เผยแพร่ |
---|
กรุงเทพฯ 22 สิงหาคม 2567 – กรมการข้าว เดินหน้าเสริมศักยภาพและมูลค่าให้พื้นที่ผลิตข้าวทั่วประเทศ เร่งผลักดันข้าวไทยให้มีมูลค่าสูงผ่านแนวทางการสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์หรือสินค้า GI เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้เกษตรกรและผู้ประกอบการ ทั้งในการนำอัตลักษณ์ไปต่อยอดการแปรรูปผลิตภัณฑ์ข้าว การยกระดับแบรนด์สินค้า และการใช้ชื่อเสียงจากความเป็นสินค้า GI สร้างคุณค่าและความยั่งยืน พร้อมโชว์ชุมชนตัวอย่าง วิสาหกิจชุมชนกลุ่มมีเส้นบางกินน้ำ ตำบลบางเหรียง อำเภอทับปุด จังหวัดพังงา แหล่งผลิตข้าวไร่ดอกข่า (GI) ข้าวพื้นถิ่นของดีจังหวัดพังงาที่มากด้วยสรรพคุณสำหรับคนรักสุขภาพ พร้อมทั้งได้มีการแปรรูปเป็นสินค้าชนิดต่างๆ อาทิ ขนมจีนอบแห้งและน้ำยากึ่งสำเร็จรูป ข้าวบรรจุสุญญากาศ อีกทั้งยังสามารถนำสินค้าก้าวสู่ช่องทางการขายออนไลน์
นางจรัญจิต เพ็งรัตน์ รักษาการผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าว กรมการข้าว เปิดเผยว่า การผลักดันมูลค่าจากการปลูกข้าวยังคงเป็นเรื่องท้าทายสำหรับประเทศไทยในหลายๆ พื้นที่ เนื่องจากบริบทของแต่ละแปลงนารวมทั้งความต้องการทางการตลาดมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ดังนั้น การส่งเสริมผู้ประกอบการในแต่ละพื้นที่จึงต้องใช้กลยุทธ์และรูปแบบการส่งเสริมที่แตกต่างกัน แต่อย่างไรก็ตาม แนวทางหนึ่งที่สามารถใช้ร่วมกันได้สำหรับเกษตรกรทั่วประเทศคือ การสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์หรือสินค้า GI ซึ่งข้าวเป็นผลิตผลทางการเกษตรประเภทหนึ่งที่สามารถดำเนินตามแนวทางดังกล่าวได้ และจะเป็นโอกาสในการสร้างมูลค่าสินค้าที่สูงขึ้น โดยการเล่าเรื่องราววิถีชีวิตของชุมชนในอดีตที่เกี่ยวพันกับเรื่องข้าวผสานกับวัฒนธรรมที่ยังคงอยู่ในปัจจุบัน จนกลายเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นนั้นๆ ให้เป็นที่รู้จักและเป็นที่ยอมรับในตลาดผู้บริโภคยุคปัจจุบัน การสะท้อนถึงอัตลักษณ์พื้นถิ่น การขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้เติบโตในระดับที่กว้างทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งสามารถใช้ชื่อเสียงจากความเป็นสินค้า GI ต่อยอดเป็นสินค้าแปรรูปที่หลากหลายได้อีกด้วย
“สินค้า GI ประเภทข้าวของไทยมีมากกว่า 20 รายการ ซึ่งกระจายอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ทั้งภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยการส่งเสริมข้าวให้เป็นสินค้า GI นั้น ในภาพใหญ่ระดับประเทศเป็นการตอกย้ำว่าประเทศไทยคือ แหล่งปลูกข้าวที่ได้ทั้งปริมาณและคุณภาพในฐานะครัวของโลก ส่วนในระดับพื้นที่เป็นการสะท้อนว่าทุกภูมิภาคนั้นสามารถผลิตข้าวด้วยพันธุ์และวิธีที่แตกต่าง