ซีพีเอฟ ผนึก นักวิชาการ ร่วมกำจัด “ปลาหมอคางดำ” ทุกมิติ

ปลาหมอคางดำ” ถือเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนได้ระดมกำลังร่วมมือกันแก้ไข ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ดำเนินการไปพร้อมกับการใช้องค์ความรู้จากนักวิชาการ อาจารย์มหาวิทยาลัย ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เข้ามาสนับสนุน เพื่อให้สามารถควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

เรื่องนี้ ซีพีเอฟ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ได้เดินหน้า 5 โครงการเชิงรุกบูรณาการความร่วมมือกับหลายหน่วยงาน หนึ่งในนั้นคือ ความร่วมมือกับ 3 สถาบันการศึกษา ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ในการนำองค์ความรู้ทางวิชาการ รวมถึงนวัตกรรม เทคโนโลยีที่ทันสมัย เข้ามาประยุกต์ใช้แก้ปัญหาในทุกมิติ

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดย คณะประมง ซึ่งมีนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญได้ทำการศึกษาวิจัยปลาชนิดนี้มาหลายปี ส่งผลให้มีองค์ความรู้เข้ามาช่วยเติมเต็มการแก้ปัญหาของภาครัฐได้ ผศ.ดร.สรณัฎฐ์ ศิริสวย ภาควิชาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า การแก้ปัญหาปลาหมอคางดำ กรมประมงมีการศึกษาเชิงลึกอยู่แล้ว และมีการเตรียมแผนอย่างดี เพื่อนำปลาขนาดใหญ่ออกจากแหล่งน้ำธรรมชาติให้มากที่สุด เพื่อตัดโอกาสและตัดวงจรการขยายพันธุ์ ถือเป็นวิธีการลดปัญหาได้เร็วที่สุด

จากนั้นจึงปล่อยปลานักล่า เช่น ปลากะพง เข้าไปกินลูกปลาและปลาขนาดเล็ก วิธีการดังกล่าวช่วยกำจัดวงจรชีวิตของปลาไปเรื่อยๆ โดยต้องศึกษาว่า จับด้วยวิธี หรืออุปกรณ์ชนิดใด ใช้ระยะเวลาเท่าใด ซึ่งอาจมีความแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ รวมทั้งการผ่อนปรนใช้เครื่องมือจับสัตว์น้ำ ซึ่งต้องศึกษาระยะเวลา ขนาด และปริมาณที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ขณะเดียวกัน กรมประมงเร่งวิจัยพันธุกรรม “โครงการวิจัย การเหนี่ยวนำชุดโครโมโซม 4n ในปลาหมอคางดำ” ด้วยการปล่อยปลา 4N เพื่อผสมกับปลาปกติ 2N ให้ได้ปลา 3N ซึ่งเป็นหมัน

ที่สำคัญ ปลาหมอคางดำถือเป็นแหล่งโปรตีน นำมาปรุงอาหาร เพื่อบริโภคได้ ผศ.ดร.นันทิภา พันธุ์สวัสดิ์ หัวหน้าภาควิชาผลิตภัณฑ์ประมง คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงพัฒนาวิธีการนำปลาหมอคางดำมาใช้ประโยชน์ เพื่อช่วยลดปริมาณปลาในธรรมชาติ ด้วยการนำมาปรุงอาหารหลายเมนู อย่างเช่น ขนมจีนน้ำยาปลาหมอคางดำ ที่ใช้ปลาได้ทุกขนาด พร้อมเตรียมพัฒนาวิธีการแปรรูปตัดแต่งเนื้อปลา บรรจุภัณฑ์ หรือการผลิตเนื้อปลาแช่แข็ง เพื่อสะดวกต่อการขนส่ง ทำให้ประชาชนที่ต้องการเข้าถึงได้ง่ายขึ้น

Advertisement

และด้วยมาตรการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ต้องการนำปลาหมอคางดำมาแปรรูปเพิ่มมูลค่า ด้วยการนำมาทำปลาร้าที่กำลังได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายทั้งตลาดในและต่างประเทศ สอดคล้องกับแนวคิดของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่เตรียมพัฒนาจุลินทรีย์มาช่วยย่นระยะเวลาการหมักปลาร้าให้สั้นลง เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดได้เร็วขึ้น เป็นการจูงใจให้ชาวประมงจับปลาหมอคางดำออกจากระบบนิเวศ และลดความรุนแรงของปัญหา

Advertisement

สำหรับนวัตกรรมและเทคโนโลยีทันสมัย ที่ ผศ.ดร.วัลย์ลดา กลางนุรักษ์ ผู้ช่วยคณบดี คณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เตรียมนำมาใช้จัดการควบคุมการแพร่กระจายของปลาหมอคางดำอย่างยั่งยืน คือ เทคโนโลยี Environmental DNA เป็นการสำรวจร่องรอย DNA ในธรรมชาติ ว่ามีปลาหมอคางดำเข้ามาหรือไม่ หากตรวจพบได้เร็วก็สามารถวางมาตรการจัดการได้ทันท่วงที ป้องกันการเพิ่มจำนวนของปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำนั้นๆ นอกจากนี้ ยังต้องวิจัยการฟื้นฟูระบบนิเวศด้วยการเพิ่มปริมาณปลาในท้องถิ่นกลับสู่ระบบ

แนวทางควบคุมประชากรปลาหมอคางดำในระยะยาว คือ การใช้เทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนม (genome editing) เป็นเทคนิคแก้ไขรหัสพันธุกรรมในตำแหน่งที่ต้องการอย่างจำเพาะ เพื่อเปลี่ยนเพศปลา ซึ่งได้ทดสอบแล้วในปลานิล รวมถึงการใช้เทคนิคระบบ gene drive เพื่อใช้ควบคุมการแพร่กระจายของปลาหมอคางดำ โดยต้องศึกษาวิจัยเพิ่มเติม เพื่อป้องกันผลกระทบต่อระบบนิเวศอีกระยะ ก่อนนำออกไปใช้จริง

นอกจากคณาจารย์และผู้เชี่ยวชาญจาก 3 มหาวิทยาลัย ดังกล่าวแล้ว ขณะนี้ ยังมีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ แสดงความสนใจเข้าร่วมพัฒนาและเสาะหาแนวทางหยุดวงจรปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำด้วย

การนำองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมต่างๆ มาดำเนินการแก้ปัญหา ภายใต้การสนับสนุนของซีพีเอฟ เพื่อนำมาปรับใช้เพิ่มประสิทธิภาพการแก้ปัญหา ควบคุมปริมาณปลาหมอคางดำ พร้อมกันนี้ยังนำศักยภาพของบริษัทร่วมสนับสนุนกรมประมงในการจัดกิจกรรม “ลงแขก-ลงคลอง”​ เพื่อกำจัดปลาหมอคางดำของประมงจังหวัดในหลายพื้นที่ควบคู่กัน ทำให้การจัดการแก้ปัญหาปลาหมอคางดำเกิดประสิทธิภาพในระยะยาว