บริติช เคานซิล สนับสนุนผู้หญิงไทยสู่เส้นทางอาชีพสาย STEM มุ่งยกระดับความเท่าเทียม เสมอภาคในสังคมโลกอย่างยั่งยืน

ด้วยพัฒนาการทางเทคโนโลยีที่มีบทบาทอย่างยิ่งต่อชีวิตประจำวันของผู้คน ส่งผลให้การศึกษาในสาขา STEM ซึ่งประกอบด้วยสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ กลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืนและครอบคลุม การเข้าถึงและการมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมกันของผู้คนทั่วโลกในสาขาอาชีพสาย STEM จึงเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ในปี 2030 ของสหประชาชาติ แม้กระนั้น เส้นทางการบรรลุเป้าหมายดังกล่าวยังคงมีความท้าทาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเป้าหมายข้อ 4 ประเด็นการส่งเสริมให้ทุกคนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมกันและส่งเสริมโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต และเป้าหมายข้อ 5 ประเด็นการบรรลุความเท่าเทียมทางเพศและเสริมสร้างศักยภาพให้กับผู้หญิงและเด็กหญิงทุกคน

จากรายงานของธนาคารโลกในปี 2020 แม้ว่าผู้หญิงจะมีอัตราการสำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่สูงกว่าผู้ชาย แต่ผู้หญิงมีโอกาสน้อยกว่าที่จะศึกษาต่อในสาขา STEM โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาวิศวกรรมศาสตร์ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) และฟิสิกส์ ส่งผลให้ทั่วโลกมีสัดส่วนผู้หญิงในสายงาน STEM น้อยกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่มีรายได้สูง ซึ่งขัดแย้งกับความคาดหวังที่ว่าประเทศที่พัฒนาแล้วจะมีความเท่าเทียมทางเพศมากกว่า

ข้อมูลจากองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ระบุว่า ปัจจุบันมีนักวิจัยทั่วโลกที่เป็นผู้หญิงน้อยกว่า 30% และมีนักศึกษาหญิงเพียง 30% ที่เลือกศึกษาต่อในสาขา STEM สะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำที่ยังคงมีอยู่ อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีบางประเทศ เช่น เมียนมา อาเซอร์ไบจาน ไทย และจอร์เจีย ซึ่งมีจำนวนนักวิจัยหญิงในสัดส่วนที่สูง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าความพยายามในการลดช่องว่างทางเพศในสายงาน STEM นั้นสามารถเกิดขึ้นได้จริง

สำหรับประเทศไทย สัดส่วนผู้หญิงในสายงาน STEM นับว่าอยู่ในระดับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก โดยข้อมูลจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ระบุว่า บุคลากรในสายงาน STEM ประกอบด้วยผู้หญิงในสัดส่วนเฉลี่ยถึง 45% โดยแบ่งเป็นนักวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 52% นักวิจัยด้านวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี 48% นักวิจัยด้านวิทยาศาสตร์การเกษตร 47% และนักวิจัยด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุข 51% ตัวเลขดังกล่าวชี้ให้เห็นถึงความก้าวหน้าของประเทศไทยในการส่งเสริมให้ผู้หญิงเข้ามามีส่วนร่วมในสายงาน STEM อย่างไรก็ตาม ทั่วโลกยังคงต้องร่วมมือกันเพื่อลดช่องว่างความไม่เท่าเทียมทางเพศ และสนับสนุนให้ผู้หญิงกล้าที่จะก้าวเข้าสู่สายอาชีพด้าน STEM มากขึ้น

ด้วยพันธกิจส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ บริติช เคานซิล มุ่งยกระดับบทบาทของผู้หญิงในสายงาน STEM ผ่านหลากหลายโครงการทั่วโลก เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและโอกาสให้กับผู้หญิงสู่การเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน

Advertisement
มร.แดนนี่ ไวท์เฮด ผู้อำนวยการ บริติช เคานซิล ประเทศไทย

มร.แดนนี่ ไวท์เฮด ผู้อำนวยการ บริติช เคานซิล ประเทศไทย กล่าวว่า “การส่งเสริมความเท่าเทียมและการสนับสนุนการศึกษาแก่ผู้หญิงเป็นหนึ่งในตัวแปรที่สำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เพราะความหลากหลายในที่ทำงานจะนำไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ที่เกิดจากมุมมอง และไอเดียที่หลากหลาย ซึ่งล้วนนำไปสู่ความก้าวหน้าทั้งในด้านวิทยาศาสตร์และในด้านเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ค่านิยมของความเท่าเทียม ความหลากหลาย และการรวมกลุ่ม เป็นหัวใจสำคัญที่สหราชอาณาจักร และบริติชเคานซิล ได้ให้ความสำคัญมาโดยตลอด และเราภูมิใจที่ได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรในประเทศไทยเพื่อจัดการกับความท้าทายที่สำคัญเหล่านี้”

หนึ่งในโครงการสำคัญที่ บริติช เคานซิล ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องคือ โครงการทุนการศึกษา Women in STEM ด้วยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำในสหราชอาณาจักร จัดขึ้นในปีนี้เป็นปีที่ 4 โดยมอบทุนให้กับนักศึกษาหญิงจากประเทศไทย ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อการเพิ่มพูนโอกาสทางการศึกษาและการวิจัยในสาขา STEM ให้กับผู้หญิง

