อีสานสะอื้นพิษน้ำท่วมฉุดเกษตร-ธุรกิจ แนะแบงก์ปล่อยกู้วงเงินที่จำเป็น-เร่งหาพืชทดแทน

น้ำท่วมอีสานกระทบหนัก ภาคเอกชนชี้มาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอียังไม่โดน ติดเงื่อนไขเยอะ หากยังไม่แก้ไขเศรษฐกิจจะเรื้อรังข้ามปี ภาคเกษตรอ่วม ร้อยเอ็ดนาข้าวเสียหายประมาณ 7.2 แสนไร่ มูลค่ากว่า 3 พันล้าน คาดทำราคาข้าวสูงขึ้นไม่เกิน 10% ด้านนครพนมประเมินความเสียหายภาคเกษตร-ปศุสัตว์-ประมงกว่า 4-5 พันล้าน เตรียมมอบข้าวเหนียวช่วยเกษตรกรประทังช่วงไม่มีรายได้ พร้อมหารือสนับสนุนพันธุ์พืชอื่นทดแทน
ข้อมูลจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย ระบุความเสียหายจากสถานการณ์ฝนตกหนักต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 5 กรกฎาคม-15 สิงหาคม 2560 ทำให้เกิดน้ำไหลหลากในพื้นที่ 44 จังหวัด 302 อำเภอ 1,724 ตำบล 14,105 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 609,425 ครัวเรือน 1,898,322 คน ผู้เสียชีวิต 37 ราย บ้านเรือนเสียหาย 2,931 หลัง ถนน 2,401 สาย คอสะพาน 111 แห่ง สะพาน 207 แห่ง ฝายและทำนบ 8,753 แห่ง พื้นที่การเกษตรเสียหาย 1,960,000 ไร่ บ่อปลา 7,797.23 ไร่ ปศุสัตว์ 43,137 ตัว
ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว 39 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์ 5 จังหวัด ได้แก่ กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ยโสธร อุบลราชธานี และพระนครศรีอยุธยา
สินเชื่อไม่โดน-เงื่อนไขเพียบ
นายมงคล ตันสุวรรณ
ประธานหอการค้ากลุ่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 2 เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า น้ำท่วมครั้งนี้สิ่งที่น่าเป็นห่วงมาก คือ ผู้ประกอบการ ที่แบ่งเป็น 2 ส่วน เอกชนรายใหญ่ที่แข็งแรงไม่กระทบมาก แต่กลุ่มเอสเอ็มอีต้องมีเม็ดเงินเติมเข้ามาช่วย ขณะที่โครงการของเอสเอ็มอีแบงก์กำหนดเพดานเงินกู้รายละ 15 ล้านบาท แต่กลับติดเงื่อนไขมากมาย จนสุดท้ายเหลือไม่ถึง 2 ล้านบาท ตรงนี้ต้องบอกว่าธุรกิจต้องมีช่องให้ยืดหยุ่นในการบริหารจัดการ แต่แบงก์จับให้อยู่ในกรอบหมดจนทำอะไรไม่ได้ หากไม่มีการแก้ปัญหาเชื่อว่าเศรษฐกิจจะเรื้อรังข้ามปี
ขณะที่การให้สินเชื่อผ่านสถาบันการเงินของภาครัฐดูแล้วยังไม่โดน เพราะการช่วยเหลือเป็นแฟลตเรต โดยให้เพียงรายละ 1 ล้านบาท ปลอดดอกเบี้ย 0% 10 ปี เหมือนจะดูดี แต่จำนวนเงินนี้ไม่สอดคล้องต่อการฟื้นฟู ไม่พอจะให้เกิดพลวัต หรือให้ฟื้นธุรกิจได้ ดังนั้นเราเรียกร้องขอให้ภาครัฐกำชับการปล่อยกู้ให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบให้วงเงินที่จำเป็น หรือไม่เกินกว่าที่เขาเคยกู้อยู่ แต่ถามว่าให้แบบนี้เอาไหมก็เอา แต่นอกจากจะไม่ฟื้นธุรกิจอาจทำให้เกิด NPL ด้วย แล้วประเทศชาติก็อาจบอบช้ำต่อไป
