กรมวิชาการเกษตรแนะปลูกมันสำปะหลังให้ผลผลิตดี ต้องตรวจวิเคราะห์ พร้อมรับคำแนะนำการใช้ปุ๋ยที่เหมาะสม ช่วยลดต้นทุนค่าปุ๋ยได้ 20% แถมได้ผลผลิตเพิ่ม 10%

นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร (กวก.) เปิดเผยว่า ฤดูกาลผลิต 2567/2568 คาดผลผลิตมันสำปะหลังจะมีผลผลิตและผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาหัวมันสดที่เกษตรกรขายได้อยู่ในเกณฑ์ดีและเป็นพืชที่ทนแล้ง จึงจูงใจให้เกษตรกรขยายพื้นที่เพิ่มขึ้น  ล่าสุด กรมวิชาการเกษตรเร่งดำเนินโครงการผลิตท่อนพันธุ์ต้านทานโรคใบด่างมันสำปะหลัง หน่วยงาน สถาบันวิจัยพืชไร่และพืชทดแทนพลังงาน เป้าหมาย ปีที่ 1 จำนวนท่อนพันธุ์ 200,000 ลำ ในพื้นที่ 100 ไร่

ในพื้นที่ 13 ศูนย์วิจัย ได้แก่ ศูนย์วิจัยพืช และในปีที่ 2 จำนวนท่อนพันธุ์ 800,000 ลำ โดยดำเนินการภายใต้ 2 กิจกรรม คือ กิจกรรมที่ 1 การขยายท่อนพันธุ์ทันสำปะหลังพันธ์ต้านทานโรคใบด่างพันธ์ และกิจกรรมที่ 2 การศึกษาความสามารถในการปรับตัวต่อสภาพแวดล้อมในแหล่งปลูกของมันสำปะหลังพันธุ์ต้านทานโรค

ด้านนายอนุสรณ์ เทียนศิริฤกษ์ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยปฐพีวิทยา กองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า เพื่อลดต้นทุน เพิ่มรายได้ให้เกษตรกร ให้เป็น 3 เท่า ภายใน 4 ปี ตามนโยบายของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ และรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี

 

กลุ่มวิจัยปฐพีวิทยา ได้ทำการวิจัยร่วมกับหน่วยงานในกรมวิชาการเกษตร โดยออกคำแนะนำการใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน ซึ่งจากการทดลองในแปลงทดลองของเกษตรกร พบว่าหากเกษตรกรมีการวิเคราะห์ดิน มีคำแนะนำการใช้ปุ๋ยแล้วผลผลิตของเกษตรกรส่วนใหญ่จะเพิ่มขึ้นประมาณ 10%ขณะที่ปุ๋ยเป็นต้นทุน 30% ของต้นทุนการผลิตมันสำปะหลังต่อไร่ เมื่อมีการวิเคราะห์ดิน แล้วออกคำแนะนำการใช้ปุ๋ยต้นทุนค่าปุ๋ยจะลดลงอย่างน้อย 20% ของต้นทุนปุ๋ย

Advertisement

“กลุ่มวิจัยปฐพีวิทยา เหมือนหมอที่จะประเมินอาการของดิน ก่อนที่จะออกคำแนะนำการใช้ปุ๋ย เมื่อเกษตรกรส่งดินมาให้ตรวจสอบดูว่าในดินมีธาตุอาหารอะไรบ้าง พอรู้แล้วก็จะประเมินอาการ หากธาตุอาหารตัวไหนขาดก็จะให้ใส่เพิ่ม แต่หากมีอยู่แล้วก็ไม่จำเป็นต้องใส่ เพราะปุ๋ยเป็นต้นทุนมากกว่า 30% ของต้นทุนการผลิตด้านการเกษตร หลังจากวิเคราะห์ดินเพื่อทราบถึงแนวทางการจัดการดินและปุ๋ยอย่างเหมาะสม เกษตรกรจะไม่สูญเสียเงินค่าปุ๋ยมากไปในส่วนที่ดินมีธาตุอาหารเพียงพออยู่แล้ว โดยแปลงสาธิตต้นทุนการใช้ปุ๋ยลดลง 20% ของต้นทุนการใช้ปุ๋ย หรือลดลงประมาณ 6% ของต้นทุนการผลิต”

นายอนุสรณ์ กล่าวว่า มันสำปะหลังสามารถปลูกได้หลากหลาย ตั้งแต่ดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ไปถึงสูง เป็นที่ดอน ดินเนื้อหยาบ ได้แก่ ดินทราย ดินร่วน หรือดินร่วนปนทราย มีการระบายน้ำดี ดังนั้น การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินนั้น เป็นการใช้ปุ๋ยให้ตรงกับระดับความอุดมสมบูรณ์ของดิน และความต้องการธาตุอาหารของมันสำปะหลัง ผลวิเคราะห์ดินสามารถบอกถึงปริมาณธาตุอาหาร ที่เป็นประโยชน์กับพืช ว่าอยู่ในระดับใด เพื่อเป็นแนวทางการใช้ปุ๋ยที่มีประสิทธิภาพ เหมาะสมตามความต้องการของพืช สามารถใช้ปุ๋ยได้ถูกอัตรา

Advertisement

เกษตรกรควรเก็บตัวอย่างดินหลังเก็บเกี่ยวผลผลิตมาวิเคราะห์ในทุก ๆ ปี เพื่อทราบระดับความอุดมสมบูรณ์ของดิน การปรับปรุงดิน และการจัดการธาตุอาหารที่เหมาะสมในปีต่อ ๆ ไป โดยสามารถส่งตัวอย่างดินมาวิเคราะห์ได้ที่ กลุ่มวิจัยเกษตรเคมี กองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร กรมวิชาการเกษตร กรุงเทพฯ หรือสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1-8 หรือศูนย์วิจัยและพัฒนา การเกษตรทั่วประเทศ

สำหรับวิธีการเก็บตัวอย่างดินทำได้ดังนี้ 1. แบ่งแปลงเก็บตัวอย่างดินตามสภาพของพื้นที่ ชนิดดิน ความลาดเอียงของพื้นที่ เพื่อให้พื้นที่มีความสม่ำเสมอ ขนาดพื้นที่ 5-10 ไร่ต่อแปลง 2. เก็บตัวอย่างดินให้ทั่วพื้นที่อย่างน้อย 5-10 จุดต่อแปลง ที่ความลึก 0-20 เซนติเมตร 3. นำตัวอย่างดินมาคลุกให้เข้ากัน และแบ่งใส่ถุงประมาณ 1 กิโลกรัม พร้อมบันทึกรายละเอียดตัวอย่าง เช่น สถานที่เก็บตัวอย่าง เป็นต้น 4. นำตัวอย่างดินส่งวิเคราะห์ตามหน่วยงานที่รับวิเคราะห์ตัวอย่างดิน

หากเกษตรกรต้องการปรึกษาขั้นตอนการเก็บตัวอย่างดิน หรือปรึกษาปัญหาการใช้ปุ๋ย สามารถติดต่อมาที่ กลุ่มวิจัยปฐพีวิทยา  กองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร กรมวิชาการเกษตร เลขที่ 50 ลาดยาว จตุจักร กรุงเทพฯ 10900โทรศัพท์ 0-25797514  0-25794116