ทุเรียนไทย จ่อเสียแชมป์ให้เวียดนาม

“ไตรมาส 3/2567 และไตรมาส 4/2567 ปีนี้ประเทศไทยมีสิทธิเสียแชมป์การส่งออกทุเรียนในตลาดจีนให้เวียดนาม” นั่นเป็นประโยคที่ผู้ส่งออกทุเรียนรายใหญ่เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” แม้ว่าช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567 ข้อมูลจากฝ่ายเกษตร ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว แจ้งว่า ทางศุลกากรแห่งชาติจีนได้เปิดสถิติการนำเข้าทุเรียนผลสดว่า ไทยยังคงครองแชมป์อันดับ 1 โดยมีสัดส่วน 66.97% ของปริมาณการนำเข้าทุเรียนผลสดทั้งหมดของจีน ขณะที่เวียดนามนำเข้า 32.81%

เนื่องจากผลผลิตของทุเรียนภาคใต้ที่ลดลง ประกอบกับปัญหาทุเรียนอ่อน หนอนเจาะเมล็ด ล่าสุดถูกด่านตีกลับอีก 9 ตู้

นายสริระวิชญ์ จิระวัฒนเมธากุล ที่ปรึกษาการตลาดสมาคมทุเรียนไทยเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์ภาพรวมทุเรียนไทยส่งออกไปตลาดจีนตอนนี้ราคาต่ำมาก โดยเฉพาะทุเรียน 3 จังหวัดภาคใต้ มีปัญหาหลักๆ 4 ประการ คือ

1. ตลาดปลายทางจีนระบายของยาก เนื่องจากเศรษฐกิจจีนไม่ดี 2. ปัญหาทุเรียนอ่อนในช่วงต้นฤดูช่วงปลายเดือนกรกฎาคม 3. ปัญหาหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนที่ต่อเนื่องมาถึงขณะนี้ และ 4. ปัญหาการแข่งขันกับทุเรียนเวียดนาม ที่จะตามมาในช่วงปลายเดือนสิงหาคมนี้

ทำให้ล้งของบริษัทใหญ่ต้องแจ้งหยุดซื้อ และมีหลายล้งที่ไม่รับซื้อทุเรียนยะลา เพราะปัญหาเรื่องหนอนเจาะเมล็ด ทำให้ราคาทุเรียนยะลาต่ำมาก และรับซื้อแบบเบอร์รวม เกรด A B C 90-100 บาทต่อกิโลกรัม บวกลบ ตกไซซ์ราคา 70-75 บาทต่อกิโลกรัม ทุเรียนมีรู (หนอนเจาะเมล็ด) 55-60 บาทต่อกิโลกรัม และทุเรียนถูกปัดเป็นตกไซซ์เข้าห้องเย็นจำนวนมาก แต่ยังได้ราคาสูง เนื่องจากยังมีปริมาณน้อยและมีอัตราการแลกเนื้อต่ำ (Yield)

“ปัญหาการส่งออกทุเรียนไทยใน 3 จังหวัดภาคใต้ เรื่องทุเรียนอ่อน หนอนเจาะเมล็ด ทำให้ล้งส่งออกหลายบริษัทต้องหยุดการรับซื้อ ขณะเดียวกัน ตลาดจีนไม่มีที่ระบาย และยังมีทุเรียนหมอนทองของเวียดนามราคาต่ำกว่าออกสู่ตลาดมากขึ้น ขณะนี้เศรษฐกิจภายในประเทศจีนเองก็ไม่ดี ผู้บริโภคจีนจะเลือกซื้อทุเรียนที่ราคาถูกกว่า

ล้งในจังหวัดยะลามีประมาณเกือบ 10 แห่ง ผู้ลงทุนรายใหญ่ที่ทำทุเรียนคุณภาพหยุดรับซื้อผลสดช่วงระยะเวลาหนึ่ง เพราะโอกาสขาดทุนมีสูง บางรายรอไปเปิดรับซื้อช่วงฤดูกาลภาคตะวันออก ช่วงเดือนสิงหาคมนี้ ขณะเดียวกัน มีทั้งนายทุนและล้งที่รับจ้างแพ็กจากภาคใต้เตรียมไปรับซื้อทุเรียนหมอนทองที่เมืองดั๊กลัก ประเทศเวียดนาม เพราะต้นทุนถูกกว่าไทย 20-30% และราคาทุเรียนเวียดนามในตลาดจีนใกล้เคียงกับไทยทำกำไรได้มากกว่า”

Advertisement

“ตอนนี้ผู้ลงทุนไม่กลัวตลาด ทุเรียนไทยถ้าทำคุณภาพน่าเชื่อถือยังคงขายได้ แต่ผู้ส่งออกทุกคนกลัวด่าน เพราะถ้าตรวจเจอหนอนตัวเดียวตีกลับทั้งตู้ จริงๆ แล้วทุเรียนยะลาต้องระวังเรื่องหนอน และล้งไม่กล้ารับประกัน จนกว่าจะถึงตลาดปลายทาง เพราะเกษตรกรและล้งจะมองไม่เห็นหนอนตอนที่ทุเรียนยังไม่สุก เมื่อถึงตลาดจีนปลายทางทุเรียนสุกจะมองเห็นหนอนในเนื้อ เปรียบเทียบกับทุเรียนเวียดนามเข้าไปในตลาดจีนได้ หากพบหนอน 10-20 ลูกเคลมได้ ไม่ต้องถูกตีกลับทั้งตู้ 1 ตู้ที่บรรจุ 18 ตัน ไม่เสียหายมาก เป็นความแตกต่าง” นายสริระวิชญ์ กล่าว

