“ปลาหมอคางดำ” ความท้าทายใหม่ การปรับตัว พร้อมใส่ใจระบบนิเวศ เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน

ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ข่าวสารของปลาหมอคางดำเป็นกระแสข่าวอย่างไม่ขาดช่วงกันเลยทีเดียว ในหลายพื้นที่กำลังประสบปัญหาการรุกรานของสัตว์น้ำต่างถิ่นชนิดนี้ หรือที่มักเรียกกันว่าเอเลี่ยนสปีชีส์ ซึ่งกำลังสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนโดยเฉพาะเกษตกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง 

ผศ.ดุสิต เอื้ออำนวย หัวหน้าภาควิชาเทคโนโลยีการผลิตสัตว์และประมง คณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
ผศ.ดุสิต เอื้ออำนวย หัวหน้าภาควิชาเทคโนโลยีการผลิตสัตว์และประมง คณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์มีโอกาสสัมภาษณ์ ผศ.ดุสิต เอื้ออำนวย หัวหน้าภาควิชาเทคโนโลยีการผลิตสัตว์และประมง คณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านการจัดการคุณภาพน้ำ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและการเลี้ยงกุ้งในระบบ co-culture มาตอบข้อสงสัยรวมไปถึงการรับมืออย่างไรได้บ้าง กับการระบาดของปลาหมอคางคำในขณะนี้ 

ทำความรู้จัก “ปลาหมอคางดำ”

เอเลี่ยนสปีชีส์…ที่มีความอดทน  

ปลาหมอคางดำ มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Sarotherodon melanotheron (Blackchin tilapia) เป็นปลาน้ำกร่อยที่พบในเขตปากแม่น้ำและทะเลสาบชายฝั่งของแอฟริกาตะวันตก 

ลักษณะทั่วไป เป็นปลาในกลุ่มปลานิล มีลักษณะเด่นคือ มีกระดูกสันหลัง 26-29 ซี่ ซี่กรองเหงือกล่าง 12-19 อัน ก้านครีบหลัง 14-16 อัน สีลำตัวเปลี่ยนแปลงได้ตามสภาพแวดล้อม มักมีจุดดำที่คางและลำคอ

การสืบพันธุ์ ปลาหมอคางดำเพศผู้จะอมไข่และฟักไข่ในปาก สามารถวางไข่ได้ตลอดปี แต่น้อยลงในฤดูฝน ขนาดของไข่มีอยู่ที่ 2.0-3.5 มิลลิเมตร ใช้เวลาฟักเป็นตัวภายใน 4-6 วัน ระยะเวลาอมไข่และลูกปลาในปากอยู่ที่ 14 วัน

Advertisement

นิเวศวิทยา สามารถอาศัยอยู่ในน้ำกร่อย ทนความเค็มได้ 0-45 ppt และยังชอบอยู่ในอุณหภูมิที่เหมาะสมตั้งแต่ 18-33 องศาเซลเซียส และทนสภาพน้ำที่เป็นกรดได้ดี สามารถเจริญเติบโตได้ที่ค่า pH ในช่วง 3.5-5.2

ปลาหมอคางดำ
ปลาหมอคางดำ

การกินอาหาร ปลาหมอคางดำสามารถกินอาหารได้หลากหลาย ทั้งแพลงก์ตอนพืชและสัตว์ สาหร่าย ซากพืชซากสัตว์ รวมทั้งไข่และตัวอ่อนของสัตว์น้ำ ส่วนลูกของปลาหมอคางดำจะกินแพลงก์ตอนพืชและสัตว์เป็นหลัก และเมื่อเจริญเติบโตเต็มที่จนเป็นปลาที่มีขนาดใหญ่กินได้ทั้งแพลงก์ตอน สาหร่าย ซากพืช ซากสัตว์ และหน้าดิน และยอมรับอาหารเม็ดสำเร็จรูปได้ดี (การเพาะเลี้ยง)

Advertisement

การเพาะเลี้ยง ปลาหมอคางดำเพาะพันธุ์ได้ง่ายภายในบ่อดิน บ่อคอนกรีต และตู้ปลา สามารถวางไข่ได้หมดโดยเฉพาะสภาพแวดล้อมที่เป็นแหล่งน้ำนิ่ง) สำหรับการเลี้ยงสามารถเลี้ยงภายในบ่อ กระชัง และคอก ให้ผลผลิตแตกต่างกันในแต่ประเภทการเลี้ยง หากเลี้ยงภายในบ่อดินจะต้องมีกองไม้ในน้ำตื้นให้กับปลา ซึ่งสามารถให้ผลผลิตสูงสุด 1-3 ตันต่อไร่ต่อปี

