ตามไปดู 8 นวัตกรรมเด่นทางการเกษตร ใน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567” ได้ตั้งแต่วันนี้ถึง 30 ส.ค. 67

“มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567 Thailand Research Expo 2024” เป็นเวทีสำคัญระดับประเทศ ที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศ ได้นำเสนอผลงานวิจัย ความก้าวหน้าของงานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรมพร้อมใช้ประโยชน์ ทั้งในภาคการประชุมและภาคนิทรรศการเป็นประจำทุกปี สำหรับในปีนี้ มีการนำเสนอผลสำเร็จของการวิจัยและนวัตกรรม มากกว่า 1,000 ผลงาน และการสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศ

สำหรับผลงานวิจัยและนวัตกรรมเด่นด้านการเกษตรที่น่าสนใจในปีนี้ ได้แก่

1. ผลงาน : ขยะสร้างมูลค่า (Waste to Wise) โดย มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ที่มุ่งศึกษาวิจัยการนำขยะประเภทต่างๆ มาเปลี่ยนให้เป็นพลังงาน วัสดุ และผลิตภัณฑ์ เพื่อให้เกิดมูลค่า รักษาสภาพแวดล้อม และสร้างสมดุลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ด้วยกระบวนการจัดการทางเทคโนโลยี เช่น การสร้างมูลค่าจากขยะวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร โดยพัฒนาเป็น 1) ถ่านชีวภาพตัดแปลงด้วยจุลินทรีย์ เพื่อเป็นวัสดุปรับปรุงดินและส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช ช่วยเพิ่มปริมาณผลผลิตผักร้อยละ 49.93 และลดต้นทุนการผลิตลงร้อยละ 45.03 2) ผลิตภัณฑ์ชีวภัณฑ์ส่งเสริมการเจริญเติบโตสำหรับพืชผักสวนครัว “หยิน-หยาง” กระตุ้นการยึดตัวและแบ่งเซลล์ของพืช และมีฤทธิ์ต้านทานเชื้อก่อโรครากเน่า ลดขั้นตอนการดูแล ลดต้นทุน โดยเพิ่มผลผลิตร้อยละ 35 และ 3) ผลิตภัณฑ์ชินโบโอติก “Bo-SynCao” เพื่อเสริมสร้างการอยู่รอดของแบคทีเรียโปรไบโอติก และรักษาสภาพของซินไบโอติกในภาวะไม่พึงประสงค์ในระบบทางเดินอาหาร สำหรับสินค้าอาหารสัตว์ เพื่อเพิ่มรายได้และลดต้นทุนให้เกษตรกร 3. การสร้างมูลค่าจากขยะของเสียในอุตสาหกรรม โดยการใช้จุลินทรีย์ในการสกัดโคโตซานจากเปลือกกุ้งด้วยกระบวนการทางชีวภาพทดแทนกระบวนการเดิมที่ใช้สารเคมี เพื่อช่วยรักษาสภาพแวดล้อม และลดการใช้สารเคมีอันตราย

2.ผลงาน : เห็ด 3H นวัตกรรมการผลิตและแปรรูปเห็ดนางฟ้า โดย มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ ที่นำเสนอนวัตกรรมการผลิตและแปรรูปผลิตภัณฑ์จากเห็ดนางฟ้าที่มีคุณภาพและปลอดสารพิษเพื่อยกระดับกระบวนการผลิตเห็ดนางฟ้าในโรงเรือนแบบควบคุมปัจจัยการผลิต ที่สามารถเพิ่มผลผลิตได้ 15% ลดระยะเวลาในการผลิต 14% เพิ่มระยะเวลาการเก็บรักษายาวนานขึ้น 300% นอกจากนี้ ยังสามารถผลิตเห็ดนอกฤดูกาลได้ ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น สร้างเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืงยืน

3. ผลงาน : การวิจัยเห็ดกินได้เชิงยา และอาหารแห่งอนาคต โดย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เนื่องจากเห็ดกินได้เชิงยา มีมูลค่าทางโภชนาการสูง มีสารออกฤทธิ์เชิงยา ใช้ประกอบอาหารหรือสกัดสารที่มีมูลค่าสูงในรูปแบบผลิตภัณฑ์เชิงสุขภาพและเครื่องสำอางได้ ดังนั้น ทีมนักวิจัยจึงได้ร่วมกับภาคเอกชนดำเนินการศึกษาเห็ดเชิงยา โดยใช้เทคโนโลยีพลาสมา การสกัดและการแปรรูปอาหารเพื่อเพิ่มผลผลิตของเห็ดที่เพาะเลี้ยงแบบอินทรีย์ การสกัดสารออกฤทธิ์เชิงยา และการพัฒนาผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง ให้กับวิสาหกิจชุมชน

Advertisement

4. ผลงาน : “การพัฒนาระบบการปลูกเลี้ยงไม้ดอกไม้ประดับในระบบเกษตรปลอดภัยเพื่อการบริโภค” โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) โดยมุ่งเป้าพัฒนากระบวนการผลิตไม้ดอกไม้ประดับที่สร้างมูลค่าเพิ่มจากดอกไม้ที่ได้มาตรฐานการปลูกเลี้ยงในระบบเกษตรปลอดภัย (GAP) สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับกลุ่มเกษตรกรไม้ดอกไม้ประดับ สามารถนำผลผลิตมารับประทาน สร้างมูลค่าเพิ่มโดยการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องดื่ม และเครื่องสำอาง นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างองค์ความรู้ความเข้าใจถึงคุณค่าและประโยชน์ของไม้ดอกไม้ประดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานประกอบการโรงแรม ร้านอาหารและเครื่องดื่มให้นำดอกไม้มาเพิ่มมูลค่าเป็นผลิตภัณฑ์ชาดอกไม้ อาหารและเครื่องดื่ม ตามสมัยนิยมของกลุ่มคนรักสุขภาพ ผลจากการดำเนินงานได้นำเทคโนโลยี และองค์ความรู้ด้านไม้ดอกไม้ประดับมาถ่ายทอดสู่เกษตรกรและผู้ประกอบการ เพื่อการสร้างงาน สร้างอาชีพ ให้กับชุมชนอย่างมั่นคงและยั่งยืน

5. ผลงาน : การพัฒนาและเพิ่มมูลค่าไม้ดอกเขตร้อนในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย โดย มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่นำไม้ดอกภาคเหนือมาส่งเสริมปลูกสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย หวังสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ รวมทั้งนำองค์ความรู้ที่ได้จากการวิจัยถ่ายทอดสู่เกษตรกรหรือผู้ที่เกี่ยวข้องให้เกิดการเรียนรู้การใช้ประโยชน์จากไม้ดอกที่สามารถปลูกได้ในพื้นที่ภาคใต้ ปรากฏว่า โครงการนี้ ทำได้จริง สามารถสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกดอกไม้เขตร้อนในพื้นที่ภาคใต้ ตั้งแต่หลักหมื่นถึงหลักล้าน และมีโอกาสขยายตลาดส่งออกไม้ดอกดังกล่าวไปสู่ประเทศมาเลเซียในอนาคต

Advertisement

6. ผลงาน : นวัตกรรมการเลี้ยงด้วงสาคู เพื่อเพิ่มผลิตภัณฑ์อาหารแมลงของประเทศ โดย มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ทีมนักวิจัยมุ่งพัฒนานวัตกรรมการเลี้ยงด้วงสาคูเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันทางเศรษฐกิจ ผลิตภัณฑ์อาหารแมลงของประเทศ ตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่ระบบ การเลี้ยงด้วงสาคูกึ่งอัตโนมัติ อาหารสำเร็รูปสำหรับหนอนด้วงและตัวเต็มวัย การจัดการของเสียจากการเลี้ยงด้วงสาคู การพัฒนาผลิตภัณฑ์ จากหนอนด้วงสาคูเพื่อจัดจำหน่าย

