เผยแพร่ |
---|
Ted Fund อว.โชว์ “SAKU Cocktail น้ำสีมีฟอง เครื่องดื่มเพิ่มความซ่า” พร้อมไวน์สาคู-Sparking Wine ผลงานวิสาหกิจชุมชน KKNB นำอัตลักษณ์ต้นสาคูพัทลุงต่อยอดธุรกิจ
นายวันนี นนท์ศิริ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในฐานะรับผิดชอบกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Technology and Innovation-Based Enterprise Development Fund) หรือ TED Fund พร้อม น.ส.ทิพวัลย์ เวชชการัณย์ ผู้จัดการ Ted Fund ลงพื้นที่ที่วิสาหกิจชุมชน KKNB หมู่ที่ 11 โตนดด้วน อ.ควนขนุน จ.พัทลุง เพื่อติดตามภารกิจการพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ Ted Fund สนับสนุนผ่านทุนยุววิสาหกิจเริ่มต้น คือ SAKU Cocktail: น้ำสีมีฟอง เครื่องดื่มเพิ่มความซ่า ที่ดำเนินการโดยวิสาหกิจชุมชน KKNB โดยบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก มีการโชว์กระบวนการทำสาคู ซึ่งเป็นสารตั้งต้นในการนำไปผลิตไวน์ และ SAKU Cocktail ตั้งแต่กระบวนการตรนหรือขูดต้นสาคู จากนั้นนำไปสกัดแป้ง เสร็จแล้วนำไปร่อนทำเม็ดก่อนจะเข้าสู่กระบวนการหมักไวน์
นายกนกพล นาคะวิโรจน์ ตัวแทนจากวิสาหกิจชุมชน KKNB กล่าวว่า วิสาหกิจชุมชน KKNB เกิดจากโครงการ U2T ของกระทรวง อว. ในปี 2564 จากนั้นปี 2565 ได้จัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนขึ้นเพื่อทำไวน์สาคู โดยมองว่าแป้งสาคูเป็นอัตลักษณ์ที่แตกต่างจากแป้งชนิดอื่นๆ และเป็นที่รู้จักและนิยมอย่างแพร่หลาย ทั้งในพื้นที่และต่างจังหวัด แต่เนื่องด้วยผลิตภัณฑ์ไม่มีความหลากหลาย ตลอดจนมีการแข่งขันในตลาดที่สูง ทางกลุ่มจึงมีแนวคิดว่า สาคูเป็นได้มากกว่าขนมหวาน ไวน์สาคูจึงเกิดขึ้น โดยขอรับทุนสนับสนุนจาก Ted Fund ไวน์สาคูผ่านกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐานและได้รับใบอนุญาตผลิตจากสรรพสามิตแล้ว
“ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ 3 ชนิด คือ ไวน์สาคู ของ ต.ควนขนุน เป็นไวน์ขาวมีปริมาณน้ำตาล 70 มิลลิกรัมต่อลิตร แอลกอฮอล์ 9% ผ่านการหมักด้วยเชื้อยีสต์ โดยใช้เวลา 60 วัน ทำให้ได้ไวน์ขาวที่ดื่มง่าย มีกลิ่นหอมของแป้งหมักที่เป็นเอกลักษณ์ จากนั้นได้มีการต่อยอดผลิตภัณฑ์ไปเป็น Sparking Wine และ SAKU Cocktail โดยนำไวน์สาคูมาผสมกับน้ำผลไม้และสารสกัดจากฐานทรัพยากรในพื้นที่ จ.พัทลุง ได้แก่ สับปะรด สละ และข้าวสังข์หยด เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและเป็นผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ที่เน้นแอลกอฮอล์ต่ำ ดื่มง่าย สดชื่น และยังมีประโยชน์ที่เพิ่มเติมมาจากสารสกัดผลไม้และธัญพืชที่ใส่ลงไปในกระบวนการหมัก ซึ่งควบคุมคุณภาพด้วยระบบ IoT โดยในเดือน ธ.ค.67 นี้น่าจะได้รับอนุญาตให้จำหน่ายได้“ นายกนกพล กล่าว
นายวันนี นนท์ศิริ ผู้ช่วยปลัดอว. กล่าวว่า หน้าที่ของ Ted Fund คือทำให้ผู้ประกอบการรุ่นใหม่มีเครื่องมือและมีกลไกในการสร้างนวัตกรรม ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล คือการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง และวิสาหกิจชุมชน KKNB ถือเป็นผู้ประกอบการที่สร้างความเปลี่ยนแปลง มีการทำงานอย่างเป็นระบบ ใช้คนเพียง 5-7 คนเท่านั้น และที่สำคัญ คือการนำอัตลักษณ์ของจังหวัดไปเผยแพร่ผ่านผลิตภัณฑ์ให้คนทั้งประเทศได้รู้จัก
น.ส.ทิพวัลย์ เวชชการัณย์ ผู้จัดการ Ted Fund กล่าวว่า วิสาหกิจชุมชน KKNB มาขอรับทุนผ่านโครงการยุววิสาหกิจเริ่มต้น ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายคือนิสิต นักศึกษา และบัณฑิตจบใหม่ไม่เกิน 5 ปี เป็นทุนอุดหนุนสมทบบางส่วน เพื่อให้ผู้ประกอบการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบและนำไปพิสูจน์ความเป็นไปได้ทางการตลาด นอกจากนี้ Ted Fund ยังมีทุนอื่นๆ ที่พร้อมสนับสนุนผู้ประกอบการ อาทิ ทุนส่งเสริมการขยายตลาดและธุรกิจของผู้ประกอบการฯ ทุนพัฒนาภาคเอกชนเพื่อการยกระดับระบบนิเวศฯ เป็นต้น ผู้ประกอบการที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่ Line official : @tedfund Facebook : TED Fund อีเมล : [email protected] เว็บไซต์ : www.tedfund.mhesi.go.th และโทรศัพท์ : 02 333 3700 ต่อ 4075
ผศ.ดร.นุกูล อินทระสังขา ผอ.อุทยานวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม ม.ทักษิณ กล่าวว่า วิสาหกิจชุมชน KKNB เป็นผลผลิตของอุทยานวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม ม.ทักษิณ และเป็นวิสาหกิจที่ทำให้ชุมชนเกิดการเปลี่ยนแปลงผ่านเครื่องมือของกระทรวง อว. คือ Ted Fund จนได้ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่เป็น Change Maker และผลผลิตจากลุ่มวิสาหกิจชุมชน KKNB กำลังจะได้ขึ้นทะเบียน GI หรือสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ถือเป็นการเติบโตของผู้ประกอบการแบบสตาร์ทอัพอย่างแท้จริงในการช่วยสนับสนุนนวัตกรรมเชิงพื้นที่