ผงะผลวิจัย ม.นเรศวร น้ำ-ผัก พบปนเปื้อนเพียบ

ในการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการพิจารณาลด ละเลิกใช้วัตถุอันตรายฯ ครั้งนี้ ทางเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือไทยแพน (Thai-PAN) นำโดยนางสาวภาวิณี วัตถุสินธุ ในฐานะนักวิจัยของไทยแพนได้เข้าชี้แจง และนำเสนอรายงานฉบับสมบูรณ์ของแผนงานวิจัยเรื่องการวิจัยเชิงบูรณาการเพื่อเสริมสร้างศักยภาพหน่วยงานท้องถิ่นในการจัดการและป้องกันการปนเปื้อนของสารพิษบนพื้นที่ต้นน้ำน่าน ซึ่งจัดทำโดยสถาบันวิจัยเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการด้านวิจัยและนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร พอสรุปได้ว่า

พบการปนเปื้อนสารเคมีในช่วงฤดูเพาะปลูกใน “น้ำผิวดิน” พบพาราควอตถึง 64 ตัวอย่าง จาก 65 ตัวอย่าง ส่วน “ในน้ำใต้ดิน” พบพาราควอต 13 แห่ง จาก 15 แห่ง นอกจากนี้ จากการสุ่มตรวจดังกล่าว พบพาราควอตใน “ผัก” 45 ตัวอย่าง (จากทั้งหมด 45 ตัวอย่าง และพบในปลา 19 ตัวอย่าง จากทั้งหมด 19 ตัวอย่าง

ทำให้ไทยแพนนำข้อมูลเหล่านี้เสนอให้คณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูงพิจารณาแบน 2 สารดัง คือ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และจำกัดการใช้ 1 สาร คือ ไกลโฟเสต

โดยในน้ำประปาและน้ำดื่มบรรจุขวดมีการตกค้างของสารเคมีทั้ง 4 ชนิด โดยพบ อาทราซีน ไกลโฟเสต และพาราควอต ในทุกตัวอย่างของน้ำประปาและน้ำดื่มบรรจุขวด

ที่มาของการตกค้างของสารเคมีเหล่านี้ในน้ำประปาและน้ำดื่มนั้น มาจากการสำรวจของคณะผู้วิจัยซึ่งพบว่า แหล่งน้ำดิบที่นำมาผ่านกระบวนการทำให้น้ำสะอาดเพื่อเป็นน้ำประปาและน้ำดื่มนั้น ได้มาจากแหล่งน้ำผิวดิน และน้ำบ่อตื้น ซึ่งแหล่งน้ำเหล่านี้มีการปนเปื้อนของสารเคมีอยู่แล้ว และจากการที่ระบบผลิตน้ำประปาและน้ำดื่มนั้นไม่ได้มีกระบวนการเฉพาะในการกำจัดสารเคมีปราบศัตรูพืชให้หมดไปโดยเฉพาะ จึงทำให้พบสารเคมีตกค้างในน้ำประปาและน้ำดื่ม ส่วนในช่วงฤดูเก็บเกี่ยว พบพาราควอตตกค้างในน้ำผิวดินทุกตัวอย่าง โดยมีค่าเฉลี่ยของสารเคมีที่พบในฤดูเก็บเกี่ยวนี้มากกว่าฤดูเพาะปลูก
จากผลของการวิเคราะห์ที่ผ่านมา แสดงถึงการตกค้างของสารเคมีในน้ำและในดิน ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการตกค้างของสารเคมีเหล่านี้ปรากฏในผักจากการดูดซึมสารเคมีที่ปนเปื้อนอยู่ในดินเข้าสู่ลำต้น และส่วนต่างๆ ของพืช ในลักษณะเดียวกัน การตกค้างของสารเคมีในน้ำอาจทำให้เกิดการได้รับสารเคมีไปสู่ตัวปลา ซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่ปนเปื้อนสารเคมีนั้นๆ และเกิดการสะสมในอวัยวะต่างๆ
“ผลวิจัยกล่าวถึงเฉพาะพาราควอตอย่างเดียว แต่ประเด็นสำคัญ คือ พาราควอตจะถูกดูดซับในดินได้ดีก็ตาม แต่เนื่องจากมีการใช้มาเป็นเวลานานเกินกว่าที่ดินจะดูดซับไว้ได้ จึงลงไปสู่แหล่งน้ำ”
นอกจากนี้ นางสาวปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ได้ยื่นหนังสือ ถึง “อธิบดีกรมวิชาการเกษตร” โดยมีสาระสำคัญว่า “เพื่อยกระดับความปลอดภัยมนุษย์และสิ่งแวดล้อม และไม่เป็นการเพิกเฉยต่อผลการศึกษาข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ไทยแพนขอสนับสนุนมติของคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ครั้งที่ 4/2560 เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2560 ที่มีตัวแทนจาก 5 กระทรวงหลักให้ยกเลิกสารเคมีทั้ง 3 ชนิด ทั้งพาราควอต ไกลโฟเสต และควอไพริฟอส

อย่างไรก็ตาม นางสาวภาวิณีได้ตั้งข้อสังเกตทิ้งท้ายว่า ในการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียฯ ครั้งนี้ ผู้แสดงความคิดเห็นส่วนใหญ่ไม่หลากหลาย โดยกลุ่มเกษตรกรที่แสดงความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกันคือ สนับสนุนการใช้ยาฆ่าหญ้า

 

ขอบคุณข้อมูลจากประชาชาติธุรกิจ