เผยแพร่ |
---|
ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหลังจากวิกฤตการณ์โควิด-19 ผ่านพ้นไป คือความตื่นรู้ถึงบทบาทการมีส่วนร่วมของประชาชนในด้านสุขภาพ โดยเฉพาะในระดับชุมชน ที่รับมือกับภัยสุขภาพได้เป็นอย่างดี ทั้งจากต้นทุนเดิมที่ตัวเองมี และ “นวัตกรรมทางสังคม” ที่คิดค้นขึ้นมาในช่วงที่กำลังเผชิญกับการระบาดของโรคร้าย
หนึ่งในปัจจัยความสำเร็จและนับเป็นจุดแข็งของหลายชุมชน โดยเฉพาะในพื้นที่เขตเมืองคือ “การจัดการข้อมูล” ไม่ว่าจะเป็นการรวบรวมรายชื่อ–จำนวนกลุ่มเสี่ยง/ผู้ติดเชื้อ ลิสต์รายการความต้องการของผู้ที่ต้องกักตัวอยู่ในบ้าน ผังชุมชนและครัวเรือน ไปจนถึงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อให้เท่าทันกับปริมาณการติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้น และการเชื่อมโยงข้อมูลจากชุมชนไปสู่หน่วยงานภายนอกเพื่อรับการสนับสนุนความช่วยเหลือ
แม้ปัจจุบันโควิด-19 จะคลี่คลายลง แต่สิ่งที่ต้องพัฒนาคือความพร้อมในการรับมือกับวิกฤตในปัจจุบันและอนาคต ดังนั้น ศักยภาพในการจัดการข้อมูลสุขภาพของชุมชน จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องมีการถอดบทเรียน ค้นหาความต้องการ และพัฒนานวัตกรรมเชิงระบบ โดยกระบวนการวิจัยและพัฒนาด้วยการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม
นี่คือหลักการสำคัญของโครงการวิจัย “ยกระดับศักยภาพการรับมือกับภาวะวิกฤตด้านสุขภาพปฐมภูมิ ด้วยนวัตกรรมการจัดการระบบสุขภาพปฐมภูมิโดยชุมชน : กรณีศึกษาชุมชนพื้นที่ กทม. และต่างจังหวัด” ที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) โดย นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เป็นหัวหน้าโครงการ ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากสถาบันวิจัยสาธารณสุข (สวรส.)
โครงการนี้ได้ถอดบทเรียนและปฏิบัติการพัฒนาต่อเนื่องร่วมกับชุมชนที่มีความเข้มแข็งในการรับมือกับวิกฤตโควิด-19 จำนวน 17 ชุมชนในพื้นที่เขตเมืองทั้งในกรุงเทพมหานคร (กทม.) และจังหวัดอื่นๆ โดยมีการวิเคราะห์ ออกแบบ และพัฒนาให้เกิดเป็นนวัตกรรมสังคม ที่เป็นนวัตกรรมเชิงระบบที่ชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของ “ระบบข้อมูลสุขภาพชุมชน” ที่จะช่วยสนับสนุนการยกระดับศักยภาพการจัดบริการสุขภาพปฐมภูมิโดยชุมชน จนนำไปสู่การเกิดขึ้นของ ระบบสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการจัดการระบบสุขภาพชุมชน” หรือ “Community Health Link (CHL)