ร้อยเอ็ด หนุนแปรรูปข้าวทำเบเกอรี่
นายสมเกียรติ ชัยคณารักษ์กูล
ประธานหอการค้าจังหวัดร้อยเอ็ด เปิดเผยว่า จนถึงปัจจุบันจังหวัดร้อยเอ็ดยังมีน้ำท่วมขังเฉลี่ยประมาณ 1-2 เมตร ส่งผลกระทบต่อที่อยู่อาศัย โรงสี และร้านขายอุปกรณ์ทางการเกษตร ซึ่งภาคการเกษตรได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยเฉพาะชาวนา เพราะข้าวคือผลผลิตทางการเกษตรที่เป็นรายได้หลักของจังหวัด และปัญหาน้ำท่วมจะยังไม่คลี่คลายในเร็วๆ นี้ เนื่องจากยังไม่ผ่านช่วงมรสุม ต้องรอจนกว่าจะถึงปลายเดือนกันยายน-ต้นเดือนตุลาคม
โดยจังหวัดร้อยเอ็ดมีพื้นที่ประสบภัยกว่า 779,983 ไร่ เป็นพื้นที่ปลูกข้าว 724,562 ไร่ จากพื้นที่ปลูกข้าวทั้งจังหวัด 3 ล้านกว่าไร่ มีผลผลิตได้รับความเสียหายประมาณ 3,000 ตัน มูลค่าความเสียหายภาคการเกษตรไม่ต่ำกว่า 3 พันล้านบาท ขณะที่มูลค่าความเสียหายรวมไม่ต่ำกว่า 4 พันล้านบาท ทั้งนี้มีแนวโน้มว่าราคาข้าวจะสูงขึ้น เพราะข้าวเก่าหมด ข้าวใหม่ออกน้อย โดยข้าวเก่ามีราคาประมาณ 12.50-13 บาท/กิโลกรัม แต่จากการคาดการณ์ของโรงสี ข้าวที่จะออกใหม่ปลายเดือนตุลาคม-ต้นเดือนพฤศจิกายน ราคาจะเพิ่มขึ้นมาเป็น 14.50 บาท/กิโลกรัม
ขณะเดียวกันทางหอการค้าจังหวัดได้มีการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัดด้วยการสร้างเมืองประชารัฐ สร้างกลุ่มชุมชน เพื่อแปรรูปข้าวหอมมะลิมาทำเบเกอรี่ แป้งฟอกหน้าขาว เซรั่ม ชาใบข้าว และมีการส่งเสริมการเกษตรให้ปลูกหน่อไม้ฝรั่ง ถั่ว แตงโม เพื่อแก้ปัญหาและยกระดับรายได้ของจังหวัด เนื่องจากประชากรมีรายได้ต่ำ เฉลี่ย 58,000 บาท/ปี อยู่รั้งท้ายของประเทศ
เร่งสำรวจ-วางแผนปลูกพืชทดแทน
ด้าน นายเสน่ห์ รัตนาภรณ์ เกษตรจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวว่า หลังจากน้ำลดต้องมีการเข้าไปประเมินพื้นที่ความเสียหาย คาดว่างบประมาณในการฟื้นฟูภาคการเกษตรต้องใช้อย่างน้อย 60 ล้านบาท ทั้งนี้ คาดว่าราคาข้าวปีนี้น่าจะสูงขึ้นไม่เกิน 10% และแนวโน้มหลังน้ำท่วม ชาวบ้านน่าจะทำนาปรังกันมาก ทั้งเพื่อการเก็บไว้บริโภคเองและการขาย
ส่วนการฟื้นฟูโดยเฉพาะนาข้าวจะต้องมีการวางแผนปลูกข้าวนาปรัง การสนับสนุนเรื่องเมล็ดพันธุ์ ทั้งปลูกพืชอายุสั้น อายุยาว ต้องมีการวางแผนเรื่องการใช้น้ำและหาแหล่งน้ำเพื่อทำการเกษตร โดยเฉพาะการทำนาข้าวต้องใช้น้ำ 1,500 ลบ.ม./ไร่ แต่หากเป็นพืชอายุสั้นจะใช้น้ำ 400-500 ลบ.ม./ไร่ เช่น ถั่วลิสง มันเทศ แตงกวา ถั่วฝักยาว เป็นต้น ชุมชนจะต้องเป็นคนลงมติว่าจะปลูกพืชตัวไหนทดแทน และต้องประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อหาตลาดต่อไป
มอบข้าวเหนียวประทังปากท้อง
