ไบโอเทค สวทช. ร่วมกับพันธมิตร นำองค์ความรู้ทางชีวภาพ หนุนเสริมพื้นที่ผาแดง จ.ตาก เพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูความหลากหลายทางธรรมชาติ

ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมมือกับโครงการส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดตาก และพันธมิตรหลายภาคส่วน จัดกิจกรรม “KIT CAMP 2024” และ “ก็มาดิ… CRAFT” ภายใต้การดำเนินงานโครงการ “การอนุรักษ์ฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพและเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากของชุมชนในพื้นที่เหมืองผาแดง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดตาก ตามโมเดลการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG” ระหว่างวันที่ 22-25 สิงหาคม 2567 ณ โครงการส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดตาก และโรบินสันแม่สอด

โดยไบโอเทคได้ร่วมจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่องกิจกรรมสำรวจเก็บตัวอย่างและศึกษาเห็ดและราทำลายแมลงจากธรรมชาติ การส่งเสริมและประชาสัมพันธ์การใช้ชีวภัณฑ์ควบคุมโรคและแมลงศัตรูพืชในพื้นที่ และสาธิตการทำไมซีเลี่ยมรูปหัวใจสำหรับฟื้นฟูป่าธรรมชาติและอิฐชีวภาพรักษ์โลกจากเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรและกากกาแฟจากพื้นที่ โดยพิธีเปิดงานมี ดร.ธเนศ มณีกุล ผู้อำนวยการกลุ่มประสานงานพื้นที่ 32 สำนักงาน กปร. เป็นประธานในพิธี ร่วมด้วย นายกานดิษฏ์ สิงหากัน ผู้อำนวยการส่วนยุทธศาสตร์และแผนงานตามแนวพระราชดำริ สำนักโครงการพระราชดำริและกิจการพิเศษ กรมป่าไม้ และ ดร.สิทธิโชค ตั้งภัสสรเรือง รักษาการรองผู้อำนวยการไบโอเทค สวทช. พร้อมด้วยคณะครูและนักเรียน ผู้แทนจากหน่วยงานรอบพื้นที่ เข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง

ดร.สิทธิโชค กล่าวว่า ไบโอเทค สวทช. ได้ร่วมกับพันธมิตรหลายภาคส่วน จัดทำกิจกรรม วิจัยสำรวจความหลากหลายทางธรรมชาติในพื้นที่เพื่อการฟื้นฟูให้มีความสมบูรณ์ขึ้น ภายใต้โครงการ “การอนุรักษ์ฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพและเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากของชุมชนในพื้นที่เหมืองผาแดง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดตาก ตามโมเดลการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG”

ซึ่งประกอบด้วยกิจกรรมหลายส่วน ตั้งแต่การสำรวจสร้างคลังข้อมูลเห็ดกินได้ การใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์ การผลิตอิฐชีวภาพ หมักกาแฟ ผลิตไซเดอร์ การใช้จุลินทรีย์สร้าง seed ball เร่งการงอกของเมล็ด การศึกษาจุลินทรีย์ก่อโรคพืชและแมลงศัตรูพืช การใช้จุลินทรีย์เพื่อควบคุมโรคพืชและแมลง รวมถึงการแนะนำพันธุ์พืชมะเขือเทศที่ดีให้กับเกษตรกรในพื้นที่ และอีกกิจกรรมที่ไบโอเทคให้ความสำคัญมากคือ การพัฒนาบุคลากร โดยเฉพาะน้องๆ นักเรียนและเยาวชนในพื้นที่จังหวัดตาก ให้มีความตระหนักรู้ในความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งก่อให้เกิดความร่วมมือกับเครือข่ายในพื้นที่ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา และภาคสังคม ในการจัดกิจกรรม “KIT CAMP 2024” และ “ก็มาดิ… CRAFT” ไม่ว่าจะเป็นกรมป่าไม้ สำนักงาน กปร. หอการค้าและ YEC จังหวัดตาก ททท.สำนักงานตาก บริษัท แม่สอดพลังงานสะอาด จำกัด ห้างสรรพสินค้าโรบินสัน มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร แม่สอด วิทยาลัยชุมชนจังหวัดตาก สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน เป็นต้น