Advertisement

3 จังหวัดหนีตายสวมชื่อจังหวัดอื่น

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า จากการโพสต์รับซื้อทุเรียนตามโซเชียล ล้งส่วนใหญ่จะประกาศแจ้งไม่รับซื้อทุเรียนยะลา โดยเฉพาะหนามแดง (คุณภาพไม่ดี) ที่เสี่ยงต่อการมีหนอนเจาะเมล็ดสูง และราคาที่รับซื้อทุเรียนในพื้นที่ จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช จะแบ่งเป็นเกรดส่งออก A B ที่ได้ราคาสูง ส่วนทุเรียนยะลาจะรับซื้อเป็นเกรดรวม A B C ที่ราคาต่ำกว่ามาก เช่น

ล้งทุเรียน ฮันนี่ (สาขาหลังสวน) จังหวัดชุมพร ผู้รับซื้อทุเรียนให้ผู้ประกอบการจีนเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ได้หยุดรับซื้อทุเรียนไปตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคม 7 วัน เนื่องจากมีลูกค้าบางส่วนนำทุเรียนยะลามาสวมเป็นทุเรียนในพื้นที่จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และพบว่ามีหนอนเจาะเมล็ด ทำให้ล้งได้รับความเสียหาย ทางเถ้าแก่ที่ให้รับซื้อส่งไปตลาดจีนให้หยุดรอดูสถานการณ์ดีขึ้น

และเปิดรับซื้อเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2567 โดยที่ไม่รับซื้อทุเรียนยะลาทุกเบอร์ เพราะเกรงว่าถ้ามีหนอนเจาะเมล็ดหลุดออกไปตรวจพบที่ด่านไทย หรือจีนจะถูกตีกลับทั้งตู้ ทำให้เกิดความเสียหาย

ห้องเย็นแห่รับซื้อค่ายีลด์ต่ำ

นายสริระวิชญ์กล่าวเพิ่มเติมกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ที่ผ่านมานายทุนที่ทำสัญญาซื้อขายทุเรียนห้องเย็นกับล้งเคยวางมัดจำ แต่ตอนนี้ 80-90% ไม่วางมัดจำ และเมื่อราคาปลายทางลงยังต่อรองราคาลงอีก กิโลกรัมละ 10-20 บาท ทุเรียนห้องเย็นตู้ละ 27 ตันจะทำให้ขาดทุนตู้ละ 540,000 บาท ที่ผ่านมาผู้ประกอบการห้องเย็นหลายคนประสบปัญหาขาดทุนตู้ละเป็นล้านบาท เลิกกิจการไปก็มี แต่มีรายใหม่มาเพิ่มขึ้น เพราะชาวสวนเองดันราคาสูง กิโลกรัมละ 75-80 บาท

ในขณะที่ราคาตลาดปลายทางลงเรื่อยๆ ทำให้ระบายของช้า ถ้าปรับราคาลง 60-70 บาท ตลาดจะคล่องตัวไปได้ดี ราคาจะสูงขึ้น ข้อดีทุเรียนยะลามี %Yield ต่ำ หรืออัตราแลกเนื้อต่ำ เทียบผลสด 3-4 กิโลกรัมแกะเนื้อได้ 1 กิโลกรัม ทุเรียนที่อื่นต้องใช้ผลสด 5-6 กิโลกรัม

ทางด้าน นายปรีดา เยี่ยมสวัสดิ์ อุปนายกสมาคมชาวสวนชุมพรและประธานกรรมการ บริษัท ศิริมงคลโลจิสติกส์ จำกัด เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ”ว่า ในปีนี้ทุเรียนที่ส่งออกถูกระงับและตีกลับมาถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2567 จำนวน 9 ตู้แล้ว ทำความเสียหายให้ผู้ส่งออกอย่างหนัก ทำให้ผู้ส่งออกไม่อยากซื้อทุเรียนยะลาเพราะตอนนี้ไม่ว่าด่านจีน ด่านไทยตรวจเข้มงวด เข้าใจว่าผู้ส่งออกเกรงว่าจะถูกตีตู้กลับ ระงับการส่งออกหากที่ด่านไทยและจีนตรวจพบหนอนเจาะเมล็ด

ราคาทุเรียนยะลา (3 จังหวัดภาคใต้) หน้าสวนประมาณ 100 บาทต่อกิโลกรัม เป็นราคาที่ยังไม่ต่ำมาก และมีห้องเย็นที่จะรองรับได้ปริมาณมาก มีห้องเย็นใหม่ๆ ทยอยเปิดรับซื้อเพิ่มขึ้น และรับซื้อได้ทุกเบอร์ A B C เบอร์เล็ก ตกไซซ์ รูแบ แนวโน้มตลาดทุเรียนห้องเย็นจะไปได้ดีจากที่มีโรงงานมาเปิดรับซื้อจำนวนมาก ทำให้ราคาค่อนข้างสูง กิโลกรัมละ 70-75 บาท คาดว่าในช่วงเดือนสิงหาคมน่าจะลดลง 10-20 บาทต่อกิโลกรัม เพราะทุเรียนมีปริมาณเพิ่มขึ้น

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