การเจริญเติบโต สำหรับปลาหมอคางดำนั้นจะโตเร็วในช่วงแรก แต่จะชะงักการเติบโตเมื่อน้ำหนักตัวอยู่ที่ประมาณ 50-60 กรัม สาเหตุอาจเกิดจากการเริ่มสืบพันธุ์ ความหนาแน่น อาหาร หรือปัจจัยคุณภาพน้ำ และเพศเมียโตเร็วกว่าเพศผู้ซึ่งต่างจากปลากลุ่มนิลชนิดอื่น

“ปลาหมอคางดำ” การเข้ามาในประเทศไทย 

และวิวัฒนาการ เริ่มอย่างไร….?  

ผศ.ดุสิต เปิดเผยว่า เดิมทีปลาหมอคางดำมีถิ่นกำหนดอยู่บริเวณปากแม่น้ำและทะเลสาบน้ำกร่อยในแอฟริกาตะวันตก (West Africa, Western Africa) ตั้งแต่ประเทศมอริเตเนียจนถึง ประเทศแคเมอรูน แต่ที่อยู่ในประเทศไทยมีรายงานว่านำเข้ามาจากประเทศกานาเป็นปลาที่อยู่ในกลุ่มของปลานิลและปลาหมอเทศ 

สาเหตุที่เรียกว่าเอเลี่ยนสปีชีส์ เนื่องจากปลาหมอคางดำไม่ใช่ปลาที่อยู่ประจำถิ่นในประเทศไทย แต่ถูกนำเข้ามาเพื่อวัตุประสงค์เชิงพาณิชย์ ซึ่งการเข้ามาของปลาหมอคางดำในประเทศไทยนั้น มีวัตถุประสงค์ด้วยกันหลากหลาย บางกระแสว่าเข้ามาเพื่อการปรับปรุงพัฒนาสายพันธุ์ บ้างก็เพื่อการบำบัดน้ำควบคุมแพลงก์ตอน รวมทัังถูกนำเข้ามาเพื่อจำหน่ายเป็นปลาสวยงาม แต่เมื่อเข้ามาสู่ประเทศไทยแล้วขาดวิธีการควบคุมที่เหมาะสม ปลาหมอคางดำได้หลุดออกมาสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ และสร้างผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างที่เราทราบกันอยู่ในขณะนี้ 

ผศ.ดุสิต เผยต่ออีกว่า สิ่งที่อาจจะเรียกว่าความพิเศษของปลาหมอคางดำ นั้นก็คือมีความอดทนสูงสามารถอยู่ได้ในสภาพน้ำที่มีค่าความเค็มตั้งแต่ 0-40 ppt และอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่สิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆ ไม่สามารถอยู่ได้ แต่ปลาหมอคางดำกับดำรงชีวิติอยู่ได้โดยเฉพาะในพื้นที่ที่แหล่งน้ำมีคุณภาพต่ำ จึงทำให้ภัยคุกคามและศัตรูผู้ล่าอื่นๆ ไม่สามารถทำอันตรายปลาหมอคางดำได้   

“เมื่อปลาหมอคางดำเข้ามาสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ และมีการปรับตัวในเรื่องของความอดทนได้ดีแล้ว จึงทำให้ศัตรูของปลาหมอคางดำหรือผู้ล่าที่มีการปล่อยออกไป ไม่สามารถกำจัดได้ทันที อย่างเช่นการปล่อยปลากะพงที่ถูกอนุบาลขึ้นมาเพื่อการเลี้ยงภายในสภาพควบคุม กลับต้องถูกนำไปปล่อยลงในแหล่งน้ำธรรมชาติโดยตรง จึงทำให้ปลาเหล่านั้นต้องปรับตัวและเอาชีวิตตัวเองรอดให้ก่อนที่จะทำหน้าที่เป็นผู้ล่าปลาหมอคางดำ เพราะฉะนั้นก่อนที่จะปล่อยปลานักล่าอาจต้องมีขั้นตอนการปรับสภาพให้กับปลาเหล่านั้นให้แข็งแรงมากกว่านี้ก่อน เพื่อให้มีความพร้อมในการเป็นผู้ล่าอย่างแท้จริง” ผศ.ดุสิต กล่าว 