สช. พัฒนาระบบ CHL ขึ้น เพื่อเป็นเครื่องมือในการจัดเก็บและจัดการข้อมูลสุขภาพของชุมชน รวมถึง การสำรวจชุมชน จำนวนหลังคาเรือน สำรวจประชากร ข้อมูลความต้องการด้านสุขภาพ ของชุมชนและของกลุ่มประชากร โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางในชุมชนเปราะบางต่างๆ เพื่อใช้ในการดูแลสุขภาพประชาชนที่ครอบคลุมทุกกลุ่มให้ได้มากที่สุด ทั้งในภาวะปกติและภาวะวิกฤต โดยมีการบูรณาการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับภาครัฐ
ระบบ CHL จะเก็บข้อมูลในพื้นที่ชุมชน โดยมีการประสานงานกับกระทรวงมหาดไทย (มท.) สำหรับการขอฐานรหัสชุมชน รวมไปถึงสร้างรหัสชุมชนขึ้นในระบบ ในกรณีที่ชุมชนนั้นยังไม่มีรหัส หรือจัดตั้งขึ้นใหม่ ขณะเดียวกันในส่วนของประชาชนผู้ที่ไม่มีหลักฐานแสดงตัวตน ก็จะมีการประสานงานกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำหรับการขอใช้ระบบกำหนดรหัสบุคคล 13 หลักชั่วคราวเพื่อการดูแลสุขภาพให้กับกลุ่มนี้
ภญ.เนตรนภิส สุชนวนิช ที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและข้อมูล สช. ในฐานะที่ปรึกษาการพัฒนาระบบ อธิบายว่า ที่ผ่านมาแต่ละชุมชนยังมีปัญหาเรื่องข้อมูล เช่น ขาดข้อมูลของประชากรแรงงานข้ามชาติที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย ขาดข้อมูลกลุ่มคนเปราะบาง เช่น ผู้พิการ ผู้สูงอายุ เหล่านี้นำไปสู่การเข้าถึงบริการที่ไม่เท่าเทียมกัน ฉะนั้นชุมชนจึงต้องลงไปสำรวจเพิ่มเพื่อทำทะเบียนกลุ่มเปราะบางในพื้นที่ และนำมาบันทึกเข้าระบบที่ได้มีการพัฒนาขึ้น
“ข้อมูลการสำรวจกลุ่มเปราะบางของภาครัฐยังมีจุดอ่อน เพราะเขาจะเน้นที่ผู้อยู่อาศัยจริง และมีเลข 13 หลัก ซึ่งหากชุมชนสามารถเติมเต็มข้อมูลที่ตกหล่นเหล่านั้นให้กับภาครัฐได้ ก็จะยิ่งช่วยให้เกิดการจัดบริการที่ตรงตามความต้องการ ที่สำคัญก็คือ หากชุมชนได้รับทราบสถานการณ์จากข้อมูลที่มีการสำรวจ ก็จะทำให้เกิดการทำงานระหว่างชุมชน หน่วยบริการสาธารณสุขในพื้นที่ รวมถึงหน่วยงานภาครัฐ ที่เข้มแข็งขึ้น และทำงานเป็นเนื้อเดียวกันได้” ภญ.เนตรนภิส ระบุ
นอกจากการอุดรอยรั่วข้อมูลกลุ่มคนเปราะบางตกหล่นแล้ว การเก็บข้อมูลชุมชนยังนำไปสู่การแก้ปัญหาหรือทราบความต้องการของชุมชน เช่น การกำจัดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) การแก้ปัญหาการดื่มสุรา การสูบบุหรี่ ทั้งยังสามารถนำไปสู่การทำธรรมนูญสุขภาพของชุมชนเองได้อีกด้วย
“ถ้ารู้จักชุมชนดี เราจะสามารถป้องกันโรคที่สามารถป้องกันได้ ไม่ว่าจะเป็นเบาหวาน ความดัน แม้กระทั่งเรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งทั้งหมดเป็นการป้องกันก่อนป่วย ไม่ว่าจะเป็นป้องกันในเชิงวิถีชีวิตสิ่งแวดล้อม การศึกษา การให้องค์ความรู้ ทั้งหมดมาอยู่ที่เรื่องสุขภาพ สุขภาวะทั้งสิ้น” ภญ.เนตรนภิส ระบุ