Advertisement
ดร.อุรชา รักษ์ตานนท์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ กำกับดูแลฝ่ายความร่วมมือต่างประเทศ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

ดร.อุรชา รักษ์ตานนท์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ กำกับดูแลฝ่ายความร่วมมือต่างประเทศ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) หนึ่งในพันธมิตรหลักของบริติช เคานซิล ในการจัดโครงการทุนการศึกษา Women in STEM ในปีนี้ กล่าวว่า “ปัจจุบัน จำนวนผู้หญิงในสายอาชีพ STEM ทั่วโลกยังมีค่อนข้างน้อย จากข้อมูลของรายงาน Cracking the code: girls’ education in STEM โดยยูเนสโก้ในปี 2017 เผยว่า มีผู้หญิงเพียง 17 คนทั่วโลกที่ได้รับรางวัลโนเบลในสาขาฟิสิกส์ เคมี หรือการแพทย์ ในขณะที่ผู้ชายมีถึง 572 คน และในบรรดานักวิจัย มีเพียง 30% ที่เป็นผู้หญิง ฉะนั้นการสนับสนุนผู้หญิงให้มีการศึกษาในสาย STEM มากขึ้นจึงเป็นการเสริมสร้างความหลากหลาย และย่อมมีผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอนาคต”

สำหรับในปี 2567 นี้ มีนักศึกษาไทยได้รับทุนการศึกษา Women in STEM เพื่อศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยชั้นนำในสหราชอาณาจักรจำนวน 3 ทุน จากสองโครงการ คือ โครงการทุน ASEAN-UK SAGE (Supporting the Advancement of Girls’ Education) และทุน British Council Women in STEM โดยทั้งสองโครงการมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเพศในการเข้าถึงการศึกษาในสาขา STEM

โครงการ ASEAN-UK SAGE เป็นโครงการด้านการศึกษาหลักของสหราชอาณาจักรในอาเซียน มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาผลลัพธ์การเรียนรู้ขั้นพื้นฐานด้านการอ่านออกเขียนได้และการคำนวณ สนับสนุนเยาวชนหญิงและกลุ่มชายขอบให้เข้าถึงการศึกษา และก้าวข้ามอุปสรรคในการพัฒนาทักษะดิจิทัลและโอกาสในการทำงาน เพื่อเสริมศักยภาพให้กับเยาวชนหญิงได้เติบโตอย่างเต็มศักยภาพ เปิดรับสมัครนักศึกษาหญิงจากประเทศสมาชิกอาเซียนทั้งหมด ได้แก่ บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม รวมถึงติมอร์-เลสเต

ขณะที่ทุน British Council Women in STEM เป็นการมอบทุนการศึกษามากกว่า 100 ทุนทั่วโลก เพื่อการศึกษาปริญญาโทหรือ Early Academic Fellowship จากมหาวิทยาลัยในสหราชอาณาจักร และต่อยอดโอกาสพัฒนาอาชีพในสาขา STEM ต่อไป เปิดรับสมัครนักศึกษาหญิงจากเอเชียใต้ เอเชียตะวันออก ยุโรป และอเมริกา

ปุณณภา ยศวริศ ซึ่งได้รับทุน ASEAN-UK SAGE เพื่อศึกษาต่อระดับปริญญาโท

ปุณณภา ยศวริศ ซึ่งได้รับทุน ASEAN-UK SAGE เพื่อศึกษาต่อระดับปริญญาโทในหลักสูตร MSc Climate Change, Management and Finance มหาวิทยาลัยอิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอน กล่าวว่า “ทุนการศึกษานี้เปรียบเสมือนประตูสู่โอกาสสำคัญในชีวิต เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างอาชีพในสายงาน STEM สำหรับดิฉัน ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต้องการนวัตกรรมที่ผสานองค์ความรู้ทั้งทางวิทยาศาสตร์และธุรกิจเข้าด้วยกัน จึงเลือกเรียนต่อปริญญาโทสาขา Climate Change, Management and Finance ด้วยเหตุผลหลักๆ 3 ประการ นั่นคือ เป็นหลักสูตรแบบสหวิทยาการ ผสานความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ภูมิอากาศและรากฐานทางธุรกิจ ช่วยให้เกิดความเข้าใจอย่างรอบด้าน เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมที่นำไปใช้ได้จริงในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความร่วมมือกับ Grantham Institute ซึ่งเป็นสถาบันชั้นนำด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เปิดโอกาสให้เรียนรู้จากนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียว และสามารถต่อยอดสู่เส้นทางอาชีพที่ปรึกษาด้านความยั่งยืน สอดคล้องกับความสนใจและเป้าหมายในการทำงาน รวมถึงความมุ่งมั่นที่จะมีส่วนร่วมในการจัดการกับความท้าทายด้านสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย”

ธันย์ชนก นวลพลกรัง
ทิพย์วิมล จุลหาญกิจ

สำหรับผู้ที่ได้รับทุน British Council Women in STEM ในปีนี้ คือ ธันย์ชนก นวลพลกรัง ซึ่งจะไปศึกษาต่อในสาขา MSc Biotechnology (Healthcare Biotechnologies) มหาวิทยาลัยบาธ และ ทิพย์วิมล จุลหาญกิจ ศึกษาต่อในสาขา MSc Biotechnology (Healthcare Biotechnologies) มหาวิทยาลัยบาธ