ความพิเศษ นอกจากอดทนแข็งแรง 

พ่อปลาหมอคางดำ ดูแลลูกได้อย่างดี

ความพิเศษของปลาหมอคางดำนอกจากมีความอดทนแล้ว ผศ.ดุสิต เล่าว่า ปลาชนิดนี้หลังผสมพันธุ์เรียบร้อยแล้ว พ่อพันธุ์จะเป็นผู้ดูแลไข่และฟักไข่ออกมาเป็นตัวซึ่งดูแลลูกปลาวัยอ่อนเองทั้งหมด จึงทำให้ตัวเมียเมื่อวางไข่ก็สามารถหาอาหารได้อย่างเต็มที่โดยที่ไม่ต้องดูแลลูกปลา จึงสามารถทำให้ตัวแม่พันธุ์ตั้งตัวและมีความสมบูรณ์ได้อย่างไม่ขาดช่วง ส่งผลให้สามารถวางไข่ได้เรื่อยๆ 

“ช่วงที่ปลาตัวผู้กำลังอมไข่และฟักไข่อยู่ในปาก ยังไม่สามารถไปหาอาหารได้อย่างเต็มที่ ปลาตัวเมียเมื่อไม่ต้องดูแลไข่ เมื่อมีความพร้อมทางด้านอาหารและความสมบูรณ์แล้ว ก็จะสามารถหาอาหารได้ตลอด พร้อมกับศัตรูทางธรรมชาติไม่สามารถทำอะไรได้ ปลาตัวเมียจะมีความพร้อมผสมพันธุ์ได้ไว หลังจากนั้นก็จะว่ายน้ำไปหาคู่ใหม่ได้ และสามารถวางไข่อีกได้ทันที” ผศ.ดุสิต กล่าว 

ซึ่งปลาหมอคางดำอาหารที่กินได้ในแหล่งน้ำ มีตั้งแต่แพลงก์ตอนพืชและสัตว์ รวมไปถึงกินอาหารจำพวกสาหร่ายได้ ผศ.ดุสิต เปรียบเปรยให้เห็นได้ชัดว่า จากพื้นฐานดั้งเดิมธรรมชาติของปลาชนิดนี้มีข้อจำกัดเรื่องแหล่งที่อยู่อาศัยและปริมาณอาหาร แต่เมื่อมาพบหรืออยู่ในแหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์ ประสิทธิภาพการกินและการหาอาหารจึงเกิดขึ้นอย่างไร้ขอบจำกัด จึงทำให้ความอุดมสมบูรณ์ด้านอาหารตามธรรมชาติของแหล่งน้ำนั้นๆ สูญสิ้นหรือหมดลงอย่างรวดเร็ว

ปลาหมอคางดำ สร้างผลกระทบมหาศาล

ตั้งแต่สิ่งแวดล้อม ภาคการเกษตร การทำประมง

ในเรื่องของผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอย่างมากมายของปลาหมอคางดำนั้น ผศ.ดุสิต บอกว่า ปลาชนิดนี้สามารถสร้างผลกระทบมากมาย เริ่มตั้งแต่ระบบนิเวศสิ่งแวดล้อม เพราะปลาหมอคางดำสามารถกินได้ทุกอย่าง ตั้งแต่ซากพืชและสัตว์ทุกชนิด ซึ่งอาจรวมทั้งไข่และตัวอ่อนสัตว์น้ำท้องถิ่นที่อยู่ในแหล่งน้ำธรรมชาติถูกกินเข้าไปด้วย       

“การระบาดของปลาหมอคางดำกำลังสร้างวิกฤตใต้ผืนน้ำ ด้วยนิสัยกินทุกอย่างและการอยู่รวมกันเป็นฝูง พวกมันกำลังทำลายสมดุลของระบบนิเวศอย่างรุนแรง ชาวประมงรายงานการลดลงของปลาและสัตว์น้ำขนาดเล็กในพื้นที่ที่ถูกรุกราน ส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงภาคประมงและเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงปลา สะท้อนถึงภัยคุกคามระยะยาวต่อความมั่นคงทางอาหารและความหลากหลายทางชีวภาพของแหล่งน้ำไทย” ผศ.ดุสิต กล่าว 

