ซินโครตรอน กระทรวง อว. ชูผลงานเด่น “ทุเรียนแช่เยือกแข็ง” ในมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ ’67

สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ส่งผลงานทุเรียนแช่เยือกแข็งเพื่อการส่งออก เข้าร่วมจัดแสดงภายในงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567” ชูจุดเด่นของผลงานช่วยคงความสดใหม่ให้ทุเรียนได้นาน 12 เดือน ตอบโจทย์การส่งออกตามแนวทางเศรษฐกิจใหม่

กรุงเทพมหานคร – สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ร่วมจัดแสดงผลงานวิจัยภายในงาน “มหกรรมวิจัยแห่งชาติ 2567” ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 26-30 สิงหาคม 2567 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอก คอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ โดยนิทรรศการของสถาบันฯ จัดแสดงที่บูธ CL3 และหนึ่งในผลงานเด่นที่สถาบันฯ จัดแสดงคือผลงาน “แสงซินโครตรอนยกระดับทุเรียนแช่เยือกแข็งเพื่อการส่งออกมุ่งเน้นเศรษฐกิจใหม่”

ดร.ศิริวรรณ ณะวงษ์ นักวิทยาศาสตร์ระบบลำเลียงแสง หัวหน้าส่วนวิจัยด้านอาหารและการเกษตร สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน เจ้าของผลงานทุเรียนแช่เยือกแข็ง กล่าวว่า “เราได้ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีแสงซินโครตรอน เพื่อการรักษาคุณภาพทุเรียนแช่เยือกแข็ง โดยได้พัฒนากระบวนการแช่เยือกแข็ง (Cryogenic Freezing) ร่วมกับสารละลายไครโอโพรเทกแทนต์ (Cryoprotectant) เพื่อยืดอายุการเก็บรักษาทุเรียนสด ที่ช่วยคงคุณค่าทางโภชนาการเอาไว้ได้ และเพิ่มมูลค่าการส่งออกทุเรียนด้วยแสงซินโครตรอน”

ดร.ศิริวรรณ ณะวงษ์

ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์ได้ใช้เทคนิคแสงซินโครตรอนติดตามการเปลี่ยนแปลงในทุเรียนแช่แข็ง ซึ่งมี 3 เทคนิคที่ใช้คือ เทคนิคที่ใช้แสงอินฟราเรดจากแสงซินโครตรอนในการวิเคราะห์องค์ประกอบภายในทุเรียน เทคนิคเอกซเรย์โทโมกราฟีหรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สามมิติเพื่อศึกษาโครงสร้าง 3 มิติของทุเรียนแช่แข็ง และเทคนิคการเรืองรังสีเอกซ์เพื่อตรวจวิเคราะห์ธาตุองค์ประกอบของตัวอย่างเนื้อทุเรียนที่แช่แข็งร่วมกับสารละลายไครโอโพรเทกแทนต์ชนิดต่างๆ

“ผลการวิเคราะห์ด้วยเทคนิคต่างๆ ข้างต้นพบว่า คุณภาพทางกายภาพและโครงสร้างทางเคมีของทุเรียนแช่เยือกแข็งมีความใกล้เคียงกับทุเรียนสดใหม่ และเมื่อทดสอบทางประสาทสัมผัสได้ผลว่าผลิตภัณฑ์ทุเรียนแช่เยือกแข็งที่อายุการเก็บรักษานาน 12 เดือน ไม่แตกต่างจากทุเรียนสดใหม่อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งผลการศึกษาครั้งนี้เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการยกระดับทุเรียนแช่เยือกแข็ง เพื่อการส่งออกสู่การมุ่งเน้นตามแนวทางเศรษฐกิจใหม่ สามารถผลิตทุเรียนสดนอกฤดูกาลได้ตลอดทั้งปี และช่วยเหลือชุมชนในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลผลิตทางการเกษตร” ดร.ศิริวรรณ กล่าว

Advertisement

นอกจากนี้ สถาบันฯ ยังนำผลงานอื่นมาจัดแสดง อาทิ ระบบห่อหุ้ม mRNA โดยใช้เทคโนโลยีไมโครฟลูอิดิกส์ สำหรับการพัฒนาวัคซีน mRNA โดยคนไทยเพื่อลดการพึ่งพาต่างประเทศ และสร้างความยั่งยืนให้แก่ระบบสาธารณสุขไทย ระบบสุญญากาศแบบ NEG Pump เพื่อผลิตสุญญากาศโดยไม่ใช้ไฟฟ้าสำหรับเครื่องเร่งอนุภาค และห้องสุญญากาศอะคริลิกเพื่อรักษาสภาพฟอลซิลกระดูกช้างโบราณสำหรับจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ รวมถึงได้นำตัวอย่างผลงานผลิตภัณฑ์ที่ร่วมพัฒนากับภาคอุตสาหกรรมมาจัดแสดงในงานนี้อีกด้วย

Advertisement