เพื่อส่งต่อไปยังผู้บริโภคที่มีความชื่นชอบหรือพฤติกรรมในการรับประทานที่แตกต่างกัน อีกทั้งยังสะท้อนถึงบริบทความสมบูรณ์ทางภูมิศาสตร์ที่เกษตรกรสามารถใช้ประโยชน์จากเรื่องรสชาติ กลิ่น คุณประโยชน์ มาต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้ หากในพื้นที่ต่างๆ มีการผลิตข้าวที่เป็นสินค้า GI ในวงกว้างยังจะช่วยกระตุ้นให้ข้าวพันธุ์นั้นๆ กลายเป็นพืชเศรษฐกิจ สร้างความคุ้มค่า-ความยั่งยืนให้กับระบบเกษตร และโอกาสในการทำตลาดทั้งออฟไลน์ ออนไลน์ โมเดิร์นเทรด นอกจากนี้ สินค้า GI ยังมีความน่าสนใจในแง่มูลค่าเศรษฐกิจซึ่งทำรายได้มากกว่า 7.1 หมื่นล้านบาทต่อปี”
สำหรับในพื้นที่จังหวัดพังงงา พันธุ์ข้าวที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสินค้า GI คือ การปลูก “ข้าวไร่ดอกข่า” ซึ่งมีหลายวิสาหกิจชุมชนยังคงให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์พันธุ์ข้าว รักษากรรมวิธีในการผลิต รวมถึงการต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปและผลักดันให้เป็นของดีประจำจังหวัดพังงา นอกจากนี้ ข้าวไร่ดอกข่ายังเปรียบเสมือนพืชเศรษฐกิจของจังหวัดซึ่งทำรายได้ให้กับเกษตรกร โดยเฉพาะในเขตพื้นที่อําเภอตะกั่วทุ่ง อําเภอท้ายเหมือง อําเภอเมือง และอําเภอทับปุด จังหวัดพังงา ซึ่งมีพื้นที่เพาะปลูกเป็นดินร่วน ดินร่วนปนดินเหนียว หรือดินร่วนปนดินทราย ซึ่งเกิดจากการสลายตัวของหินชนิดต่างๆ เช่น หินอัคนี หินตะกอน หินแปร มีการระบายน้ำได้ดี ปฏิกิริยาดินเป็นกรดจัดถึงเป็นกรดแก่ และจากพันธุกรรมที่ตอบสนองเฉพาะดิน จึงทําให้ข้าวไร่ดอกข่าพังงามีความต้านทานต่อโรคได้ดี
ขณะที่ความโดดเด่นของข้าวไร่ดอกข่าที่สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรคือ เป็นข้าวที่มีเมล็ดเรียวยาว กลิ่นหอมคล้ายใบเตย เมื่อหุงสุก มีความนุ่ม ไม่แข็ง รสชาติอร่อย อุดมไปด้วยกรดไขมันโอเมก้า 9 ช่วยลดคอเลสเตอรอล และช่วยเพิ่มระดับ HDL ช่วยลดไตรกลีเซอไรด์และช่วยให้ระบบไหลเวียนโลหิตเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีสารต้านอนุมูลอิสระและช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคโลหิตจาง ชะลอการเสื่อมสุขภาพไม่ให้แก่ก่อนวัย ช่วยกำจัดเซลล์ที่ตายแล้ว เป็นต้น ทั้งนี้ โดยส่วนมากผู้บริโภคจะนิยมซื้อทั้งรูปแบบข้าวกล้อง และข้าวขัดสี และเป็นที่นิยมในกลุ่มผู้รักสุขภาพ และกลุ่มร้านอาหารในพื้นที่ และร้านอาหารระดับพรีเมียม