ปลาหมอคางดำ โตช้า อัตราแลกเนื้อต่ำ

หากจะเลี้ยงเชิงพาณิชย์ ต้องใช้เวลานาน

ในด้านของคุณค่าทางอาหารนั้น ผศ.ดุสิต บอกว่า ปลาหมอคางดำถือว่าเป็นปลาที่เป็นแหล่งโปรตีนที่ดีเช่นกัน แต่นำมาเลี้ยงในเชิงพาณิชย์คงเป็นไปไม่ได้ ทั้งข้อจำกัดด้านกฏหมายและข้อจำกัดด้านชีววิทยาที่ปลาชนิดนี้มีอัตราการแลกเนื้อที่สูงมาก อย่างเช่น หากต้องการนำปลาหมอคางดำมาเลี้ยงให้ได้น้ำหนักอยู่ที่ 1 กิโลกรัม จากงานวิจัยที่ผ่านมา พบว่าจะต้องให้อาหารอยู่ที่ 3.5-4 กิโลกรัม เมื่อเทียบกับปลานิลที่มีน้ำหนักอยู่ที่ 1 กิโลกรัม จะเลี้ยงด้วยอาหารเม็ดน้ำหนักอยู่ที่ประมาณ 1.1-1.5 กิโลกรัมเท่านั้น ทำให้เห็นได้ว่าปลาหมอคางดำให้อัตราการแลกเนื้อที่สูงและเติบโตช้า 

 “การระบาดของปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำและบ่อเลี้ยงสร้างความท้าทายให้เกษตรกร แต่ยังมีโอกาสในการจัดการอย่างยั่งยืน การเพิ่มจุดรับซื้อให้ครอบคลุมจะช่วยให้เกษตรกรจำหน่ายปลาได้สะดวกและคุ้มค่ามากขึ้น นอกจากนี้ การแปรรูปเป็นปุ๋ยชีวภาพหรือปลาป่นคุณภาพสูงยังเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ โดยเฉพาะปลาป่นซึ่งเป็นที่ต้องการในตลาดและเป็นส่วนผสมสำคัญในอาหารสัตว์ การประชาสัมพันธ์อย่างจริงจังและการสนับสนุนจากภาครัฐจะช่วยผลักดันให้แนวทางเหล่านี้เป็นรูปธรรม เปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม” ผศ.ดุสิต กล่าว  

ปรับตัว ป้องกันการแพร่ระบาด 

ช่วยลดจำนวน ในอนาคตได้ 

ผศ.ดุสิตเสนอแนวทางป้องกันและควบคุมประชากรปลาหมอคางดำในอนาคต โดยเน้นการวางแผนจับปลาอย่างมีประสิทธิภาพด้วยเครื่องมือประมงที่ทันสมัยและเฉพาะเจาะจง ควบคู่ไปกับการสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพในแหล่งน้ำที่ได้รับผลกระทบ เพื่อประเมินสถานการณ์และวางแผนปกป้องพื้นที่เปราะบาง นอกจากนี้ ยังแนะนำให้สร้างแนวกันชนด้วยการเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์น้ำที่เป็นผู้ล่าประจำถิ่นเพื่อป้องกันหรือจำกัดการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำไปยังแหล่งน้ำอื่นๆ ต่อไป

“การกำจัดปลาหมอคางดำในอนาคตจำเป็นต้องอาศัยเครื่องมือทำการประมงที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพสูง และเฉพาะเจาะจงกับชนิดพันธุ์นี้ โดยต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อระบบนิเวศเป็นสำคัญ การใช้สารเคมีอันตราย เช่น ไซยาไนด์ ไม่ใช่ทางเลือกที่เหมาะสม เนื่องจากอาจส่งผลเสียต่อห่วงโซ่อาหารและสุขภาพของมนุษย์ในระยะยาว แม้ในพื้นที่ที่มีการระบาดรุนแรงจนแทบไม่เหลือสัตว์น้ำชนิดอื่น การเลือกวิธีกำจัดต้องผ่านการวิจัยอย่างรอบคอบ เพื่อหาแนวทางที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญในการควบคุมประชากรปลาหมอคางดำให้ลดลงอย่างยั่งยืนในอนาคต” ผศ.ดุสิต กล่าว 

ทั้งนี้ การลดจำนวนปลาหมอคางดำให้ได้มากที่สุดนั้น จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมืออย่างต่อเนื่องจากทุกภาคส่วน พร้อมกับการปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมกับปลาชนิดนี้อย่างยั่งยืน การประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่สาธารณชนในวงกว้างจะให้ทุกคนเกิดการตื่นตัวและรับมืออย่างถูกต้อง หากทุกฝ่ายร่วมแรงร่วมใจกันอย่างจริงจัง เราจะสามารถควบคุมประชากรปลาหมอคางดำให้ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมในระยะยาว