โรงงานปลาป่นสมุทรสาครร่วมมือกับซีพีเอฟ เปิดรับซื้อปลาหมอคางดำ

โรงงานปลาป่นสมุทรสาครร่วมมือกับซีพีเอฟ เปิดรับซื้อปลาหมอคางดำจากจังหวัดอื่น เหตุมีปลาในพื้นที่ลดลง รับล็อตแรกจากสมุทรปราการแล้วกว่า 5,800 กก.

เจ้าของโรงงานปลาป่นจังหวัดสมุทรสาคร ร่วมกับ ซีพีเอฟ เดินหน้ารับซื้อปลาหมอคางดำจากทุกจังหวัดทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยกันเร่งเอาปลาหมอคางดำออกจากทุกพื้นที่ให้เร็วที่สุดหากมีใบรับรองจากกรมประมงรับซื้อได้หมด โดยผู้ขายต้องประสานงานผ่านประมงจังหวัดขอใบรับรองยืนยันแหล่งที่จับและตรวจสอบย้อนกลับได้ ประเดิมซื้อปลาหมอคางดำจากจังหวัดสมุทรปราการแล้ว 5,860 กิโลกรัม

นายปรีชา ศิริแสงอารำพี เจ้าของบริษัท ศิริแสงอารำพี จำกัด ผู้ผลิตปลาป่นได้รับการรับรองมาตรฐานในระดับสากล เปิดเผยว่า สถานการณ์ปลาหมอคางดำในพื้นที่สมุทรสาครมีน้อยลง เป็นผลจากประมงจังหวัดผนึกกับทุกภาคส่วนเดินหน้าเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง ทำให้จังหวัดสมุทรสาครสามารถกำจัดปลาหมอคางดำในพื้นที่ได้แล้วรวม 769,231 กิโลกรัม และตามที่ โรงงานศิริแสงอารำพี ร่วมมือกับ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน)​ หรือ ซีพีเอฟ โรงงานรับซื้อปลาหมอคางดำจากทุกจังหวัดทั่วประเทศในราคา 15 บาทต่อกิโลกรัม โดยมีเงื่อนไขให้ประสานผ่านประมงจังหวัดของตัวเองก่อนเพื่อขอใบรับรองแหล่งจับและการขนย้ายอย่างถูกต้อง ขณะนี้ มีผู้นำปลาหมอคางดำจากจังหวัดสมุทรปราการเป็นจังหวัดแรกเข้ามาส่งให้โรงงานแล้วรวม 5,860 กิโลกรัม และยังเปิดรับซื้อปลาหมอคางดำจากเกษตรกรและชาวประมงในจังหวัดสมุทรสาคร

“นับตั้งแต่ประกาศรับซื้อปลาหมอคางดำภายใต้ความร่วมมือกับซีพีเอฟ เรายินดีรับซื้อปลาหมอคางดำจากทุกจังหวัดที่ยังเดือดร้อน เพื่อให้ทุกจังหวัดสามารถจัดการกับปลาได้เหมือนกับสมุทรสาครที่ทุกวันนี้จับได้ลดลงอย่างชัดเจน เพราะทุกฝ่ายร่วมไม้ร่วมมือกันอย่างแข็งขันและจริงจัง” นายปรีชากล่าว

นายปรีชา ศิริแสงอารำพี เจ้าของบริษัท ศิริแสงอารำพี จำกัด

นายปรีชากล่าวต่อว่า โรงงานรับซื้อปลาหมอคางดำในราคา 15 บาทต่อกิโลกรัมตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคมเป็นต้นมาภายใต้ความร่วมมือกับซีพีเอฟ ที่ประกาศ 5 โครงการเชิงรุกเพื่อช่วยกันขจัดปลาหมอคางดำให้หมดไปจากจังหวัดต่างๆ ทั้งนี้ เกษตรกรหรือชาวประมงสามารถนำปลาหมอคางดำมาขายให้กับโรงงานได้โดยตรง โดยต้องผ่านการรับรองจากประมงจังหวัดนั้นๆ ก่อน เพื่อการตรวจย้อนกลับแหล่งที่จับปลา และช่วยให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องสามารถติดตามสถานการณ์ข้อมูลของจำนวนปลาคางดำในพื้นที่ดังกล่าว เพื่อนำไปสู่การจัดการปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

ด้านนายอดิศร์ กฤษณวงศ์ ผู้บริหารสูงสุดสายงานรัฐกิจและเอกชนสัมพันธ์ ซีพีเอฟ กล่าวว่า ความร่วมมือกับโรงงานปลาป่นรับซื้อปลาหมอคางดำ 2 ล้านกิโลกรัม เป็น 1 ใน 5 โครงการเชิงรุกร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อเร่งกำจัดปลาหมอคางดำออกจากแหล่งน้ำทั่วประเทศให้เร็วที่สุด ขณะนี้ บริษัทเร่งประสานกับโรงงานปลาป่นในจังหวัดอื่นๆ เพื่อขยายจุดรับซื้อให้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ อีก 4 โครงการมีความคืบหน้า ทั้งการสนับสนุนปล่อยปลาผู้ล่าลงสู่แหล่งน้ำตามแนวทางของกรมประมง จำนวน 200,000 ตัว ซึ่งปัจจุบันได้สนับสนุนการปล่อยปลานักล่าแก่ประมงจังหวัดสมุทรสงคราม จันทบุรี และสมุทรสาครไปแล้วรวม 54,000 ตัว โครงการสนับสนุนกิจกรรมการจับปลา โดยร่วมสนับสนุน อุปกรณ์จับปลา อาหาร กำลังคน เป็นต้น โครงการร่วมมือกับสถาบันการศึกษา 3 แห่ง คือ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารจากปลาหมอคางดำ ซึ่งมีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง รวมถึง โครงการร่วมวิจัยและพัฒนาผู้เชียวชาญ และอาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสจล. ในการหาแนวทางควบคุมประชากรปลาในระยะยาว ล่าสุด จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยแม่โจ้แสดงความสนใจเข้าร่วมศึกษาหาแนวทางจัดการปลาหมอคางดำอีกด้วย.

 

Advertisement