ด้าน นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท หัวหน้ากลุ่มวิจัยสังคมและสุขภาพ (สวสส.) สำนักวิชาการสาธารณสุข สำนักงานปลัด กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าคณะนักวิจัยในโครงการ อธิบายเพิ่มเติมว่า ระบบ CHL นั้นออกแบบขึ้นเพื่อสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมเชิงระบบในการยกระดับศักยภาพชุมชนในการจัดบริการสุขภาพปฐมภูมิเพื่อรับมือความต้องการด้านสุขภาพและวิกฤตสุขภาพได้โดยชุมชนเอง จึงเป็นระบบข้อมูลสารสนเทศ ที่ประกอบไปด้วยหลายโมดูลเชื่อมโยงกัน โดยในปัจจุบันมีสองโมดูลหลักคือ CHL Drive ซึ่งเป็น Google Drive ที่แกนนำแต่ละชุมชนใช้สำหรับการร่วมกันจัดการข้อมูลของชุมชน และ CHL Web Application ซึ่งเป็น platform ที่สร้างขึ้นบนระบบ cloud ของภาครัฐเพื่อการร่วมจัดการและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างชุมชนกับหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งระบบ CHL ทั้งหมด ถูกออกแบบโครงสร้างและระบบการทำงานให้มีการดำเนินการอย่างถูกต้องทั้งตามมาตรฐานของธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ (data governance) และ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562
ทั้งนี้ ในส่วนของ CHL Drive ของ 17 ชุมชนในโครงการ ได้เริ่มมีการใช้เพื่อจัดเก็บข้อมูลจากการสำรวจชุมชนในรูปแบบต่างๆ ที่รวมถึงแผนที่ชุมชนและตารางข้อมูลคนในชุมชนมาระยะหนึ่งแล้ว แต่สำหรับ CHL Web Application นั้นเนื่องจากในการพัฒนาต้องมีการดำเนินการตามขั้นตอนมาตรฐานตามระเบียบของภาครัฐจึงเพิ่งจะพัฒนาสำเร็จและเริ่มลงข้อมูลจริงเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา จึงเริ่มมีการใช้งานเฉพาะในพื้นที่นำร่องคือ ชุมชนในเขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร ดังนั้น ภาพที่ชัดเจนของการใช้งานจึงจะปรากฏออกมาในช่วงระยะถัดไป
นพ.วิรุฬ บอกด้วยว่า ขณะนี้ระบบได้มีการเชื่อมโยงข้อมูลกับภาครัฐ โดยเบื้องต้นได้มีการเชื่อมโยงข้อมูลชุมชนกับ สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง (สนบท.) จึงทำให้ในระบบ CHL ตอนนี้มีข้อมูลชุมชนที่ สนบท. ปรับปรุงล่าสุด จำนวนประมาณ 1 หมื่นชุมชน ซึ่งเป็นชุมชนในพื้นที่ กทม. และเทศบาลทั่วประเทศ ที่มีรหัส “สำนักทะเบียน” 4 หลักของตัวเอง ข้อมูลชุมชนจาก สนบท. จึงมีข้อมูลรหัสชุมชน (Community ID) ที่เป็นมาตรฐานกลางของประเทศ ที่เป็นเลข 8 หลัก ประกอบด้วยรหัสสำนักทะเบียน 4 หลักตามด้วยเลขเรียงตามลำดับ (running number) อีก 4 หลัก
