“ธรรมศาสตร์” จัดงานครบรอบ 79 ปี วันสันติภาพไทย

“ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์” นำอ่านประกาศสันติภาพ 16 สิงหาคม 2488 ในงาน “ครบรอบ 79 ปี วันสันติภาพไทย” ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดรำลึกปฏิบัติการกอบกู้ชาติของ “ขบวนการเสรีไทย” จนมาสู่เอกราชของประเทศไทยในปัจจุบัน โดยมีทายาทขบวนการเสรีไทย-ผู้แทนคณะทูตจากหลากหลายประเทศ ฯลฯ เข้าร่วม ขณะที่ “รศ.ดร.ดนุพันธ์” ย้ำ สันติภาพไม่ใช่ของฟรีที่จะได้มาง่ายๆ แต่เป็นสิ่งที่ต้องแลกมา ขอให้ทุกคนอดทนอดกลั้น และเข้าใจความแตกต่างของมนุษย์

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ร่วมกับสถาบันปรีดี พนมยงค์ จัดกิจกรรม “ครบรอบ 79 ปี วันสันติภาพไทย” ประจำปี 2567 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เพื่อรำลึกถึงการปฏิบัติหน้าที่รับใช้ชาติ การพิทักษ์ปกป้องเอกราช และอธิปไตยของขบวนการเสรีไทย ในสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยมี นายปรีดี พนมยงค์ เป็นหัวหน้าขบวนการฯ และได้ใช้พื้นที่ของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองเป็นกองบัญชาการลับฝึกพลพรรคเสรีไทย จนนำไปสู่การช่วยให้ประเทศไทยรอดพ้นจากการเป็นประเทศที่แพ้สงคราม โดยมีคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทายาทขบวนการเสรีไทย และผู้แทนคณะทูตานุทูตจากหลากหลายประเทศ ฯลฯ เข้าร่วม

ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะประธานเปิดงานครบรอบ 79 ปี ได้อ่านข้อความใน “ประกาศสันติภาพ ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล” ที่ประกาศโดย นายปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2488 และกล่าวว่า วันสันติภาพไทย เป็นหนึ่งในวันที่มีความหมายสูงสุดในประวัติศาสตร์ไทย และการเปลี่ยนสถานะของประเทศไทยจากประเทศที่ประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกาและบริเตนใหญ่ มาเป็นประเทศที่ไม่ได้พ่ายแพ้สงครามและได้รับการปฏิบัติอย่างดีมาโดยตลอดนั้นเป็นเรื่องที่ยาก และเป็นสิ่งที่ทำให้ประเทศไทยมีความปกติมาจนถึงปัจจุบันนี้

อย่างไรก็ตาม การประกาศสันติภาพเมื่อ 79 ปีที่แล้วนั้น แม้จะไม่ได้ประกาศที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แห่งนี้ แต่ถนนชื่อ “16 สิงหาคม” ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตั้งขึ้นในภายหลังนั้น ก็เพื่อระลึกถึงวันสำคัญ นั่นเพราะที่ตั้งของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์แห่งนี้ คือที่ตั้งที่บัญชาการของผู้นำหมายเลข 1 ของขบวนการเสรีไทย นายปรีดี ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์อยู่ในเวลานั้น ห้องทำงานของผู้ประศาสน์การคือห้องมุขหน้าโดม ส่วนสนามฟุตบอลที่อยู่หลังตึกโดมคือที่ฝึกนักศึกษาที่เป็นยุวชนทหารที่เข้าร่วมงานเสรีไทย และหน้าตึกคณะรัฐศาสตร์ สมัยสงครามก็เป็นค่ายกักกันเชลย

Advertisement

“ณ ที่แห่งนี้จึงเหมาะด้วยเหตุหลายประการ เราจึงมาจัดงานวันสันติภาพไทย เพื่อรำลึกถึงผู้กล้าเสรีไทย ที่ทำงานเสี่ยงชีวิตและได้เสียชีวิต นับเป็นการเสียสละที่ทำให้สยามประเทศเป็นเอกราช ผ่านสงครามโลกครั้งที่ 2 มาได้โดยมิต้องเป็นประเทศผู้แพ้สงคราม” ศ.ดร.สุรพล กล่าว

รศ.ดร.ดนุพันธ์ วิสุวรรณ รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนาคุณภาพผู้รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ด้าน รศ.ดร.ดนุพันธ์ วิสุวรรณ รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนาคุณภาพผู้รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า คำว่าสันติภาพ ไม่ได้หมายถึงเพียงช่วงเวลาที่ปลอดจากสงครามเท่านั้น แต่ยังหมายถึงสภาพที่คนกลุ่มต่างๆ ในสังคมสามารถอยู่ร่วมกันได้ด้วยความสงบสุข ซึ่งสันติภาพไม่ใช่ของฟรีที่จะได้มาง่ายๆ หากแต่เป็นสิ่งที่ต้องแลกมา ต้องยกให้ “ความสงบสุขของสังคมโดยรวม” อยู่เหนือประโยชน์ส่วนตน ยอมอดทนอดกลั้น และเข้าใจความแตกต่างของเพื่อนมนุษย์ โดยหลักปฏิบัติเพื่อทำให้สันติภาพเกิดขึ้นมีอยู่ 2 ข้อ คือ 1. มุ่งกระทำในสิ่งที่ตัวเองคาดหวังให้ผู้อื่นกระทำต่อตนเอง 2. ละเว้นการกระทำในสิ่งที่ตัวเองไม่ปรารถนาต่อผู้อื่น

