เผยแพร่ |
---|
นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่าได้รับมอบหมายจากร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำคณะนักวิชาการนักวิจัยของกรมไปหารือกับกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา(USDA) เพื่อสร้างความร่วมมือทั้งด้านวิจัยและการกำกับดูแลเพื่อขับเคลื่อนเทคโนโลยีการปรับปรุงพันธุ์พืชใหม่(New Breeding Technology – NBT)โดยเฉพาะการปรับแต่งจีโนม(Genome Editing, GEd) เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ทางการเกษตรระหว่างวันที่ 24-29 สิงหาคม 2567 ซึ่งพืชเศรษฐกิจพืชอาหารหลายตัวต้องพัฒนาให้มีผลผลิตต่อไร่สูงขึ้นทนแล้ง ป้องกันโรค-แมลงศัตรูพืชเพื่อรองรับความมั่นคงด้านอาหารจากความภาวะโลกร้อนที่ส่งผลต่อการเพาะปลูกทางการเกษตร
โดยเทคโนโลยีนี้องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ(FAO)และองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา(OECD)ให้การยอมรับว่ามีความปลอดภัยและไม่ใช่พืชGMO หลายประเทศเช่น สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่นจึงมีการพัฒนาด้านนี้ต่อเนื่อง ล่าสุดกรมวิชาการเกษตร(กวก.)ได้ออกประกาศเมื่อ 9 ส.ค.67 เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการรับรองพืชที่พัฒนาจากเทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนม พ.ศ. 2567รองรับการพัฒนาขับเคลื่อนและกำกับดูแลเทคโนโลยีนี้
“ รมว.เกษตรฯ ต้องการผลักดันให้นโยบายนี้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว ดังนั้นภายในต้นปีหน้าจะมีการนำร่องในพืชเศรษฐกิจที่สำคัญเช่นการพัฒนาถั่วเหลืองที่ให้ไขมันดีสูงทนแล้งและข้าวโพดทนแล้ง หรือพัฒนาให้พืชมีสรรพคุณด้านโภชนาการสูงขึ้นเป็นต้น ซึ่งการหารือกับUSDAครั้งนี้จึงได้ทำแผนขับเคลื่อนงานร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรมเช่นด้านการกำกับดูแลได้มีแผนความร่วมมือกับหน่วยงานตรวจสอบสุขภาพสัตว์และพืช(บริการตรวจสุขภาพสัตว์และพืช:APHIS)ของUSDA โดยร่วมกับDr. Bernadette Juarez, Deputy Administrator,APHIS-Biotechnology Regulatory Services และภาคเอกชน ด้านการขับเคลื่อนประเมินตามแนวทางการพิจารณาพืชที่พัฒนาจากเทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนมตามประกาศกวก.นำร่องต้นปี 68 นอกจากนั้นกวก.จะร่วมกับUSDAและภาคีเครือข่ายจัดประชุมเชิงปฏิบัติการPlant Breeding Innovation for sustainable Agriculture and Agro-economic Developments วันที่ 3-4 กันยายน 2567 ที่กรุงเทพฯเพื่อสร้างการรับรู้ร่วมกันและผลักดันการใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง”นายรพีภัทร์กล่าว
ประเด่นสำคัญในปี 2568กรมมีแผนปฏิบัติการร่วมกันด้านงานวิจัย เช่น ส่งนักวิชาการของ กวก. นำร่องขอรับทุนจาก 2 กองทุนคือ CochranและBorlaug Fellowship program เรียนรู้การปรับปรุงพันธุ์พืชด้วยเทคโนโลยี GEd กับหน่วยวิจัยในสหรัฐฯ ร่วมกับ Prof. Yiping Qi แห่ง มหาวิทยาลัยMaryland พัฒนาโครงการวิจัยร่วมกัน โดยขอรับการสนับสนุนงบวิจัยจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร(สวก.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรรม(สกสว.) รวมถึงประสานกับบริษัทเอกชน โดยกวก.จะนำร่องส่งนักวิจัยรุ่นใหม่ไปเรียนรู้เทคโนโลยีที่สหรัฐฯ
นอกจากนั้นจะพัฒนาความร่วมมือกับบริษัทเอกชนดำเนินการทดสอบในสภาพแปลงทดลอง ขับเคลื่อนการใช้เทคนิคการปรับปรุงพันธุ์พืชใหม่ (NBTs ) เพื่อยกระดับคุณภาพและผลผลิตเมล็ดพันธุ์ไทยสู่การเป็นศูนย์กลางเมล็ดพันธุ์พืชและพันธุ์พืชเขตร้อนของโลก รวมถึงยกระดับการออกใบรับรองสุขอนามัยพืช Phytosanitary Certificate (PC) ของไทยเข้าสู่ระบบดิจิทัลเพื่อกำกับดูแลการเคลื่อนย้ายเมล็ดพันธุ์ระหว่างประเทศ สร้างความเชื่อมั่นในระบบการตรวจสอบศัตรูพืชของไทยที่ชัดเจน รวดเร็ว ทันสถานการณ์ ในยุคที่มีการแข่งขันทางการค้าสูง และประสานความร่วมมือกับ Dr.Andrew Roberts จาก Agriculture and Food System Institute เพื่อพัฒนาแนวทางการใช้ CHATBot AI และสร้างการรับรู้ให้กับภาคส่วนต่างๆ ผ่านการสัมมนาและโซเชียลมีเดียเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องนี้ให้ได้มากที่สุด ซึ่งจะส่งผลต่อการขับเคลื่อนงานให้เป็นรูปธรรมออกมา
.