ขณะที่ นายสุรัตน์ กองเกียรติกมล ประธานหอการค้าจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า ล่าสุดสถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดส่วนใหญ่ลดลงมาเกือบหมดแล้ว แต่ยังเหลือพื้นที่เกษตรกรรมบางส่วนที่มีน้ำท่วมขัง ไม่สามารถระบายน้ำออกไปได้เนื่องจากเป็นที่ลุ่ม เช่น อำเภอนาทม วังยาง นาหว้า และศรีสงคราม คงจะต้องรอให้แห้งตามธรรมชาติไป คาดว่าน้ำจะเข้าสู่ภาวะปกติประมาณ 20 วัน-1 เดือน หากไม่มีน้ำมาเติมอีก
ทั้งนี้ ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคการเกษตร มีนาข้าวได้รับความเสียหายประมาณ 257,000 ไร่ จากพื้นที่การเกษตรของจังหวัดนครพนมเกือบ 1.2 ล้านไร่ หรือเสียหายไป 1 ใน 6 ของพื้นที่ทางการเกษตรทั้งหมด กระทบ 22,000 ครัวเรือน ด้านปศุสัตว์ได้รับความเสียหาย 1,880 ราย และประมง 4,114 ราย ทั้งนี้คาดว่ามูลค่าความเสียหายรวมทั้งหมด 4-5 พันล้านบาท นอกจากนี้ยังมีบ้านเรือนที่ได้รับผลกระทบอีกจำนวนหนึ่ง อีกทั้งยังส่งผลทางอ้อมต่อธุรกิจร้านค้าในตัวจังหวัด ที่มีลูกค้าอยู่ต่างอำเภอที่ได้รับความเสียหาย หรือเป็นเกษตรกรที่ไม่สามารถชำระค่าสินค้าได้ช่วงนี้
สำหรับการช่วยเหลือด้านการเกษตร ในพื้นที่ที่น้ำลดแล้วสามารถทำนาได้ทันในฤดูกาลนี้ มีประมาณ 1 แสนกว่าไร่ ราชการจะช่วยเหลือพันธุ์ข้าว ปุ๋ย ให้ชาวบ้านได้ปลูกใหม่ ส่วนพื้นที่ที่ยังไม่สามารถปลูกได้ทันในฤดูกาลนี้ ซึ่งคาดว่ามีประมาณ 7-8 หมื่นไร่ ราชการจะแจกจ่ายข้าวสารข้าวเหนียวให้เกษตรกรได้บริโภค เพื่อที่จะประทัง 1 ปี ระหว่างรอปลูกข้าวรุ่นใหม่ในปีหน้า และช่วยเหลือเป็นจำนวนเงิน 1,119 บาท/ไร่ โดยกำหนดให้ครอบครัวละไม่เกิน 30 ไร่ รวมถึงขณะนี้ทางจังหวัดกำลังประชุมหารือกันเพื่อหาพันธุ์พืชอื่นๆ มาปลูกทดแทน
“จากเดิมประเมินว่าไตรมาสที่ 3 ภาวการณ์ธุรกิจของทุกภาคส่วนเริ่มเงยหัวขึ้นมา แต่เมื่อเกิดปัญหานี้ทำให้ลดลง กว่าจะกลับมาสู่ภาวะปกติอาจจะนานกว่า 4-5 เดือน ขณะที่กำลังซื้อในจังหวัดต่ำลงมา เพราะชาวบ้านไม่มีทุนที่จะไปซื้อจับจ่ายใช้สอย ต้องประหยัดเพื่อเตรียมไว้ซื้ออาหารสำหรับช่วงที่ไม่มีรายได้ ด้านการค้าก็ดาวน์ลง อยู่ในจุดที่ชะลอตัวสุดๆ” นายสุรัตน์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ช่วยเหลือด้านการเกษตรไร่ละ 1,119 บาท แต่ไม่เกินครอบครัวละ 30 ไร่ รวมถึงชดเชยครัวเรือนละ 3,000 บาท และล่าสุด ครม.มีมติอนุมัติจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 งบฯกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น รวมทั้งสิ้น 2,101.46 ล้านบาท ให้กระทรวงคมนาคม ประกอบด้วย กรมทางหลวง 1,620.67 ล้านบาท และกรมทางหลวงชนบท 480.79 ล้านบาท

 

ขอบคุณข้อมูลจากประชาชาติธุรกิจ