Advertisement

สำหรับกิจกรรมที่ไบโอเทคนำมาร่วมอบรมและถ่ายทอดความรู้ให้แก่น้องๆ นักเรียนในพื้นที่ครั้งนี้ ประกอบด้วย 4 โครงการย่อย ได้แก่ 1. การสร้างคลังข้อมูลเห็ดราในพื้นที่และรอบๆ ผาแดง 2. การสร้างคลังข้อมูลราทำลายแมลงเพื่อสนับสนุนองค์ความรู้ 3. การทำอิฐชีวภาพรักษ์โลกจากเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรและกากกาแฟจากพื้นที่ และ 4. การเรียนรู้การจัดการโรคและแมลงด้วยชีวภัณฑ์ เพื่อประโยชน์กับเกษตรในพื้นที่และเครือข่ายชุมชน

Advertisement

ดร.สายัณห์ สมฤทธิ์ผล นักวิจัย ทีมวิจัยปฏิสัมพันธ์ของจุลินทรีย์ทางการเกษตร ไบโอเทค สวทช. กล่าวถึงการสำรวจเห็ดในพื้นที่ว่า เห็ดมีส่วนร่วมในระบบนิเวศโดยช่วยฟื้นฟูป่าหลายประการ เห็ดหลายชนิดมีคุณสมบัติในการย่อยสลายซากพืช เพื่อปลดปล่อยธาตุอาหารกลับคืนสู่ผืนป่า เห็ดบางชนิดอยู่ร่วมแบบพึ่งพาอาศัยกับรากพืช ช่วยสนับสนุนการเจริญเติบโตของต้นไม้ โดยทีมวิจัยได้นำเอาองค์ความรู้เรื่องเทคโนโลยีและการปรับปรุงพันธุ์มาใช้ เช่น การปรับปรุงพันธุ์เห็ด โดยนำสายพันธุ์ดั้งเดิมจากที่นี่ไปปรับปรุงพันธุ์เพื่อให้ได้พันธุ์ที่ดีขึ้นในลักษณะต่างๆ

โดยเฉพาะเห็ดที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ เช่น ปรับปรุงพันธุ์ให้มีคุณสมบัติเหมาะสมกับที่ตลาดต้องการ มีดอกขนาดใหญ่ขึ้น คุณสมบัติทางโภชนาการดีขึ้น หรือเห็ดที่อยู่ร่วมกับรากพืช มีการศึกษาชนิดเห็ดที่จะอยู่ร่วมกันอย่างเหมาะสมกับต้นพืช และพยายามที่จะนำเห็ดชนิดนี้ใส่เข้าไปที่รากพืชเพื่อให้พืชเจริญเติบโต และสามารถฟื้นฟูป่าได้ ถ้าเรามีพันธุ์เห็ดที่ดี ชาวบ้านจะมีผลผลิตเห็ดที่ดี สามารถขายได้ โดยทีมวิจัยได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ต่างๆ ในด้านวิทยาศาสตร์ให้กับประชาชนและเด็กๆ ในพื้นที่ รวมถึงเจ้าหน้าที่ป่าไม้ เพื่อให้มีความรู้ในเชิงวิทยาศาสตร์ มีความเข้าใจในทรัพยากรที่มี ซึ่งเป็นจุดสำคัญที่เขาจะช่วยกันปกปักรักษาป่าผืนนี้ให้มีความสมบูรณ์ต่อไป