ทั้งนี้ อําเภอทับปุด มีหนึ่งชุมชนที่เป็นแหล่งผลิตข้าวไร่ดอกข่าที่สำคัญคือ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มมีเส้นบางกินน้ำ ตำบลบางเหรียง อำเภอทับปุด จังหวัดพังงา ที่เป็นทั้งพื้นที่ต้นแบบในการเพาะปลูกที่สำคัญของจังหวัด การผลิตเมล็ดพันธุ์ และการผลิตข้าวสำเร็จรูปเพื่อกระจายไปยังช่องทางต่างๆ โดยทั่วไปพื้นที่แห่งนี้ นิยมปลูกเป็นข้าวไร่ แซมยางพารา และปาล์มน้ำมัน นอกจากนี้ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มมีเส้นบางกินน้ำ ได้เข้าร่วมหลากหลายโครงการตามกิจกรรมสนับสนุนของกรมการข้าวอย่างต่อเนื่อง ในการส่งเสริมช่องทางในการจัดจำหน่ายสินค้า และพันธุ์ข้าวคุณภาพดี ที่ช่วยให้คนในชุมชนมีการเพาะปลูกข้าวไร่ดอกข่าเพิ่มขึ้น และต่อยอดการแปรรูปผลิตภัณฑ์ข้าวที่หลากหลาย อีกทั้งยังเป็นแนวทางการพัฒนาสินค้าใหม่ๆ ที่ตรงกับความต้องการตลาดและผู้บริโภค และมาตรฐานผลิตภัณฑ์ที่สูงขึ้น
นางวิถาน อาจการ ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มมีเส้นบางกินน้ำ เปิดเผยว่า กรมการข้าวได้ให้การส่งเสริมองค์ความรู้ การพัฒนาการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว-สินค้าข้าวให้ตรงกับความต้องการของตลาด เพื่อเชื่อมโยงไปยังผู้บริโภค โดยวิสาหกิจชุมชนกลุ่มมีเส้นบางกินน้ำ ตำบลบางเหรียง อำเภอทับปุด จังหวัดพังงา ประกอบไปด้วยชาวบ้านในพื้นที่รวม 20 คน 20 ครัวเรือน พื้นที่ปลูกข้าวรวม 100 ไร่ เกษตรกรจะทำการปลูกข้าวด้วยกรรมวิธีอินทรีย์ผสานกับการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ ที่จำเป็น ทั้งนี้ เกษตรกรทำนาปีละ 1 ครั้ง มีฤดูกาลเพาะปลูกคือเดือนสิงหาคม-พฤศจิกายน และเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนธันวาคม ผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 300 กิโลกรัมต่อไร่ โดยปีที่ผ่านมามีผลผลิตรวม 30 ตัน สามารถจำหน่ายข้าวเปลือกได้ตันละ 30,000 บาท โดยกลุ่มสินค้าข้าวที่ขายดีที่สุดและสร้างรายได้ให้กับชุมชนคือข้าวไร่ดอกข่าชนิดบรรจุถุง
นางวิถาน กล่าวเพิ่มเติมว่า วิสาหกิจชุมชนกลุ่มมีเส้นบางกินน้ำ ตำบลบางเหรียง ยังมีการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาเพิ่มมูลค่าให้ข้าวด้วยการแปรรูปเป็นขนมจีนเส้นสดข้าวไร่ดอกข่าแบบโบราณ ด้วยกระบวนการดั้งเดิม โดยมีการนำแป้งที่พร้อมสำหรับทำเส้นขนมจีนแล้วมาใส่ลงไปในกระบอกทองเหลืองที่เจาะรูให้เต็มกระบอก ปิดปากกระบอกและยกกระบอกไปตั้งไว้บนโครงไม้ จากนั้นใช้ไม้บิดหมุนเกลียวเพื่อบีบอัดและดันแป้งในกระบอกให้โรยเส้นลงมาที่ก้นกระบอก ด้านล่างรองรับด้วยกระทะที่ต้มน้ำร้อนไว้ จากนั้นรอสักพักจนแป้งสุกดีจึงตักเส้นขนมจีนขึ้นมาล้างในน้ำสะอาด แล้วจึงหยิบเส้นขนมจีนเป็นจับๆ จัดวางเรียงวนไปรอบๆ ตะกร้าหรือภาชนะที่สานด้วยไม้ไผ่จนเต็ม ก็จะได้เส้นขนมจีนที่ใช้รับประทานกับน้ำยาชนิดต่างๆ นอกจากยังมีผลิตภัณฑ์ขนมจีนอบแห้งและน้ำยากึ่งสำเร็จรูป ข้าวบรรจุสุญญากาศ ให้เป็นสินค้าประจำชุมชนในการสร้างรายได้ เพื่อนำไปจัดจำหน่าย อาทิ ออกบูธจัดจำหน่ายสินค้าในงาน
ต่างๆ และผ่านช่องออนไลน์ อาทิ เฟซบุ๊ก เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าถึงสินค้าได้ง่ายเพิ่มมากขึ้น