โรคกรีนนิ่ง โรคร้ายในพืชตระกูลส้ม

     ย้อนกลับไปเมื่อราวๆ ปี พ.ศ. 2473 “โรคกรีนนิ่ง” แพร่ระบาดเป็นครั้งแรกในภาคเหนือตอนกลางของประเทศจีน ใบของต้นส้มเกิดมีลักษณะด่างและมีเส้นเหลืองบริเวณใบ ซึ่งในเวลาต่อมาจวบจนถึงปัจจุบันโรคกรีนนิ่งได้กลายเป็นโรคในพืชตระกูลส้มที่แพร่ระบาดไปกว่า 50 ประเทศทั่วโลก ซึ่งการระบาดของโรคกรีนนิ่งได้กลายเป็นวาระสำคัญและส่งผลกระทบกับอุตสาหกรรมส้มอย่างใหญ่หลวง จนเมื่อปี พ.ศ. 2556 องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้ออกประกาศว่าโรคกรีนนิ่งนั้นได้ทำลายต้นส้มทั่วโลกไปกว่า 100 ล้านต้น วันนี้เทคโนโลยีชาวบ้านชวนมาดูสถานการณ์ปัจจุบันของโรคกรีนนิ่งและการป้องกันในเบื้องต้น 

โรคกรีนนิ่งคืออะไร

“โรคกรีนนิ่ง” คือหนึ่งโรคยอดนิยมที่เกิดขึ้นในพืชตระกูลส้ม โดยมีลักษณะอาการสำคัญคือ ต้นส้มมีลักษณะใบเหลือง ซึ่งมีอาการที่คล้ายคลึงกับการขาดสารอาหารของต้นส้ม แต่โรคกรีนนิ่งสามารถสังเกตได้จากการที่ใบส้มนั้นมีสีเหลืองที่ไม่สม่ำเสมอกัน โดยเกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในท่ออาหาร ทำลายท่ออาหาร เมื่อท่ออาหารถูกทำลาย การลำเลียงอาหารจึงไม่สามารถทำได้ ทำให้ใบมีอาการเหลือง และมีแมลงเพลี้ยไก่แจ้เป็นพาหะนำโรคซึ่งใบที่ติดโรคนั้นจะหนากว่าปกติ เรียวยาว ใบมีขนาดเล็กลง และมีลักษณะชี้ขึ้น เมื่อต้นส้มติดโรคกรีนนิ่งหนักขึ้น กิ่งจะค่อยๆ แห้งตายและลุกลามไปทั่วทั้งต้น จนต้นส้มล้มตายในที่สุด 

การแพร่ระบาดในปัจจุบัน  

การแพร่ระบาดโรคกรีนนิ่งในประเทศไทยมักจะเกิดขึ้นในขั้นตอนการนำกิ่งตอนไปปลูก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกิ่งตอนที่ซื้อมาจากพ่อค้าคนกลางเนื่องจากกิ่งตอนที่ซื้อมาปลูกในสวนนั้นอาจติดโรคกรีนนิ่งมาตั้งแต่ต้น ซึ่งในระยะแรกเริ่มนั้นกิ่งตอนที่ติดโรคจะไม่แสดงออกมาทำให้ยากที่จะสังเกตเห็นอาการติดเชื้อของต้นส้ม นอกจากนี้ การแพร่ระบาดนั้นยังลุกลามผ่านแมลงจำพวกเพลี้ยกระโดดส้มซึ่งมักจะรับเชื้อจากต้นส้มที่ติดเชื้อกรีนนิ่งและนำเชื้อไปแพร่ในต้นที่แข็งแรง ทำให้เชื้อกรีนนิ่งนั้นกระจายตัวและลุกลามเป็นวงกว้าง 

Advertisement

การป้องกันโรคกรีนนิ่ง

Advertisement
  1. ควรตรวจสอบกิ่งตอนให้แน่ใจก่อนนำมาปลูกว่าไม่มีการติดเชื้อโรคกรีนนิ่ง โดยควรหลีกเลี่ยงการซื้อกิ่งตอนจากสวนในพื้นที่ที่มีประวัติการติดเชื้อกรีนนิ่ง 
  2. หมั่นสังเกตต้นส้มในช่วงระยะแตกใบอ่อน เนื่องจากแมลงที่เป็นพาหะนำโรค เช่น เพลี้ยไก่แจ้ มักจะเข้ามาแพร่เชื้อในระยะนี้ โดยหากพบว่าใบอ่อนมีแมลงเข้ามาป้วนเปี้ยนควรรีบฉีดยาป้องกัน ซึ่งนอกจากแมลงที่เป็นพาหะนำโรคกรีนนิ่งแล้ว ในระยะนี้ยังเป็นระยะที่ศัตรูพืชจะเริ่มรุกรานต้นส้ม จึงเป็นระยะที่ควรดูแลระมัดระวังต้นส้มจากโรคต่างๆ 
  3. ควรสังเกตและตัดกิ่งหรือต้นที่เป็นโรคทิ้งทันที ก่อนที่จะเกิดการระบาดไปยังต้นอื่นๆ
  4. การฉีดยาป้องกันโรคไม่อาจช่วยให้ต้นส้มหายจากโรคกรีนนิ่งได้ เว้นแต่จะติดโรคไม่มาก หลังจากตัดกิ่งที่เป็นโรคออกแล้ว แนะนำให้มีการฉีดยาป้องกันแมลงที่เป็นพาหะร่วมด้วย เพื่อไม่ให้ต้นกลับมาติดโรคอีก 
  5. ควรมีการปรึกษากับหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้อง ซึ่งให้บริการในการรับคำปรึกษาเรื่องการเกษตร หรือติดต่อนำตัวอย่าง ใบ กิ่ง ผล ราก หรือดินที่ปลูกส้มเพื่อตรวจสอบและรับคำแนะนำที่ถูกต้องและเหมาะสม 

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์., ลือชัย ศรีเงินยวง., ภานุพัฒน์ พุ่มพฤกษ์., ภค หว่านพืช., ภานุพัฒน์ พุ่มพฤกษ์., ชัชชล อัจนากิตติ., ธิติมา อุรพีพัฒนพงศ์., โคลล์ เดอ ลิมา ฮัทชิสัน., สิทธิโชค ชาวไร่เงิน., แคลร์ แชนเดลอร์., (2564). เชื้อดื้อยา : มานุษยวิทยาของยาต้านจุลชีพ. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).

วิเชียร กำจายภัย. (ม.ป.ป). โรคกรีนนิ่งของส้ม. วารสารพืชสวน กรมวิชาการเกษตร, 25-33

https://www.technologychaoban.com/agricultural-technology/article_109427#google_vignette