7. ผลงาน : ผลิตภัณฑ์ทุเรียนแช่เยือกเพื่อการส่งออก ของสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีแสงซินโครตรอน พัฒนากระบวนการแช่เยือกแข็ง (Cryogenic Freezing) ร่วมกับสารละลายไครโอโพรเทกแทนต์ (Cryoprotectant) ซึ่งผลิตภัณฑ์ทุเรียนแช่เยือกแข็งที่อายุการเก็บรักษานาน 12 เดือน มีคุณภาพไม่แตกต่างจากทุเรียนสดใหม่ นวัตกรรมนี้ สามารถผลิตทุเรียนสดนอกฤดูกาลได้ตลอดทั้งปี และช่วยเหลือชุมชนในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลผลิตทางการเกษตรได้อย่างยั่งยืน

ดร.ศิริวรรณ ณะวงษ์

8. ผลงาน :  สตรอเบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 89 โดย รศ.ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท มหาวิทยาลัยนเรศวร สำหรับผลงาน สตรอเบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 89 ถูกปรับปรุงพันธุ์ขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 2557-2563 เป็นพันธุ์ที่มีศักยภาพในการผลิตแอนโทไซยานิน โดยเป็นโครงการความร่วมมือทางวิชาการระหว่างมูลนิธิโครงการหลวงและมหาวิทยาลัยนเรศวร แต่ประสบปัญหาการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวเพื่อยืดอายุการเก็บรักษา เนื่องจากผิวผลสตรอเบอร์รีมีลักษณะบอบบาง บอบช้ำ เสียหายง่ายทั้งในขณะเก็บเกี่ยวและระหว่างการขนส่ง ส่งผลให้มีอายุการเก็บรักษาสั้น

นักวิจัยจึงได้ศึกษาวิธีการยืดอายุการเก็บรักษา ผลการทดลองพบว่า การฉีดพ่นสารไคโตซานที่ความเข้มข้น 1.0-2.0% และเมทิลจัสโมเนทที่ความเข้มข้น 100 UM พัฒนาคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยวด้านสีแดงของผิว และเพิ่มปริมาณแอนโทไซยานินทั้งหมดในผลสตรอเบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 80 และ 89 ได้สำเร็จ การเคลือบผลด้วยไคโตซาน ที่ความเข้มข้น 1-2% สามารถชะลอระยะการสุกแก่ได้นาน 6 วัน ที่อุณหภูมิ 5 องศาเซลเชียส ลดการสูญเสียน้ำหนัก ชะลอการพัฒนาสีผิว และยังพบว่าการจุ่มด้วยเมทิลจัสโมเนท ที่ความเข้มข้น 100 UM จะชักนำการพัฒนาสีผิวได้ดีโดยเฉพาะค่าสีแดงในระหว่างเก็บรักษา

นอกจากนี้ การใช้บรรจุภัณฑ์ดัดแปลงสภาพบรรยากาศสามารถยืดอายุได้ โดยมีอายุเก็บรักษาได้นานกว่า 9 วัน ในระหว่ามก็บรักษาที่อุณหภูมิ 5 องศาเซลเซียส สามารถลดการสูญเสียน้ำหนักได้ตลอดเวลาเก็บรักษา ชะลอการอ่อนนุ่มผล การผลิตสตรอเบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 89 ให้ผลผลิตจำนวนเป็นที่ต้องการของตลาดสูง จึงสามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรใต้มากขึ้นประมาณ 57,000 บาทต่อไร่

ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถเยี่ยมผลงานวิจัยและนวัตกรรมดังกล่าวได้ภายในงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567 Thailand Research Expo 2024” ได้ตั้งแต่วันนี้ ไปจนถึงวันที่ 30 สิงหาคม 2567 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอก คอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์