เผยแพร่ |
---|
นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 8สิงหาคม 2567 ได้ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้างานพัฒนาและวิจัยพันธุ์พืชของหน่วยงานวิจัยภาคเหนือตอนบน สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1 และศูนย์เครือข่ายของกรมวิชาการเกษตร(กวก.) ได้สั่งการให้นายอนันต์ ปัญญาเพิ่ม ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ เร่งขึ้นทะเบียนพันธุ์กาแฟ Geisha และ Java ที่มีการรวบรวมไว้ที่ศูนย์วิจัยฯ ตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 เพื่อคุ้มครองสิทธิ์และสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพกาแฟไทย
ปัจจุบันกรมมีกาแฟสายพันธุ์กวก.เชียงใหม่ 80 กวก.เชียงราย1 และ 2 ซึ่งมีกลิ่น รส เป็นเอกลักษณ์ ต้านทานโรคราสนิมและมีผลผลิตที่ดีเป็นพันธุ์แนะนำให้เกษตรกรนำไปปลูกเชิงพาณิชย์ นอกจากนั้นกรมยังได้เตรียมรับรองพันธุ์ชาแม่จอนหลวงเบอร์ 3 ที่อยู่ในขั้นตอนขอรับรองเป็นพันธุ์แนะนำ เป็นชาคุณภาพสูงเหมาะแปรรูปเป็นชาเขียวมัทฉะ เบื้องต้นมีบริษัทเอกชนรายใหญ่ในจังหวัดเชียงรายสนใจติดต่อซื้อกล้าพันธุ์ชาจำนวนมากเป็นการตอกย้ำเรื่องคุณภาพสายพันธุ์ดังกล่าว
“กรมไม่เคยหยุดนิ่งในการวิจัยพัฒนาพันธุ์พืช สำหรับกาแฟทั้งอะราบิกา -โรบัสตาสายพันธุ์ต่างๆและชา ที่กรมวิจัยพัฒนาพันธุ์จะมีการขยายผลถ่ายทอดองค์ความรู้ตลอดกระบวนการผลิต เพื่อยกระดับการปลูกกาแฟไทยอย่างครบวงจรเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืนและส่งเสริมตลาดทั้งในและต่างประเทศตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำหรับกาแฟสายพันธุ์เกอิชานั้นในการประกวดสุดยอดกาแฟไทย 4 ปีที่ผ่านมาพันธุ์เกอิชาซึ่งปลูกในพื้นที่จังหวัดน่านชนะอันดับ 1 ต่อเนื่องรวมถึงปี 2567 ก็ชนะที่ 1 ทั้งประเภทการแปรรูปโดยวิธีเปียก วิธีกึ่งแห้ง และวิธีแห้ง แต่พันธุ์เกอิชาต้องปลูกในระดับความสูง1,400 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลขึ้นไปจึงมีพื้นที่ปลูกจำกัด ดังนั้นกรมจะพัฒนาให้ได้สายพันธุ์ที่เหมาะสมกับภูมิอากาศและภูมิประเทศของไทยให้ได้ผลดีที่สุดทั้งการเพิ่มผลผลิตและต้านทานโรค นอกจากนั้นจะส่งเสริมกาแฟพิเศษที่ปลูกในหลายพื้นที่เพื่อตอบโจทย์ตลาดเครื่องดื่มไทยและตลาดพรีเมี่ยมที่ขยายตัวทุกปี โดยข้อมูลของสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่าตลาดกาแฟในประเทศมีมูลค่าประมาณ 3.4 หมื่นล้านบาท(มูลค่าปี66)และขยายตัวมากกว่าปีละ7% “ นายรพีภัทร์กล่าว
นายอนันต์ ปัญญาเพิ่ม ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ กล่าวว่าการขึ้นทะเบียนกาแฟตามพ.ร.บ.พันธุ์พืช พ.ศ. 2518 เป็นการแสดงความเป็นเจ้าของพันธุ์ซึ่งกรมได้มีการศึกษาวิจัยร่วมกับต่างประเทศในโครงการศึกษาไม้ผลเมืองหนาว เมื่อขึ้นทะเบียนแล้วเสร็จจะใช้เวลาศึกษาต่ออีกประมาณ 2-3 ปีเพื่อเก็บข้อมูลการปลูกทั้งหมดใช้เป็นประโยชน์สำหรับการปลูกในเชิงพาณิชย์ต่อไป สำหรับชาแม่จอนหลวง 3 นั้นเป็นชาคุณภาพสูง กรมอยู่ระหว่างขึ้นทะเบียนเป็นพันธุ์แนะนำ ล่าสุดภาคเอกชนรายใหญ่เห็นศักยภาพและสนใจจอง 2 แสนกล้าเพื่อนำไปปลูกในพื้นที่จังหวัดเชียงรายเพื่อรองรับตลาดเครื่องดื่มสุขภาพ.