด กลั่น นอกจากจะให้ความอร่อยในยามเช้า และยังเป็นประโยชน์สำหรับคนที่ชอบปลูกต้นไม้ได้อีกด้วย กลุ่มคนรักไม้ดอกไม้ประดับ เลี้ยงแค็กตัส ซัคคิวแลนด์ หรือไม้ขนาดเล็ก รวมทั้งยังเสริมการทำงานของปุ๋ยหมัก หรือปุ๋ยอินทรีย์ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และเหมาะกับพันธุ์ไม้อีกหลายชนิด รวมทั้งพืชผักสวนครัว
โดยเฉพาะในกลุ่มไม้หัวอย่างแคร์รอต และยังช่วยป้องกันโรครากเน่า บำรุงต้นไม้ให้แข็งแรงสดชื่นอยู่ตลอดเวลา และยังเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งในช่วงที่ปุ๋ยราคาแพง แถมยังหาวัตถุดิบอย่าง “กากกาแฟ” ได้ง่ายตามร้านขายกาแฟสด
การนำกากกาแฟใช้ทางการเกษตร ควรมีการหมักกากกาแฟก่อนนำไปใช้ จึงเป็นแนวทางหนึ่งที่นักวิจัยแนะนำให้ใช้ ซึ่งนอกจากจะช่วยลดความเป็นพิษต่อพืชและจุลินทรีย์รีย์ในดินแล้ว ยังช่วยเพิ่มปริมาณธาตุอาหารที่พืชสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ และกระตุ้นการดูดซึมธาตุอาหารของพืชอีกด้วย
วิธีทำปุ๋ยกากกาแฟ
– ผสมกากกาแฟกับปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก ก็ใช้เป็นปุ๋ยสำหรับดูแลต้นไม้ได้เช่นกัน สำหรับความถี่ในการใส่ปุ๋ยก็ประมาณสัปดาห์ละ 1 ครั้ง
– หมักกากกาแฟกับน้ำหมักชีวภาพ ทิ้งไว้ประมาณ 1 สัปดาห์ ก็จะได้ปุ๋ยกากกาแฟ
– ผสมกากกาแฟกับเปลือกไข่บด คลุกเคล้าให้เข้ากันแล้วนำไปโรยรอบต้นไม้สามารถช่วยไล่แมลงและศัตรูพืชได้ นอกจากนี้ยังสามารถนำกากกาแฟไปผสมกับดิน กลายเป็นปุ๋ยได้เช่นเดียวกัน
ง่ายๆ เพียงแค่นำกากกาแฟที่ตากแห้งเรียบร้อยแล้ว โรยรอบโคนต้นไม้ แล้วรดน้ำตาม จะช่วยเพิ่มสารอาหารให้กับดิน อุดมไปด้วยธาตุไนโตรเจน ฟอสฟอรัส (P) และโพแทสเซียม (K) มีค่า pH ที่ใกล้เคียงกับธรรมชาติ จึงช่วยปรับสมดุลของหน้าดินได้ดีและช่วยให้ดินมีความร่วนซุยขึ้น ใส่เพียงแค่ 1 ช้อนโต๊ะก็เพียงพอแล้วหากเป็นกระถางใหญ่ หรือหากใส่พวกแค็กตัส ไม้อวบน้ำ ใส่แค่ช้อนชาเดียวและที่สำคัญกากกาแฟจะต้องตากให้แห้งสนิท เพราะขึ้นราง่าย แต่หากใช้ในปริมาณที่พอเหมาะและใช้กับพันธุ์พืชที่นิยมดินเป็นกรด ก็จะทำให้ต้นไม้เจริญงอกงาม
ดังนั้น การใช้กากกาแฟปรุงดินอย่างถูกวิธีจะช่วยเพิ่มความสามารถของดินหรือวัสดุปลูกในการส่งเสริม การเจริญเติบโตของพืชได้อย่างเต็มศักยภาพ และยังนำไปสู่การพัฒนาเกษตรที่ยั่งยืน ปัจจุบันไม่เพียงแต่ร้านกาแฟรายใหญ่อย่างสตาร์บัคที่มีโครงการช่วยลดขยะกากกาแฟ ชื่อว่า “Grounds For Your Garden” โดยแจกกาแฟให้กับลูกค้าที่ต้องการ สามารถหยิบกากกาแฟซึ่งบรรจุถุงไว้เรียบร้อยแล้วไปใช้ได้ฟรีๆ กาแฟท้องถิ่นหลายๆ ร้าน ก็มีการนำโครงการแบบนี้มาใช้ด้วยเช่นกัน
ขอบคุณข้อมูลจาก : คณะเทคโนโลยีและการพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง