กวก.คุมเข้มหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนสั่งบ่ม 2-3วันก่อนส่งออก พบล้งใดถูกจีนตีกลับสั่งระงับใบอนุญาตชั่วคราว

นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร  เปิดเผยว่าเมื่อวันที่3 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมาได้เป็นประธานประชุมการป้องกันหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน  ที่สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 8 จังหวัดสงขลา ติดตามการแก้ไขปัญหาหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนตามมาตรการกรอง 4  ชั้นของกรมวิชาการเกษตร(กวก.)

อีกทั้งจังหวัดยะลามีความประสงค์พัฒนาทุเรียนเพื่อส่งออกเพิ่มขึ้น  ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  จึงกำชับให้บูรณาการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนทั้งศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภายใต้ (ศอ.บต.) กรมส่งเสริมการเกษตร สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร  และสำนักงานที่ปรึกษาเกษตรต่างประเทศประจำประเทศจีน กับหน่วยงานในพื้นที่ เช่นสหกรณ์จังหวัด พาณิชย์จังหวัด เกษตรกร  โรงคัดบรรจุ   และภาคเอกชนผู้รับซื้อผลผลิต  เพื่อป้องกันหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนตลอดห่วงโซ่การผลิตอย่างเข้มข้น ทั้งนี้เพื่อรักษาชื่อเสียงทุเรียนไทยและตลาดส่งออกเดิม โดยเฉพาะเมื่อทางการจีนเปิดด่านท่าเรือกวนเหล่ย

ตั้งแต่  29  กรกฎาคม  67 เป็นต้นไป ทำให้ไทยมีโอกาสจะส่งออกผลไม้จากท่าเรือเชียงแสนไปจีนได้เพิ่มขึ้นอีกช่องทางหนึ่ง  และกรณีทุเรียนที่พบหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนนั้น จะสนับสนุนให้นำเข้าสู่อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร  เครื่องดื่มรวมถึงการบริโภคสดในประเทศจากนั้นจะใช้ยะลาโมเดลขยายผลไปยังพื้นที่อื่นต่อไป

 

“   กวก.ได้กำชับให้ทุกฝ่ายปฏิบัติตามมาตรการกรอง 4 ชั้นป้องกันและกำจัดหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน ประกอบด้วย1.ให้สวนตัดทุเรียนแก่แล้วบ่ม 24  ชั่วโมงก่อนขายโรงคัดบรรจุ  2.ที่โรงคัดบรรจุให้บ่มสุกแยกกองตามแหล่งที่อย่างน้อย 48-72 ชั่วโมงหลังป้ายขั้ว   3.สุ่มตรวจเพิ่มจาก 3% เป็น 5%   ณ โรงคัดบรรจุ และ4.เพื่อป้องหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนให้ตรวจ 100 %  ณ ด่านตรวจพืชปลายทางทุกตู้    ทั้งนี้กรณีโรงคัดบรรจุใดพบปัญหาหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนที่ประเทศปลายทางและถูกตีกลับกรมจะระงับใบอนุญาตโรงคัดบรรจุจนกว่าจะมีการปรับปรุงให้ถูกต้อง มาตรการดังกล่าวให้ทุกสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1-8   ปฏิบัติอย่างเคร่งครัด”  นายรพีภัทร์กล่าว

Advertisement

สำหรับการแก้ไขปัญหาหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนระยะยาวนั้น กวก.จะดำเนินการวิจัยพัฒนาสารฟีโรโมนเพื่อใช้ล่อผีเสื้อหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนตัวผู้เพื่อทำลาย การใช้โดรนเพื่อพ่นกำจัดศัตรูพืชในแปลงปลูก การวิจัยเทคโนโลยีกำจัดศัตรูพืชแบบผสมผสาน(IPM)ควบคู่กับการทำแปลงGAP   และให้สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1-8 สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืชจัดทำแผนที่การแพร่ระบาดของหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนเพื่อวางแผนป้องกันและทำลายได้ทันที.