นางสุชาดา มงคลสัมฤทธิ์ นักวิจัย ทีมวิจัยปฏิสัมพันธ์ของจุลินทรีย์ทางการเกษตร ไบโอเทค สวทช. กล่าวถึงกิจกรรมสำรวจราแมลงว่า ต้องการสำรวจราแมลงในพื้นที่เพื่อศึกษาถึงความหลากหลายของตัวอย่างราแมลง หลังจากที่สำรวจและจัดจำแนกชนิดของราแมลงแล้ว จะนำไปสร้างคลังข้อมูลความหลากหลายของราแมลงในพื้นที่ น้องๆ หลายคนอาจจะยังไม่เคยรู้จักราแมลงมาก่อน หลังจากน้องๆ ได้มาร่วมกิจกรรมสำรวจราแมลงกับพี่นักวิจัย จะได้เรียนรู้วิธีการสำรวจหาราแมลงในป่า ได้รู้จักชนิดของราแมลง โดยราแมลงในพื้นที่ผาแดงส่วนใหญ่มักจะพบเจอตามเศษซากไม้ใบทับถม กิจกรรมครั้งนี้นับเป็นการเปิดโอกาสให้ได้เรียนรู้เกี่ยวกับความหลากหลายของราแมลงและการนำราแมลงไปใช้ประโยชน์ เช่น บิวเวอเรีย และเมตาไรเซียม สามารถพัฒนาเป็นชีวภัณฑ์ควบคุมแมลงศัตรูพืชได้

ด้าน นางสาวเชษฐ์ธิดา ศรีสุขสาม ผู้ช่วยวิจัย ทีมวิจัยเทคโนโลยีการควบคุมทางชีวภาพ ไบโอเทค สวทช. กล่าวถึงกิจกรรมการเรียนรู้การจัดการโรคและแมลงด้วยชีวภัณฑ์ว่า กิจกรรม KIT CAMP เราได้นำความรู้เรื่องเกษตรปลอดภัยโดยอาศัยจุลินทรีย์กำจัดแมลงมาให้กับน้องๆ เพื่อให้เยาวชนเหล่านี้ต่อยอดและนำกลับไปบอกกับที่บ้านได้ว่า จะทำการเกษตรอย่างไรที่ไม่ต้องใช้สารเคมีหรือใช้น้อยลง ซึ่งการจะใช้ชีวภัณฑ์ให้ได้ผล อย่างแรกคือต้องวินิจฉัยเป็น โรคร้าย แมลงดี แมลงร้าย เพราะแมลงมีหลายชนิด ตัวไหนดีต้องเก็บไว้ ตัวไหนร้ายต้องรีบควบคุม รวมถึงยังได้นำชีวภัณฑ์มาให้น้องๆ รู้จักด้วย ซึ่งการใช้งานต้องใช้ให้ถูกต้อง เก็บให้ถูก ไม่ใช้ตอนฝนตก และตอนร้อน และใช้ให้ตรงโรค ซึ่งเราคาดหวังว่า น้องๆ จะได้รับความรู้ มีแรงบันดาลใจนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน ได้เข้าใกล้วิทยาศาสตร์มากขึ้น และนำเอาไปทำโครงงานวิทยาศาสตร์ได้ด้วย

ปิดท้ายด้วย ดร.นัฐวุฒิ บุญยืน นักวิจัย ทีมวิจัยปฏิสัมพันธ์ของจุลินทรีย์ทางการเกษตร ไบโอเทค สวทช. กล่าวถึงกิจกรรมการทำหัวใจไมซีเลี่ยมสำหรับปลูกป่าลด carbon footprint และทำอิฐชีวภาพว่า กิจกรรมสาธิตและอบรมการทำหัวใจ BCG Nature Heart (Mycelium-Based Composite) และอิฐชีวภาพ (biobrick) เป็นกิจกรรมเพื่อพัฒนาและยกระดับผลิตภัณฑ์จากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรโดยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เชื่อมโยงข้อมูลด้านจุลินทรีย์และเห็ดรานำไปส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากของชุมชนและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในพื้นที่ในโครงการ และพื้นที่ชุมชนโดยรอบและพื้นที่ภายใต้ความร่วมมือ โดยได้ให้น้องๆ ได้ทำไมซีเลี่ยมรูปหัวใจสำหรับฟื้นฟูป่าธรรมชาติ และอิฐชีวภาพรักษ์โลกจากเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรและกากกาแฟจากพื้นที่ และร่วมกันปลูกป่าจากหัวใจไมซีเลี่ยมที่น้องๆ ทำขึ้นเองด้วย