Advertisement

“ในโอกาส 79 ปี วันสันติภาพไทย ขอฝากให้เราทุกคนตั้งมั่นที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขบนความต่าง ยึดหลักมนุษยธรรม และขันติธรรมเป็นที่ตั้ง ไม่ใช่เพียงเพื่อหมู่ชนในรุ่นเรา หรือบรรพชนในรุ่นก่อน หากยังผนวกควบรวมถึงอนุชนรุ่นหลังจากนี้ ที่จะถือกำเนิดเกิดขึ้นในอนาคตด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะทำให้ความหมายของคำว่า “ชาติ” เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง” รศ.ดร.ดนุพันธ์ กล่าว

ธีรดนย์ พงษ์ดนตรี นายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.)

ธีรดนย์ พงษ์ดนตรี นายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) กล่าวว่า วันสันติภาพนับเป็นวันสำคัญที่เราปุถุชนคนรุ่นหลังควรให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ไม่เพียงแต่รำลึกถึงการเสียสละของบรรพบุรุษ เพื่อให้ตระหนักได้ว่ากว่าจะมีชาติไทยทุกวันนี้นั้นไม่ง่าย ไม่เพียงแต่บุคคลสำคัญแต่คือเลือดเนื้อของไพร่ ทาส ราษฎร ทุกคนที่เสียเลือดเนื้อเพื่อปกป้องไว้ซึ่งมาตุภูมิของเรา

“สงครามและความรุนแรงไม่ใช่ทางออกในโลกที่เต็มไปด้วยความหลากหลายของผู้คนเช่นนี้ ปัจจุบันโลกของเรากำลังลุกเป็นไฟจากสงครามของชนชั้นนำที่ต้องลงเอยและสังเวยชีวิตของผู้บริสุทธิ์ อย่าให้บทเรียนนี้ต้องเกิดขึ้นซ้ำไม่ว่าคุณจะเชื้อชาติใด ศาสนาใด หรือมีความเชื่อทางการเมืองแบบไหน คุณต้องช่วยกันยุติภัยสงครามที่กำลังเกิดขึ้นบนโลกใบนี้ อย่าให้ชีวิตของผู้บริสุทธิ์ต้องถูกสังหารอย่างไม่เป็นธรรมเพียงเพราะความแตกต่าง” ธีรดนย์ กล่าว

รฐธนพล สมฤทธิ์ ประธานสภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

รฐธนพล สมฤทธิ์ ประธานสภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า สามารถกล่าวได้เต็มปากว่าขบวนการเสรีไทย คือวีรบุรุษของชาติ เพราะหากปราศจากความกล้าหาญและความเสียสละในการลุกขึ้นสู้ของขบวนการเสรีไทย ประเทศไทยคงจะไร้ซึ่งสิทธิและเสรีภาพอย่างแน่นอน จากวันนั้นสู่วันนี้ ร่วม 79 ปี จึงอยากให้ทุกคนได้ตระหนักถึงการพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสิทธิ เสรีภาพ และสันติภาพ เพราะปัจจุบัน สันติภาพของโลกกำลังถูกท้าทาย

“ผมเชื่อมั่นว่า หากเราทุกคนยึดถือเจตนารมณ์ของขบวนการเสรีไทยและเหล่าผู้กล้าในการพิทักษ์รักษาสันติภาพ ปกป้องสิทธิและเสรี ให้คงอยู่คู่กับสังคมต่อไปนั้น แน่นอนว่า สิ่งเหล่านี้ล้วนมีคุณค่าและตรงต่อความต้องการ มากกว่าการร่วมวางดอกไม้ การกล่าวรำลึก หรือการสร้างอนุสรณ์สถานอื่นใดอย่างแน่นอน เพราะสันติภาพนั้นไม่ได้เกิดจากลมปาก แต่เกิดจากการกระทำ” รฐธนพล กล่าว

นอกจากนี้ ภายในกิจกรรมวันสันติภาพไทย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยังมีการจัดเวทีเสวนาวิชาการ “ถอดบทเรียน 2 ทศวรรษไฟใต้ : เพื่อเส้นทางสู่สันติภาพ” ที่หอประชุมศรีบูรพา โดยมีวิทยากรเข้าร่วม ได้แก่ อับดุลเราะมัน มอลอ คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม, พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์ อาจารย์ประจำสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล, พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ, อายุบ เจ๊ะนะ รองประธานมูลนิธินูซันตาราเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา ในฐานะกรรมาธิการฯ สันติภาพ และมีผู้เข้าร่วมรับฟังเป็นจำนวนมาก

อนึ่ง วันที่ 16 สิงหาคม ของทุกปี ถือเป็น “วันสันติภาพไทย” ซึ่งเป็นวาระแห่งการรำลึกถึงคุณูปการของขบวนการเสรีไทย และ นายปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าขบวนการฯ ที่ช่วยกอบกู้ให้ประเทศไทยรอดพ้นจากการเป็นประเทศพ่ายแพ้สงคราม ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยการออก “ประกาศสันติภาพ” ในวันที่ 16 สิงหาคม 2488 อันเป็นผลทำให้สามารถดำรงความเป็น “ไท” มาได้จนถึงทุกวันนี้