นพ.วิรุฬ อธิบายเพิ่มเติมว่า ด้วยระบบ CHL ออกแบบขึ้นเพื่อให้ กทม. และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) อื่นๆ สามารถบริหารจัดการระบบสุขภาพในท้องถิ่นและทำงานร่วมกับชุมชนในพื้นที่ได้ จึงได้พัฒนาฐานข้อมูลชุมชน CHL โดยใช้ระบบมาตรฐานที่สอดคล้องกับของ สนบท. คือ เป็นรหัส 8 หลักที่ 4 หลักแรกเป็นรหัสสำนักทะเบียนเช่นเดียวกัน แต่อีก 4 หลักจะนำด้วยตัวอักษร A และตามด้วยเลขเรียงตามลำดับ (running number) อีก 3 หลัก โดยในเบื้องต้น ได้ออกเลขรหัสชุมชน CHL ให้กับชุมชนที่มีอยู่ในฐานข้อมูลชุมชนของ สนบท. ทั้งหมด เมื่อมีการเพิ่มชุมชนในระบบ CHL ในพื้นที่ อปท. ใด ก็จะทำให้ฐานข้อมูลชุมชนเขตของ อปท. นั้นมีความสมบูรณ์และเป็นปัจจุบัน
“ระบบดังกล่าวต้องการให้ชุมชนที่ “ไม่ได้รับการจัดตั้ง” ตามระเบียบของท้องถิ่น และชุมชนประเภทอื่นๆ สามารถจดจัดตั้งเป็นชุมชนในระบบ เพื่อใช้ข้อมูลสำหรับการดูแลและประสานงานการจัดการสุขภาพได้ ยกตัวอย่างชุมชนในเขตคลองเตยในสี่สิบกว่าชุมชน มีชุมชนที่ไม่ได้จดจัดตั้งอยู่ด้วย รวมถึงในตอนนี้มีชุมชนที่เพิ่งจะมีการรวมตัวกันเนื่องจากได้รับผลกระทบจากการเวนคืนที่ดิน เราต้องการให้ชุมชนที่เกิดขึ้นใหม่ สามารถที่จะรวมตัวกันและขึ้นทะเบียนเป็นชุมชนในระบบได้ เพื่อให้การจัดระบบการดูแลสุขภาพให้กับคนในพื้นที่เปราะบางต่างๆ เกิดขึ้นได้อย่างทั่วถึง” นพ.วิรุฬ ระบุ
นอกจากนี้ ระบบ CHL ได้มีการเริ่มเชื่อมโยงข้อมูลบุคคลกับฐานข้อมูลกลางของภาครัฐ โดยผ่านแพลตฟอร์ม CHL Web Application ที่ทำให้ผู้ใช้งานระบบที่ได้รับการขึ้นทะเบียนและลงทะเบียนเข้าใช้งานอย่างถูกต้องผ่านระบบ ThaiID สามารถตรวจสอบข้อมูลที่เป็นปัจจุบันของบุคคลในชุมชนได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งต้องขอบคุณ สช. ที่ทำหน้าที่เป็นพื้นที่กลางที่ทำให้เกิดการเชื่อมโยงด้านข้อมูลกันได้ระหว่างภาครัฐและภาคประชาชน
ท้ายที่สุด นพ.วิรุฬ เสริมว่า การพัฒนาระบบ CHL นี้ เป็นการทำงานด้วยกระบวนทัศน์ที่ต่างไปของระบบข้อมูลสุขภาพ จากแบบรวมที่ศูนย์กลาง ไปเป็นแบบการกระจาย (de-centralized) ไปยังต้นทางคือที่ชุมชน ซึ่งมีข้อมูลที่ครอบคลุมและเป็นปัจจุบัน เป็นข้อมูลที่มีชีวิตชีวา อันนำมาสู่การจัดการด้านระบบสุขภาพ หรือการจัดการสวัสดิภาพของประชาชนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
“ในความเป็นจริง หน่วยงานในระดับพื้นที่และประเทศอยากจะสนับสนุนชุมชนอยู่แล้ว แต่เรายังไม่เคยมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันจริงๆ จากชุมชน เพราะเข้าไม่ถึง เมื่อมีระบบการทำงานนี้ขึ้นมา ทำให้เรารู้ความต้องการของชุมชนได้ดีขึ้น และสิ่งที่น่าสนใจคือ เมื่อเรามีข้อมูลจากพื้นที่ เราก็จะสามารถจัดสรรทรัพยากรได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะข้อมูลนี้จะเป็นตัวช่วยบอกเราได้ว่าควรจัดสรรอะไร ไปช่วยที่ไหน” นพ.วิรุฬ สรุป