เผยแพร่ |
---|
ตรัง เจ้าสำนักสงฆ์วัดเขาหลักจันทร์ พระลงมือปลูกแตงกวาไข่เข้ 35 วัน เก็บให้ญาติโยม ไม่ขาย แล้วแต่กำลังศรัทธา นำปัจจัยจ่ายค่าน้ำค่าไฟ ผู้มีรายได้น้อยเก็บกินฟรี ทำชาวบ้านแห่อุดหนุนเพียบ
ที่สำนักสงฆ์เขาหลักจันทร์ ตำบลน้ำผุด อำเภอเมือง จังหวัดตรัง พระเคารพ ญาติโก เจ้าสำนักสงฆ์เขาหลักจันทร์ กำลังเร่งเก็บแตงกวาพันธุ์เล็กหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า แตงไข่เข้ ซึ่งมีขนาดเล็กกว่าแตงกวาทั่วไป 3-4 เท่า แต่ให้ความกรอบ ความหวานมากกว่า ชาวบ้านนิยมนำไปกินคู่กับน้ำพริก ผักลวก ทำแกงส้มและผัดต่างๆ โดยพระเคารพร่วมกับพระสงฆ์ ใช้เวลาปลูกประมาณ 35-40 วันก็สามารถเก็บได้แล้ว
ซึ่งรอบนี้พระเคารพปลูกแตงไข่เข้ไว้จำนวน 2,000 ต้น โดยแต่ละวันจะเก็บแตงไข่เข้ได้ประมาณ 20-30 กิโลกรัม คาดว่าจะมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 30,000-40,000 บาท ส่วนเงินที่ได้นำไปจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ภายในสำนักสงฆ์ หากเหลือก็จะแบ่งปันไปทำบุญช่วยเหลือผู้ยากไร้ในชุมชนต่อไป
โดยแตงกวาที่พระปลูกไม่ได้นำไปวางขายที่ไหน แต่มีชาวบ้านทั้งในและนอกพื้นที่ ที่เข้ามาพบเห็นในช่วงที่ผักกำลังเก็บเกี่ยว ต่างช่วยกันอุดหนุน โดยตั้งราคากันเองแล้วแต่จะให้ตามกำลังศรัทธา ส่วนคนที่มีรายได้น้อย เข้ามาเก็บกินฟรีได้ ทำชาวบ้านแห่อุดหนุนจนผักหมดเกลี้ยงทุกรอบ
โดยรอบต่อไปจะลงมือปลูกถั่วฝักยาว บวบ มะเขือ ผักบุ้ง และผักอื่นๆ ซึ่งผักทุกชนิดปลอดภัยจากการใช้สารเคมี เพราะพระสงฆ์ก็นำผักไปทำอาหารฉันในสำนักสงฆ์ด้วย หากวันไหนไม่มีญาติโยมเข้ามาทำบุญที่วัด และหากมีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง พระสงฆ์ก็จะช่วยกันปลูกผักอีกหลายชนิดจนกว่าจะเข้าสู่หน้าแล้ง
ซึ่งข้อดีในการปลูกผักได้ประโยชน์หลายอย่าง เช่น ได้ฝึกสมาธิ ทำให้มีรายได้จ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ มีเงินเหลือใช้นำไปช่วยเหลือชาวบ้าน และได้กินผักปลอดภัยซึ่งดีต่อสุขภาพ อีกทั้งยังเป็นแบบอย่างให้กับชาวบ้าน นำไปปรับใช้เพื่อลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ให้กับครอบครัวอีกทางหนึ่งด้วย
ส่วนใครสนใจอยากจะอุดหนุนพืชผักทางการเกษตรฝีมือพระทำ หรืออยากจะถวายปัจจัยเพื่อเป็นค่าน้ำ ค่าไฟ สามารถติดต่อไปได้ที่พระเคารพ ญาติโก หมายเลขโทรศัพท์ 083-280-2764
ด้าน พระเคารพ ญาติโก เจ้าสำนักสงฆ์เขาหลักจันทร์ อำเภอเมืองตรัง กล่าวว่า ใช้เวลาปลูกแตงกวาประมาณ 2,000 ต้น ปลูกแค่เดือนกว่าๆ ก็ได้เก็บขาย คาดว่าน่าจะได้เงินประมาณ 30,000-40,000 บาท ถ้าเราไม่ขี้เกียจอยู่ที่ไหนก็ไม่อดอยาก ซึ่งการปลูกผักได้ประโยชน์ 3 อย่าง อย่างแรกเป็นการฝึกสมาธิให้กับตัวเอง แล้วนำไปสอนชาวบ้านได้ อย่างที่ 2 คือได้จ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าใช้จ่ายต่างๆ ภายในสำนักสงฆ์ และ 3 ได้ไปช่วยเหลือชาวบ้าน
ซึ่งผักไม่ได้ขาย แล้วแต่โยมจะทอน ซึ่งชาวบ้านจะมาถามว่ามีแตง มีถั่วมั่งไหม กำลังจะทำนั่งร้านให้ ซึ่งชาวบ้านจะให้กี่บาทก็แล้วแต่ เพราะตนเองได้สุขภาพมาแล้ว อีกส่วนหนึ่งได้ไปฝึกสมาธิในสวนผัก ทำให้ไม่เครียด ซึ่งตนเองจะปลูกผักไปเรื่อยๆ ในช่วงที่ไม่มีน้ำก็หยุด ช่วงไหนมีน้ำก็ปลูก เพื่อจะได้ช่วยเหลือชาวบ้านทั่วๆ ไป
ที่มา ข่าวสดออนไลน์